เมื่อ Business Times เกิด


บทความจาก ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้. หนังสือเล่มโครงการ Manager Classic( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อผมมามองย้อนหลังดูเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้ข้อคิดบางประการที่น่าสังเกต และทำให้ผมคิดว่า บางครั้งบางอย่างในการทำงานมันก็ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เราวางไว้เช่น พร สิทธิอำนวย เป็นยอดนักบริหาร เพราะเขาเน้นในเรื่องการบริหารโดยใช้เป้าหมายเป็นหลัก เขาใช้การฝึกอบรมเป็นเครื่องมือ เขาเน้นการตลาด การเงิน และการจัดการ แต่การตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นมาสักฉบับหนึ่ง กลับใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ แทนที่เราจะใช้ Research ดูว่า โครงการนี้น่าจะออกมาในรูปไหน? แต่เรากลับคุยกันแค่ 3 คนเท่านั้น แล้วเราก็บอกว่าทำได้

และแล้ว Business Times ก็เป็นรูปร่างขึ้นมาโดยที่แต่ละคนก็ยังไม่รู้ว่ามันจะออกมาในรูปไหน และอย่างไร? ในการทำโครงการนั้นผมบอกพรไปว่า เราจะทำ Business Times ให้เกิดขึ้นภายใน 2 ปี หรือภายในวงเงิน 20 ล้านบาท ถ้าถึงเวลานั้นแล้วยังไม่มีอนาคตหรือมองไม่เห็นแสงสว่างก็ควรจะหยุด ผมจำได้ว่าผมบอกไปว่า "Let's spend 20 million in 2 years and see how it goes instead of spending 20 million in 5 years and the result is the same we'll save 3 years. "

ผมเชื่อว่าเวลาที่เราประหยัดไป 3 ปีนั้นทำให้เราสามารถจะทำอย่างอื่นขึ้นมาแก้ไขได้ ถ้าภายใน 2 ปี และเงินอีก 20 ล้านบาทแล้ว Business Times ก็ยังไปไม่ได้

ปัญหาใหญ่ที่สุดของการเริ่ม Business Times ช่วงนั้นไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องหาคนมาทำ ในขณะนั้นค่ายหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมีอยู่ 2 ค่าย คือค่ายของ Allied Newspaper ซึ่งมีบางกอกโพสต์กับค่าย Nation

ตัวบุคคลที่ทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษนั้นแทบจะนับตัวกันได้ในเมืองไทย เพราะเรามีกันอยู่ไม่เกิน 2-3 คน ที่เราสามารถจะมองเห็นว่าพอจะมาเป็นบรรณาธิการได้

แต่ก่อนอื่นเราต้องการบรรดานักข่าวเข้ามาเสียก่อน

เราวางโครงสร้างว่านักข่าวจะต้องเป็นงานและจะต้องเขียนภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร ที่สามารถจะให้ Rewriter ไม่ต้องนั่งปวดหัวกับภาษาให้มากนัก

ผมโชคดีที่ได้ไพศาล ศรีจรัสจรรยา ซึ่งเคยเป็นบรรณาธิการข่าวบางกอกโพสต์ แต่ออกมาพักหนึ่งแล้วเข้ามาเป็นบรรณาธิการข่าว นอกจากนั้นเรายังดึงตัว John Leicester ซึ่งเป็นบรรณาธิการฉบับพิเศษของโพสต์เข้ามาร่วมด้วย ส่วนนักข่าวอื่นๆ นั้นเราใช้วิธีเปิดรับสมัครเอา

พร สิทธิอำนวย ต้องการให้นักข่าวของ Business Times มีการฝึกฝนที่ดีก็เลยส่งนักข่าวเหล่านี้ไปฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ Business days ในฟิลิปปินส์ที่เมือง Quezon City โดยการแนะนำของ Gil Santos อดีตหัวหน้าสำนักข่าว AP ในประเทศไทยยุคหนึ่งและเป็นเพื่อนสนิทของพรด้วย

