ในช่วงจังหวะที่ผมเข้ามา PSA (กลางปี 2519) นั้น เป็นช่วงของการขยายงานของ
PSA จริงๆ ในขณะนั้น PSA มีธุรกิจหลักจริงๆ ก็คือ สยามเครดิต ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกอื้อจือเหลียง
นอกจากนั้นก็มีเทรดดิ้งคัมปะนี ชื่อ แอ็ดวานซ์โปรดักส์ ซึ่งในเวลานั้นก็เป็นตัวแทนเอเย่นต์สินค้าอยู่หลายตัว
เช่น เครื่องคิดเลขโนวัส (Novus) ฯลฯ ยังมีพัฒนาเงินทุนซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ตึกกรุงเทพสหกล
ซึ่งอยู่แถวๆ ถนนสุขุมวิท และโรงแรมรามาทาวเวอร์ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าไฮแอทรามา
ปีนั้นเป็นปีที่พรดวงขึ้นมาก เพราะธุรกิจหลายอย่างก็ได้ถูกเสนอเข้าไปหาพร
อย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธแทบจะไม่ได้เลย
แต่ก่อนที่จะพูดต่อไปเราต้องทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์แวดล้อมในช่วงปีนั้นและ
2-3 ปี ก่อนหน้านั้นเสียก่อน
ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมาจนถึงปี 2519 เป็นภาวการณ์แห่งความสับสน และปัญหาของเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของการตัดสินใจในการลงทุนทางธุรกิจ
จริงอยู่ ถึงแม้เราจะมีรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริงแต่สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนแล้ว
มันกลับเป็นภาวการณ์ของความไม่แน่นอน เพราะในขณะนั้นใครๆ ก็พอจะดูออกว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
และอีกประการหนึ่งกระแสของการเรียกหาระบบสังคมนิยมนั้นรุนแรงมากจนเป็นที่หวั่นผวาของบรรดานายทุนเจ้าของกิจการทั้งหลาย
การพิพาททางแรงงานเกิดขึ้นทุกวันในปี 2516 มีการนัดหยุดงาน 501 ครั้ง จำนวนคนงานที่เกี่ยวข้องเกือบ
200,000 คน ในปี 2517 นัดหยุดงาน 357 ครั้ง คนเกี่ยวข้อง 100,000 กว่า และ
2518 มีการนัดหยุดงาน 241 ครั้ง
เพียงตัวเลขแค่นี้เราก็พอจะมองเห็นความคิดความอ่านของเจ้าของกิจการแล้วว่ามีความมั่นใจกับภาวะการลงทุนเท่าใด?
แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นเหตุให้พรกลัว เพราะพรเคยพูดกับผมว่า "การเริ่มต้นในภาวะที่เลวร้ายที่ทุกคนเริ่มถอนตัวนั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าทำเพราะตอนนี้เหตุการณ์คงจะไม่เลวลงมากไปกว่านี้อีกแล้ว
มันมีแต่จะดีขึ้นเรื่อยๆ "
จากการที่เป็นลูกหม้อของธนาคารกรุงเทพมาก่อนและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้หลักผู้ใหญ่เช่น
บุญชู โรจนเสถียร และจากที่ตัวเองมีชื่อเสียงโด่งดังมากในแง่ของการเป็นศาสดาเรื่องการบริหารซึ่งพรเองก็มักจะพูดอย่างมีความเชื่อมั่นสูงอยู่เสมอว่า
ถ้าได้บริหารงานอย่างถูกกฎเกณฑ์แล้วทุกอย่างก็จะต้องออกมาตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
พรจึงเป็นที่ใฝ่ฝันของนายธนาคารซึ่งต้องการจะโละบริษัทแย่ๆ ให้ พรมีความเชื่อมั่นจริงๆ
ในเรื่อง Management Science ว่าในเมืองไทยยังไม่มีคนทำแบบนั้นเป็นกิจจะลักษณะ
แต่พรก็ลืมนึกไปถึงปูนซิเมนต์ไทยซึ่งเขาทำแบบนั้นมานานพอสมควรแล้ว พรพูดกับผมว่า
"ถ้าคนจีนคนหนึ่งไม่มีการศึกษาแต่สามารถจะสร้างกิจการให้ใหญ่โตขึ้นมาได้
แล้วพวกเราที่มีการศึกษาขนาดนี้ทำไมจะทำไม่ได้เล่า "
ความจริงมันก็เป็นตรรกวิทยาที่เหมาะเจาะ เพียงแต่ว่า พรลืมนึกไปอย่างว่าสมัยคนจีนนั้นยังหนุ่มๆ
อยู่บนเวทีมวย มีคู่ชกอยู่ไม่กี่คู่ แต่สมัยนี้มีแต่คนขึ้นมาเปรียบมวยจนไม่มีที่ว่างจะยืน
จะอย่างไรก็ตามเถอะในสายตาของ Banker แล้วก็ต้องยอมรับว่าเขามองความล้มเหลวของกิจการอยู่ที่ผู้บริหาร
ฉะนั้นเมื่อใดที่มีกิจการซึ่งทำท่าจะไปไม่รอดและเมื่อพิจารณาดูแล้วเพียงแต่เปลี่ยนการบริหารเท่านั้นก็มีโอกาสจะไปได้
พรจึงอยู่ในสายตาของธนาคารกรุงเทพในขณะนั้น และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำไมอาณาจักรของพีเอสเอในช่วงนั้นถึงขยายเร็วเช่นนั้น?
