"สิทธิชัย"ยันแก้สัญญามือถือ ไม่พึ่งขั้นตอนศาลยึดสัมปทาน


ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“สิทธิชัย” ชี้การให้กฤษฎีกาวินิจฉัยสัญญาสัมปทานเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ กรณีผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานฯ ปี 2535 ไม่มีเจตนาฉีกสัญญาสัมปทานทิ้ง เพียงแต่ต้องการให้เอกชนอยู่ในแถวแก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง หลังรัฐเสียหายเป็นเวลานาน ส่วนกรณีการประปาระยอง กับคิงเพาเวอร์เป็นเพราะเข้าสู่กระบวนการศาลปกครอง ทำให้ต้องเลิกสัญญา

จากกรณีคำพิพากษาศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2550 ที่เพิกถอนกระบวนการคัดเลือกเอกชนให้ผลิตน้ำประปา เพื่อขายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ของสำนักงานประปาระยอง จังหวัดระยอง หลังพบเจตนาไม่ปฏิบัติตามพรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 รวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิของบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดเป็นโมฆะจนคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ต้องถือปฎิบัติก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนให้เห็นว่าสัญญาหรือสัมปทานหลายโครงการไม่ได้ปฎิบัติตามกฎหมาย

โดยในส่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ได้ส่งสัญญาร่วมการงานที่ทำไว้กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟที่ทำให้รัฐเสียเปรียบอย่างมากให้คณะกรรมการกฏษฎีกาวินิจฉัยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขสัญญาในช่วงปี 2536 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ การต่ออายุสัญญาเพิ่มขึ้น และ การเปลี่ยนแปลงด้านบริการ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากครม.ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯที่ระบุไว้ว่าสัญญาสัมปทานที่เอกชนกระทำกับรัฐที่มูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท หรือ ไม่เกิน 1,000 ล้านบาทแต่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเทศนั้น จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. ด้วย

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้แต่สิ่งที่กระทรวงไอซีทีดำเนินการนั้นต้องการให้คณะกฤษฏีกาวินิจฉัยและชี้ช่องทางดำเนินการต่อไปเพื่อให้กระทรวงไอซีทีมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคมดำเนินการแก้ไข ให้ถูกต้อง แต่จะไม่มีการดำเนินการยึดสัญญาสัมปทานคืน

“เรื่องนี้ตนได้เข้าพบและหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี(พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรหลังจากฏฤษฎีกาวินิจฉัยออกมาซึ่งขณะนี้ยังให้รายละเอียดไม่ได้ แต่ทางออกท้ายสุด คือ ทุกฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรัฐไม่เกิดความเสียหาย”

ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา หลังจากที่ฝ่ายกฎหมายได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2550ซึ่งขณะนี้กฤษฎีกาได้ทำการไต่สวนข้อมูลไปมากแล้วในระดับหนึ่ง แต่จะเสร็จเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้แต่เชื่อว่าจะมีข้อสรุปได้ก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ส่วนการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมการงานจากผิดให้กลายเป็นถูกคงต้องปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาดำเนินการต่อไปแต่กระทรวงไอซีที จะทำข้อมูลแนวทางและขั้นตอนไว้รอรมว.ไอซีที และรัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้หากกฤษกีกาวินิจฉัยว่าสัญญาร่วมการงานดังกล่าวผิดกฏหมายในประเด็นไม่ปฏิบัติตามพรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ ปี 2535 กระทรวงไอซีทีจะนำเข้าที่ประชุมครม.พร้อมแนวทางแก้ไข แต่คงไม่ใช่การไปยึดสัญญาสัมปทาน เพราะจะเกิดผลกระทบตามาอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง และทางปกครองตามมาอีก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหายืดเยื้อ มีผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและส่งผลเสียกับการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

รมว.ไอซีที กล่าวอีกว่าเนื้อหารายละเอียดที่ไอซีทีส่งไปเยอะมาก และบางประเด็น ต้องดูข้อมูลเทียบเคียงด้านผลประโยชน์ และในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งกระทรวงไอซีทีได้ส่งสัญญาของเอไอเอสที่ทำกับทีโอทีในส่วนของการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมสิทธิในช่วงคลื่น GSM 900 (Digital GSM) ในปี 2537 และการขอแก้สัญญา การเปลี่ยนเรื่องการจัดส่งส่วนแบ่งรายได้จากบริการชำระเงินล่วงหน้า(พรีเพด)และเรื่องบัตรเติมเงิน

ส่วนสัญญา ดีแทค ที่ทำร่วมกับ กสท โทรคมนาคมมีเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมสิทธิ ในคลื่น PCN 1800 (Worldphone 1800) ในปี 2537ซึ่งดีแทคนั้นได้รับสิทธิคลื่นความถี่ จาก กสท ไปทั้งหมดช่องสัญญาณ ก่อนที่จะได้มีการตัดแบ่งคลื่นความถี่ ขายต่อให้กับกลุ่มไออีซี ก่อนโอนมาให้บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (WCS) ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท ทรูมูฟ โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่ 2540 และอีกส่วนได้แบ่งให้กับ ดิจิตอลโฟน (DPC) ของกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น ก่อนที่ชินคอร์ปจะซื้อกิจการโดยสัญญาฉบับนี้ได้เริ่มตั้งแต่ ปี 2540

อย่างไรก็ตามกรณีของการประปาและกรณีการยกเลิกสัญญา คิงเพาเวอร์ต่างจากสิ่งที่กระทรวงไอซีทีดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับ ทีโอที และ กสท เพราะกรณีการประปาสามารถยกเลิกสัญญาได้เพราะมีการนำส่งพิจารณาในชั้นศาล แต่สัญญาร่วมการงานของทีโอทีกับของกสท เป็นเพียงการให้กฤษฎีกาวินิจฉัยว่าผิดกฏหมายหรือไม่ ซึ่งหากผิดก็จะต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น

“การให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่เราไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ยื่นไปให้กฤษฎีกาก็เพื่อต้องการทำให้เรื่องมันเรียบร้อย เป็นไปตามกฎหมาย อะไรไม่ถูก ก็ทำให้ถูก ดีกว่าจะไปทำเรื่องให้ยืดเยื้อ แล้วมีผลกระทบกับหลายๆส่วนซึ่งการทำตรงนี้ต้องทำอย่างรอบคอบไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนหรือประเทศชาติ”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.