ส่วนผมถูกมอบหมายให้สรรหาคนที่จะมาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ Gil Santos แนะนำคนให้ผม 2-3 คน

ผมมองคน 2-3 คนนั้นรวมทั้งคนในเมืองไทยด้วย แต่มองไม่เห็นว่าจะดึงคนในระดับบรรณาธิการบริหารมาได้ เพราะคงไม่มีใครมา

พรให้เป็นนโยบายมาว่า เขาต้องการลักษณะข่าวของ Business Times ที่แตกต่างไปจากลักษณะข่าวของ Post และ Nation คือให้มีความน่าอ่านและภาษาต้องเป็นภาษาที่ฝรั่งเขียนไม่ใช่ภาษาที่แปลมาจากภาษาไทยให้เป็นภาษาฝรั่ง

ในที่สุดผมตัดสินใจเลือก Dan Coggin จากการพิจารณาดูข้อเขียนของเขาเปรียบเทียบกับคนหลายๆ คน Dan เป็นอดีตนักข่าวนิตยสาร Times ในฮ่องกง และเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสารธุรกิจรายเดือนที่ชื่อ Insight ในฮ่องกง

Dan อายุ 40 กว่าแล้วเป็นคนอเมริกัน อดีตเคยเป็นนาวิกโยธิน ลักษณะทั้งหมดเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ที่สามารถจะทำงานกันได้ด้วยเหตุผลและอายุที่เลย 40 แล้วพอจะเชื่อได้ว่าคงไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่นที่ไม่ยอมจะประนีประนอมส่วน Background ที่เคยเป็นนาวิกโยธินมาก่อนก็คงจะทำให้สบายใจได ้ในเรื่องการรายงานข่าวที่จะไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแนวร่วมของเขมรหรือเวียดนาม เพราะการทำหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยนั้น ต้องระวังในเรื่องนี้อย่างที่สุด

ผมไปเซ็นสัญญากับ Dan Coggin ที่ฮ่องกง โดยให้เงินเดือนเขา 30,000 บาท พร้อมบ้านเช่าและรถยนต์ประจำตำแหน่งหนึ่งคัน

นอกจาก Dan แล้วก็ยังมี Tim Atkinson นักหนังสือพิมพ์ชาว Australia ที่เคยอยู่ Nation แล้วลาออกไปอยู่ฮ่องกง เข้ามาร่วมทีมด้วย โดย Tim ทำหน้าที่เป็น Chief sub-editor

ในระยะแรกของการเตรียมงานนั้นทุกคนตื่นเต้นกันหมด เพราะทุกคนรู้ว่าหนังสือพิมพ์นี้มี PSA เป็นเจ้าของและ PSA ในเวลานั้นกำลังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

หลายคนที่ลาออกจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และมาอยู่ Business Times เพราะเชื่อว่า PSA ทำหนังสือพิมพ์จริงไม่ได้ทำเล่นๆ

"ผมอยู่ Post มาสิบกว่าปี การที่ผมตัดสินใจออกมานี้ผมต้องคิดหนักมาก เพราะที่ใหม่ต้องมั่นคงพอดู ผมถึงจะลาออก และผมเห็นว่า PSA เป็นองค์กรธุรกิจที่มีหลักฐานจริง " ราฟ บาโช นักหนังสือพิมพ์ชาวพม่าคนหนึ่งเล่าถึงการตัดสินใจมาอยู่ Business Times ของเขาให้ผมฟัง

ในที่ประชุมของ staff พรเองเมื่อถูกถามถึงความตั้งใจในการทำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เขาก็บอกว่า เขาพร้อมจะสนับสนุนหนังสือพิมพ์เล่มนี้ไปให้ถึงที่สุด

การทำหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีแท่นพิมพ์เป็นของตัวเอง และยังเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษด้วยนั้นจำเป็นจะต้องมีการเตรียมงานกันและวางแผนให้ลงตัวมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผมจำได้ว่าในระยะ 30 วันแรกที่หนังสือออกทั้งผมและพร สิทธิอำนวย แทบจะไม่ได้กินไม่ได้นอนคลุกกันอยู่ในกองบรรณาธิการเพื่อเข็นหนังสือพิมพ์ ให้ออกกันตรงเวลา

เมื่อมองย้อนกลับไปถึง Business Times ในช่วงนั้นก็พอจะเห็นข้อผิดพลาดหลายประการในการทำงานซึ่งพอจะเอามาเล่าสู่กันฟังได้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการทำงาน

ข้อผิดพลาดข้อแรกคือ ความขัดแย้งในกลุ่มผู้ทำงาน

พร มีเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์เก่าอยู่ 2-3 คน และเขาก็จ้างเข้ามาทำงานด้วยก็มี Gil Santos และ Toni Esgoda ทั้งคู่เข้ามาในลักษณะของเพื่อนพร และก็พาคนฟิลิปปินส์เข้ามาอีก 2-3 คนจากฟิลิปปินส์เพื่อมาทำงาน ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์กับฝรั่งก็เลยเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมันและในการแก้ปัญหานี้ ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องเพื่อนของพร ที่พรต้องการจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ามีการแก้ปัญหาโดยเด็ดขาดแล้ว ปัญหาความขัดแย้งก็จะไม่ลุกลามไปจนกระทั่งทำให้การทำงานไม่มีเอกภาพถ้าจะให้ผมเลือกตอนนั้น ผมก็คงจะเลือกฝรั่ง เพราะมีลักษณะไม่คิดเล็กคิดน้อยและต้องการจะทำงานจริง เพราะกลุ่มฟิลิปปินโนในขณะนั้นดูเหมือนว่าจะมีลักษณะของการมาพักผ่อนชั่วคราวในเมืองไทยเท่านั้นเอง

ข้อผิดพลาดประการที่สองคือ Positioning ของหนังสือพิมพ์

Business Times เกิดขึ้นมาเพราะเราคิดว่าข่าวสารทางธุรกิจนั้นยังขาดอีกมากและไม่มีสื่อที่จะเข้ามารองรับข่าวประเภทนี้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อทำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไปแล้ว ความเห็นต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาจากหลายฝ่ายมีทั้งที่แนะนำให้มีข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวกีฬา ข่าวศิลปะ ฯลฯ ในที่สุด Business Times แทนที่จะมี selected target group และ clear cut positioning ก็กลายเป็น Banglok Post ไปอีกฉบับหนึ่ง แทนที่เราจะยืนหยัด Uniqueness ของเราให้เห็นเด่นชัดว่าเราเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจภาษาอังกฤษฉบับเดียว เรากลับไปทำ me too product ขึ้นมา จริงอยู่ถึงจะมีคุณภาพสูงแต่การจะชักชวนให้คนที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมาเป็นเวลา 10 ปีให้หันมาอ่านฉบับใหม่นั้นไม่ใช่ง่าย นอกจากฉบับใหม่นั้นจะมีอะไรที่แตกต่างกว่าฉบับเก่า และเขาเห็นว่ามีประโยชน์กับเขา

อีกประการหนึ่ง การที่เรามีทั้งฉบับบ่ายฉบับเช้าและมีฉบับที่สอดแทรกเป็นพิเศษในวันอังคารและพฤหัสทำให้ผู้อ่านสับสนและหาเอกลักษณ์ของ Business Times ได้ยาก

ข้อผิดพลาดประการที่สามคือ ความขัดแย้งในองค์กร

Business Times เกิดขึ้นมาโดยความต้องการของพร สิทธิอำนวย คนส่วนใหญ่ใน PSA จะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะไม่มีความเห็นอะไร อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เห็นด้วยและคัดค้าน

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านก็คือ ฝ่ายของสุธี นพคุณ

สุธีให้เหตุผลว่า PSA ไม่ควรทำหนังสือพิมพ์เพราะการทำหนังสือพิมพ์เท่ากับเป็นการสร้างศัตรูซึ่งไม่เหมาะกับ PSA