ในบรรดาบริษัทที่พรได้มานั้น พรจะได้มาแบบแทบจะไม่ต้องเสียเงินเสียทองมากมายเลย
มิหนำซ้ำยังได้ Term ที่ดีๆ จากธนาคาร เช่นการมี Grace Period ของหนี้เก่าอย่างน้อยก็
1-2 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นก็ยังได้ Financial Package ที่เป็น Term Loan เพิ่มเติมขึ้นมาอีก
ทัวร์รอแยลก็คือกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
บางธุรกิจพรก็ได้มาแบบถูกยกให้ฟรีๆ เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เครดิตการพาณิชย์
จำกัด ซึ่งแต่ก่อนชื่อ CCC (Thailand) จำกัด ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการฉ้อโกงจนบริษัทขาดทุนไปหลายสิบล้านจน
Citi Bank ซึ่งถือหุ้นใหญ่ต้องเข้ามายกเครื่อง พอเริ่มดีขึ้น Citi Bank ก็ต้องการจะถอนตัวออกไปและต้องการหาคนที่มีชื่อเสียงมา
take over พร สิทธิอำนวย ก็เลยได้ CCC ไปแบบที่เรียกว่าไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งต่อมาหลังจากที่พรเข้ามาก็เพิ่มทุนเป็น
40 ล้านบาท และดึงสุรินทร์ ลิมปานนท์ จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธรรมดาที่กรุงเทพธนาทร
เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ และชวนยุทธ ชินสุภัคกุล จากเฟดเดอร์ มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ
บัญชา ภาณประภา ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายจากสยามกลการมาเป็นกรรมการบริหาร
ยุทธก็ดึงอนงค์ สุนทรเกียรติ ซึ่งเคยอยู่เฟดเดอร์มาคุมเรื่องการหาเงินฝาก
และ CCC จากปี 2519 ก็เริ่มเป็นแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่ม PSA
ผมเริ่มงานตอนนั้นในกลางปี 2519 โดยเข้าไปเป็นผู้จัดการฝ่าย Advance Publications
ของบริษัท Advance Products จำกัด โดยมีนิตยสาร Who's Who in Thailand ซึ่งเป็นของเก่าที่พรซื้อมาจากปีย์
มาลากุลฯ และก็มีนิตยสารยานยนต์ที่ผมดำเนินงาน
ในขณะนั้น Who's Who in Thailand เป็นเพียงหนังสือภาษาอังกฤษที่ไปสัมภาษณ์คนมีชื่อเสียงแล้วเอาขั้นตอนของการทำงานตลอดจนความสำเร็จที่เขามาตีแผ่ให้ผู้อ่านทราบ
สำหรับคนที่เด่นที่สุดในฉบับเดือนนั้นก็จะได้ขึ้นหน้าปกและมีรูป 4 สีอยู่ประมาณสี่หน้า
บรรณาธิการขณะนั้นคือ เอริต้า มาลากุลฯ ภรรยาของปีย์ มาลากุลฯ เธอเป็นอดีตลูกสาวทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย
Who's Who in Thailand ไม่มีกำไรเพราะทั้ง Direct และ Variable Cost สูงอยู่แล้ว
ยิ่งมาบวกค่าใช้จ่ายเงินเดือนของผมอีกก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้น ยานยนต์เป็นหนังสือที่มีกำไรมาตลอดแต่
margin ก็ยังไม่มากพอที่จะ cover ทุกอย่างได้
แต่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของผมคือ การสร้างสำนักพิมพ์ขึ้นมาให้มี Product
Lines หลายอัน ที่มากพอจะมี winner ขึ้นมา compensate การขาดทุนของตัวอื่น
สำหรับนักบริหารคนอื่นแล้วบางทีการปิดหนังสือที่ขาดทุนอาจจะเป็นทางออกที่ดีแต่บางครั้งเราจำเป็นต้อง
