ชง "ฉลองภพ" ชี้ขาดบอนด์ธปท.


ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สศค.เตรียมเสนอ "ฉลองภพ" ชี้ขาดกรณีแบงก์ชาติขอวงเงินออกบอนด์อุ้มค่าเงิน 4 แสนล้านบาท "พรรณี" เสนอให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 3.75-4.25% ช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าแทนการขอออกบอนด์ล๊อตใหญ่ เผยภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ยังน่าห่วง การบริโภค-ลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงต่อเนื่อง นักค้าเงินเผยค่าเงินบาทวานนี้ทรงตัวหลังแบงก์ชาติซื้อดอลลาร์ ส่วนตลาดหุ้นซึมเหตุกังวล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการขอเพิ่มวงเงินออกพันธบัตร โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะต้องอนุมัติให้ในวงเงินตามที่ ธปท. ร้องขอมาได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งหากประเมินว่า ในกรณีที่มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จะมีเงินทุนไหลเข้ามากน้อยเพียงใด หากเงินทุนไหลเข้าน้อย ความจำเป็นที่ต้องใช้วงเงินสูงก็จะลดลง ทั้งนี้ ยืนยันว่า การขอเพิ่มวงเงินออกพันธบัตรเป็นการขอตามปกติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

"ในทางปฏิบัติ เขามีเหตุผลที่จะขอ โดยทุกครั้งกระทรวงการคลังก็ให้ ซึ่งการขอเยอะๆ ก็เคยมี ถือเป็นเรื่องปกติ แต่กระทรวงการคลังก็คงมีข้อเสนอแนะแนบไปด้วย ทั้งนี้ แบงก์ชาติแจ้งมาว่า สิ่งที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ใช้ได้แค่ถึงสิ้นไตรมาสนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าที่ขอใหม่จะใช้ได้ถึงเมื่อใด ซึ่งเป็นการขอวงเงินเป็นเพดานเอาไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เต็มวงเงินก็ได้ โดย ธปท. มีหน้าที่ต้องดูแลว่า จะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำ ตรงนั้นขึ้นอยู่กับเขา" นางพรรณี กล่าวและว่า สศค.จะเสนอให้นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาว่า ธปท.ได้ขอให้กระทรวงการคลังอนุมัติวงเงินการออกพันธบัตรครั้งนี้สูงถึง 4 แสนล้านบาท

นางพรรณีกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยให้การลงทุน และการบริโภคขยายตัวได้ดีขึ้น โดยประเมินว่าหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 3.75-4.25% จะช่วยจูงใจให้เกิดการลงทุนได้มาก เนื่องจากขณะนี้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในหลายๆ ด้าน

"ระดับอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจจะอยู่ในช่วง 3.75-4.25% ส่วนมาตรการอื่นที่จะเข้ามาช่วยในระยะสั้น-กลางตอนนี้คงไม่มี คงมีแค่เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น เพราะปีนี้ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องการเบิกจ่ายภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ" นางพรรณีกล่าว

อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่าการบริโภคและการลงทุนจะชะลอต่ำสุดในไตรมาสนี้ เพราะล่าสุดในเดือน ก.พ.การลงทุนและการบริโภคชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากความไม่แน่นอนจากมาตรการของทางการ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะปัจจัยอัตราดอกเบี้ย แม้ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว 0.25% ก็ตาม แต่ตลาดคาดไว้ว่าจะลด 0.5% ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงแค่ 0.25% จึงยังไม่จูงใจให้ลงทุน

สศค.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะลดมากกว่าที่ทำไปในปัจจุบัน เพราะขณะนี้ตัวชี้เรื่องเงินเฟ้อก็ลดลงอย่างชัดเจน ดอกเบี้ยจึงควรลดลงถึงระดับที่จูงใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุน สศค.คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ทำงานได้

"การลงทุนช่วงนี้จึงเป็นการลงทุนเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้จีดีพีอาจไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 4-4.5% ตอนนี้ต้องพยายามมองหามาตรการช่วยเหลือ แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ การเร่งรัดการเบิกจ่าย" นางพรรณีกล่าวและว่าทั้งนี้ สิ้นปี 49 เงินเฟ้ออยู่ที่ 4.7% และ ณ เดือน ก.พ. อยู่ที่ 2.3% แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง

นางพรรณีกล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 4.6% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.9% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ขณะที่เครื่องชี้ด้านการลงทุนเอกชนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเห็นได้จากภาษีที่จัดเก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ -0.6% ต่อปีในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามมูลค่าการออกสิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนสะสมผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ปรับตัวดีขึ้นที่ 8.7% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบวกต่อการลงทุนในอนาคต

ด้านค่าเงินบาทวานนี้ นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยปิดตลาดภาคบ่ายอยู่ที่ 34.97/35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเช้าเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.98/35.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธปท.ยังเข้าซื้อดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ส่วนขณะที่ค่าเงินบาทในตลาด offshore อยู่ที่ 32.10/30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเช้าเคลื่อนไหวที่ 32.40/50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้นซึมหวั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (29 มี.ค.) ปรับตัวลดลงในช่วงเช้า แต่มีแรงซื้อของนักลงทุนเข้ามาเก็บหุ้นหลังจากปรับตัวลดลง ดันดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.58จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.39% ระหว่างวันดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 671.62จุด และต่ำสุดที่ระดับ 666.30 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5,583.52 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 331.52 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 211.09 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 542.61 ล้านบาท

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน)หรือ ASL เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่างตัวในกรอบแคบๆ ซึ่งนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อหุ้นในช่วงก่อนปิดตลาดหลังจากที่ดัชนีได้มีการปรับตัวลดลง จึงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นวันนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่มูลค่าการซื้อขายเบาบาง เนื่องจาก นักลงทุนมีการชะลอการลงทุน มีความกังวลในเรื่องทางการเมืองที่ รัฐบาลอาจจะมีการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯในวันนี้

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (30 มี.ค.) คาดว่าดัชนีฯ ยังทรงตัวและวอลุ่มการซื้อขายก็คงจะยังไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวันที่ปิดงวดบัญชีไตรมาส 1 ประกอบกับนักลงทุนรอดูความชัดเจนในเรื่องของสถานการณ์การเมืองในประเทศที่จะมีการนัดชุมนุม. และในเรื่องของการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินว่าจะทางรัฐบาลจะมีการออกมาตรการดังกล่าวหรือไม่โดยมองแนวรับอยู่ที่ 660 จุด แนวต้านอยู่ที่ 675 จุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.