จากการที่มีความขัดแย้งเช่นนี้ก็ทำให้ฝ่ายหนึ่งของ PSA คอยแช่งชักหักกระดูกให้ Business Times ล้มลงไปถึงกับเอาไปพูดกับคนนอกองค์กรว่า Business Times ต้องพังแน่ๆ

จากการที่มีความขัดแย้งเช่นนี้ก็เลยทำให้การทำงานของผมยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพราะนอกจากผมจะต้องไปรบกับคนข้างนอกแล้วยังจะต้องคอยรบกับคนข้างในอีก และศึกภายในกลับดูจะหนักกว่าศึกภายนอกหลายเท่า

เมื่อมองย้อนหลังก็จะเห็นว่าการที่องค์กรหนึ่งจะทำอะไรขึ้นมานั้น น่าจะเป็นการตัดสินใจทำโดยได้รับการปรึกษาหารือจากทุกฝ่าย ก่อนถึงแม้ว่าคนต้องการจะทำคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในองค์กร แต่ถ้าคนอื่นในองค์กรไม่ให้ความร่วมมือแล้วก็ย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง

ข้อผิดพลาดประการที่สี่คือ ความไม่พร้อมในเรื่องของการสนับสนุนโครงการ ในการทำ Business Times นั้นก็เหมือนการทำโครงการต่างๆ ในยุค PSA ช่วงแรกๆ ที่ไม่ได้มีการเตรียมงบประมาณเอาไว้แต่จะเป็นการกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนในเครือ ส่วนใหญ่ก็จะไปเอาที่บริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์

ฉะนั้นเมื่อโครงการจะต้องขาดทุนอยู่เรื่อยๆ ทุกเดือน ผู้ที่ต้องเป็นฝ่ายหาเงินทุนเช่นบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ ก็เริ่มร้อนตัวและไม่อยากให้เงินกู้ยืมอีกต่อไป

ประกอบกับโครงการนี้มีผู้ต่อต้านอยู่แล้วก็พลอยทำให้ พร สิทธิอำนวย เองเริ่มจะลังเลใจและก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Business Times ต้องล้มเลิกไปในภายหลัง

ผมได้มีโอกาสหยิบตัวเลขการขาดทุนออกมานั่งดูเมื่อเร็วๆ นี้ พอจะสรุปได้ว่าเรามียอดการขาดทุนใน 10 เดือนตั้งแต่หนังสือออกเป็นเงินประมาณเกือบ 12 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายก่อนดำเนินการประมาณ 1.5 ล้านบาท ที่เหลือเป็นยอดขาดทุนประมาณ 10.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตกเดือนละ 1 ล้านบาท สำหรับรายได้นั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน จากเดือนละ 2 แสนบาทใน 2-3 เดือนหลัง ปัญหาก็อยู่ที่ว่า จะเพิ่มรายได้อย่างไร และลดรายจ่ายอย่างไร เพื่อให้ break-even ได้ แต่การตัดค่าใช้จ่ายในขณะที่โครงการเพิ่งจะเริ่มไปได้ไม่ถึง 1 ปี นั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าให้นักบัญชีดูก็จะง่าย เพราะสามารถจะตัดโน่นตัดนี่ได้ตามตัวเลขที่ตัวเองนั่งมองอยู่ แต่เผอิญการผลิตหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องของกำลังใจ และจิตวิทยา เพราะทุกคนเชื่ออย่างหนักแน่นว่า พร สิทธิอำนวย จะหนุนหนังสือพิมพ์ ฉบับนี้อย่างเต็มที่ และทุกคนก็เชื่อว่าเป็นคำพูดที่หนักแน่นและเชื่อได้