maintain สินค้าที่ขาดทุนบางตัวไว้เพื่อผลประโยชน์ทางด้านอื่นของ Corporate
Office
ในขณะนั้น Who's Who in Thailand เป็นเครื่องมือของ PSA เพราะพรบอกผมว่า
Who's Who สามารถจะ Promote คนที่ต้องการ Promote และเป็นพวกของเขาได้ซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดามากเหลือเกินในวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยหรือทั่วโลก
ที่เราจะเห็นอยู่เสมอๆ ว่าในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอาจจะยกยอคนคนหนึ่งจนลอยเลิศฟ้าเพียงเพราะว่าคนคนนั้นมีผลประโยชน์กับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น
ซึ่งคนนั้นอาจจะเป็นนายทุนหรือผู้มีพระคุณต่อนายทุนหรือหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอาจจะยึดมั่นในหลักความยุติธรรม
ความถูกต้อง แต่เบื้องหลังของคนทำงานหนังสือฉบับนั้นอาจจะมีตั้งแต่นักเลงม้าไปจนถึงเป็นเจ้าของบ่อนการพนันหรือเป็นพ่อค้าของเถื่อน
และนี่คือประเทศไทยที่อำนาจเงิน อิทธิพลบารมีอยู่เหนือความถูกต้อง!!
ความจริงแล้วก่อนผมจะมาร่วมกับพร ผมมีความคิดจะทำหนังสือผู้หญิงขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง
เพราะในขณะนั้นหนังสือผู้หญิงในท้องตลาดที่เห็นกันอยู่นั้น แทบจะหาไม่ได้เลยที่จะเข้าสู่กลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่
จะมีใกล้เคียงที่สุดคือ ลลนา เพียงเล่มเดียว แต่สำหรับผมในขณะนั้นกลับมองว่าจุดเด่นของลลนาอยู่ตรงที่ว่ามีเรื่องน่าอ่านและสนุกเท่านั้น
ผมต้องการหนังสือผู้หญิงเล่มหนึ่งที่แหวกตลาดออกมา เจาะกลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่ซึ่งในคำจำกัดความของผมคือผู้หญิงที่ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง
ไม่ยอมให้กรอบประเพณีมาล้อมตนเองจนเสียผู้เสียคน ต้องเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นอิสระกล้าพอที่จะเดินไปบอกสามีเธอว่า
"ที่รักเธอเลวมากฉันขอหย่า "
อีกประการหนึ่งถ้ามองในแง่ผลตอบแทนแล้ว ผมเชื่อว่าหนังสือผู้หญิงจะต้องให้ผลประโยชน์ดีมากในระยะยาว
เพราะผมมองที่ตลาดโฆษณาว่ามี Consumer Products มากและนับวันก็จะมากยิ่งขึ้นเพราะในสังคมที่ตลาดชนชั้นกลางกำลังจะเริ่มขยายตัวนั้น
Growth ของ Consumer Products จะโตเร็วมาก ฉะนั้นถ้ามองในแง่ Advertising
Market แล้วก็จะมี potential ดี
ผมเคยเห็นนิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่งชื่อ "ดิฉัน " ซึ่งเป็นของคุณณัฐินี วีรานุวัติ
ลูกสาวคุณหมอวีกิจ วีรานุวัติ แต่ในเวลานั้นได้หยุดทำแล้ว
ชื่อ "ดิฉัน " เป็นชื่อที่ผมคิดว่า position หนังสือใน concept ผมดีที่สุด
ผมได้พบคุณจิ๋มโดยเพื่อนคนหนึ่งชื่อวศินซึ่งเป็นญาติคุณจิ๋มได้นัดให้พบในคอฟฟี่ช็อปโรงแรมดุสิตธานีตอนเที่ยง
คุณจิ๋มมาพร้อมคุณประพันธ์ เหตระกูล ซึ่งขณะนั้นคุมหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์อยู่
คุณจิ๋มนับถือคุณประพันธ์เหมือนพี่ จึงพาคุณประพันธ์มาเป็นที่ปรึกษา
