|
เศรษฐกิจครึ่งปีหลังไร้แววกระเตื้อง แบงก์เล็งปรับลดประมาณอีกระลอก
ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิชาการประสานเสียงเศรษฐกิจไทยปี 50 ถึงจุดทรุด ส่งออก-บริโภคชะลอต่อเนื่อง แนะทางการเร่งลดอัตราดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจคาดทั้งปีดอกเบี้ยปรับลดลงอีก 2% เร่งจัดสรรทรัพยากรฟื้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจของไทย ปี2550-2551” ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในมุมมองของหน่วยงานต่างๆ และนัยยะต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2550 ยังมีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนีทางเศรษฐกิจยังได้ชี้ถึงการทรุดตัวของอุปสงค์ โดยที่เห็นได้ชัดคือการขยายตัวของสินเชื่อที่มีแนวโน้มหดตัว ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปีภาคเอกชนยังคงไม่สามารถสวมบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าก็มีแนวโน้มชะลอตัวหรือทรงๆอยู่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากต่างประเทศและทิศทางดอกเบี้ยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2550
“การส่งออกของไทยเปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจ ประเทศกลุ่ม G3 มากกว่า โดยจีนและอินเดียจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 2550 ขณะที่เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ทิศทางชะลอตัว โดยในครึ่งหลังของปีมองว่าการส่งออก การบริโภค และการใช้จ่ายภาคเอกชนก็จะชะลอตัวลง ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน” นายบันลือศักดิ์ กล่าว
สำหรับในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงทั้งภาค อสังหาริมทรัพย์ การส่งออกสินค้าคงทน โดยที่ผ่านมาภาคบริการเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจของสหรัฐฯไว้ อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ชะลอส่งผลให้แนวโน้มในครึ่งหลังของปีธนาคารกลางสหรัฐฯจะดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในไตรมาส 3หรือ4
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะมาจากการเมืองในประเทศที่มีความร้อนแรงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี ทั้งเรื่องของการยุบพรรคการเมือง รวมไปถึงความไม่สงบชายแดนใต้ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลายประการทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่นปัญหาในประเทศอิหร่าน
นายบันลือศักดิ์ กล่าวต่อถึงค่างเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในปัจจุบันเป็นผลจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก เพราะการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ โดยหากพิจารณาแล้วมองว่าค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าเกินไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทั้งปีมองว่าน่าจะปรับลดลงมาร้อยละ 2%จากช่วงต้นปีอยู่ที่ร้อยละ 5 ขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3-3.5 และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดถัดไปในวันที่ 11 เมษายน น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50
"การประชุมของ กนง.ครั้งนี้น่าจะมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงๆ ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่าในการประชุมนัดแรกของปีเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาน่าจะปรับลดลงไปที่ 0.5%เพื่อช่วยให้ต้นทุนที่สงขึ้นลดลงแล้วยังช่วยแก้ไขให้ดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย”นายบันลือศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามในกลางปีนี้ธนาคารจะมีการทบทวนการเติบโตของเศรษฐกิจอีกครั้งจากเดิมที่ประมาณการอัตราการเติบโตที่ 4-5%ก็จะมีการปรับลดลงอย่างแน่นอน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค และโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในการสัมมนาหัวข้อเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในมุมมองของหน่วยงานต่างๆ และนัยยะต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ว่าในมุมมองของกระทรวงการคลังนั้นมองว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้การจะพิจารณาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต้องพิจารณาจากประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย
สำหรับปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เชื่อว่าจะมีการปรับลดลงอย่างแน่นอน จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จะขยับลงมาที่ร้อยละ 3.75-4.25 ในสิ้นปีนี้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน นั้นขณะนี้แน่นอนว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ พบว่าค่าบาทมีการปรับตัวที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในปีนี้มองว่าคาเงินบาทน่าจะปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในปีนี้ภาคนโยบายการเงินการคลังต้องช่วยเหลือกัน โดยปัญหาที่สำคัญขณะนี้อยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากร และการกระจายรายได้ ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะพยายามทำสิ่งดังกล่าวอยู่แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
ขณะที่นายราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์ คณะบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในการสัมมนาหัวข้อเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในมุมมองของหน่วยงานต่างๆ และนัยยะต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ว่าในมุมมองสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ชะลอลง โดยในปีนี้ได้ประมาณการว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวที่ร้อย 4.57 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.7 การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.2 การนำเข้าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.5 การลงทุนภาคเอกชนขยาตัวร้อยละ 3.1 การใช้จ่ายภาครัฐลาบขยายตัวร้อยละ 4.4 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.2 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 1.9 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 36.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ร้อยละ 7.5
พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะการทำงานของธปท.ว่าควรจะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีอิสระเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีอุปสรรคทางการเมือง การเรียกร้องจากประชาชนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกฎหมายไทยยังไม่เปิดทางให้ ธปท.ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระได้เต็มที่ ดังนั้นธปท.ควรจะต้องมีการดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระเพื่อช่วยวิพากษ์วิจารณ์ความถูกต้องและช่วยเหลือหน่วยงานที่สำคัญต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|