อีกประการหนึ่งมีคนอยู่หลายคนที่ตัดสินใจลาออกจากหนังสือพิมพ์ เช่น บางกอกโพสต์ที่เขาอยู่มาสิบกว่าปี เพราะเขาเชื่อว่าโครงการนี้จะถูกหนุนอย่างจริงจัง เช่น นายแอนตัน เปอเรร่า นักข่าวกีฬาลายครามของบางกอกโพสต์ ที่เป็นเพื่อนสนิทของพร และพรดึงตัวมาทำงานด้วย และเขาก็มาเพราะความเชื่อมั่น! ใช่แล้ว! ความเชื่อมั่นคำนี้แหละที่ทำให้คนหลายคนสร้างประวัติศาสตร์มาแล้ว แต่ในมุมกลับ ถ้าความเชื่อมั่นนี้ถูกทำลายลงไปหรือเพียงแต่ถูกสั่นคลอนเท่านั้น ความฮึกเหิมหรือกำลังใจในการต่อสู้ก็จะหมดไป

และกรณีนี้ก็เช่นกัน!

หนังสือพิมพ์เป็นสินค้าประเภทหนึ่งแต่ก็ต่างกว่ายาสีฟันตรงที่ว่า หนังสือพิมพ์มีชีวิตจิตใจ ในขณะที่ยาสีฟันมีองค์ประกอบของเนื้อยาที่เป็นสารเคมี แต่หนังสือพิมพ์มีตัวหนังสือที่ถูกกลั่นกรองมาจากวิญญาณของคนทำ ถ้าวิญญาณของคนทำขาดความมั่นใจ และความเชื่อมั่นแล้วตัวหนังสือบนหนังสือพิมพ์มันก็ไม่ได้ต่างไปกว่าหมึกเปื้อนกระดาษ

เราได้มีการคุยกันและประชุมกันหลายครั้งในเรื่องการตัดค่าใช้จ่าย

พรต้องการจะตัดทันทีโดยลดค่าใช้จ่ายประมาณ 20% Across the Board และต้องทำทันที แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าควรจะทำทันที ผมคิดว่าในเมื่อเรามีงบประมาณการทำงานตั้งไว้ 20 ล้านบาท และใช้ไปครึ่งหนึ่ง โดยเวลาการใช้เร็วกว่ากำหนด 2 เดือน เราก็ยังพอจะมีเวลาในการทำงาน อย่างน้อยการที่รายได้เพิ่มมากขึ้นนั้นก็เป็นสัญญาณให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว

ผมเห็นด้วยว่าเราน่าจะตัดค่าใช้จ่ายได้ แต่ต้องไม่ใช่ทันที เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและข่าวลือจะลือกันไป ทำให้เสียหายมากกว่านี้

ผมเสนอว่าการตัดค่าใช้จ่ายควรจะทำเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มจากส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ แล้วค่อยๆ ขยายไปถึงกองบรรณาธิการโดยลดคนต่างชาติโดยเฉพาะทางฝ่ายฟิลิปปินส์ก่อน แต่บรรดานักบัญชีและฝ่าย corporate office บอกพรว่า ต้องทำทันที

ปัญหาของ Business Times ในขณะนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เลวร้ายว่าเป็นสินค้าที่ขายไม่ได้เลยหรือเป็นปัญหาของการทำงานที่ผิดโปรเจ็กชั่น หากแต่เป็นปัญหาของการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ผมคิดว่ากรณีนั้นก็เป็นกรณีทั่วๆ ไปของการบริหารงานธุรกิจ ที่เราต้องใช้องค์ประกอบหลายๆ ด้านเข้ามาพิจารณา ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป

ในชีวิตการทำงาน ผมอาจจะทำงานผิดพลาดมามาก เพราะประสบการณ์น้อย แต่อย่างน้อยที่สุดจนทุกวันนี้ ผมก็ยังคิดว่าหลักการของผมในเรื่องที่พูดมาข้างต้นนั้นไม่ผิด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจนทุกวันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า ผมไม่ผิด
หมายเหตุ จากนิตยสารผู้จัดการฉบับที่ 12 เดือนสิงหาคม 2527



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.