หลังจากคุณจิ๋มฟังว่าผมจะทำอะไรกับชื่อ "ดิฉัน " และจะออกมาในรูปไหน คุณจิ๋มก็ตกลงอนุญาตให้ทำ
เราก็ตกลงกันว่าเราจะให้ค่า Royalty Fee กับคุณจิ๋มเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งในฐานะอย่างคุณจิ๋มนั้นเงินแค่นั้นไม่มีความหมายอะไรหรอกเพียงแต่ว่ามันเป็นการแสดงน้ำใจจากเราเท่านั้น
หลังจากที่ผมเข้า PSA แล้วผมก็นึกถึงหนังสือผู้หญิงและคำว่า "ดิฉัน " ก็ติดตรึงอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเริ่มดำเนินการนิตยสาร "ดิฉัน " ขึ้นทันทีโดยมิได้เอาเรื่องเข้าปรึกษาใครทั้งสิ้น
ซึ่งที่ถูกต้องแล้วผมไม่ควรทำเช่นนั้นแต่ถ้าทำก็คงจะไม่ได้รับความเห็นชอบ
เพราะคนที่ผมต้องคุยด้วยคือพร และพรเองเมื่อรู้ว่า "ดิฉัน " ออกแล้วก็แสดงออกว่าไม่เห็นด้วย
แต่ทำอย่างไรได้เพราะไก่ได้ไข่ไปแล้ว! ในการ Develop "ดิฉัน " นั้นผมถือว่า
"ดิฉัน " เป็นสินค้าชิ้นหนึ่งซึ่งต้องใช้การ research
ผมได้ว่าจ้างสมศักดิ์ เจริญวิทย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าส่วนวิจัยของธนาคารกรุงเทพ
ให้ช่วยวิจัยว่าผู้หญิงเมืองไทยชอบอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาแบบใดบ้าง
ผลของการวิจัยออกมาตรงกันข้ามกับ concept ที่ผมตั้งไว้แทบหมดเลย
ผลของการวิจัยในช่วงนั้น (2519) แสดงว่านิตยสารผู้หญิงในความเห็นของผู้อ่านผู้หญิงจะออกมาในลักษณะ
"ขวัญเรือน " "สกุลไทย " และ "สตรีสาร "
งานวิจัยชิ้นนั้นเล่นเอาผมเป๋ไปพักหนึ่ง แต่ Gust Feeling ของผมมันบอกว่ามันต้องมีช่องว่างที่ใดที่หนึ่งแน่ๆ
เพียงแต่ผมยังหามันไม่เจอ
จนกระทั่ง ผมเห็นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกำลังจับหนังสือ Living ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษอยู่บนแผงหนังสือแถวๆ
สีลม แล้วคนหนึ่งในกลุ่มนั้นพูดออกมาว่า "แหมถ้ามีหนังสือผู้หญิงทำแบบ Living
แต่เป็นภาษาไทยทั้งหมดก็จะดีมากเลย เพราะเราอยากจะรู้เรื่องที่เราไม่เคยมีโอกาสได้รู้และในระดับเราคงไม่มีโอกาสไปสัมผัสแน่
" ใช่แล้ว! ผมหาเจอในที่สุด!
มันเป็นเรื่องของการขาย Hope ผมจะทำอย่างไรที่จะผลิตหนังสือที่มันมีลักษณะเปรี้ยว
เก๋ ทันสมัย ทั้งเนื้อเรื่อง รูปเล่ม และการเสนอที่ค่อนข้างจะท้าทายและ controversial
เพราะผู้หญิงถึงไม่เปรี้ยวแต่ในส่วนลึกของหัวใจแล้วเธออยากจะเปรี้ยวมาก
แต่เธอไม่กล้าทำ บางทีเธอเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่หล่อ บุคลิกดี แต่เธอก็ไม่กล้ามองเขาตรงๆ
แอบมองแต่ในใจแอบคิดอยู่ตลอดเวลา มันเป็น Subconscious ของผู้หญิงทุกคน
ทางออกของเธอก็อาจจะมาในรูปแบบอื่นเช่นคิดในใจ แล้วถ้ามีหนังสือแบบเปรี้ยวให้เธออ่านเป็นทางออกล่ะ!!
ถึงผมได้คำตอบแล้วแต่ผมก็ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะไม่มั่นใจว่าสามารถจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้หรือไม่?
เขาอาจจะคิดว่าผมบ้าก็ได้
ในที่สุดผมก็รู้ว่า Research ที่สมศักดิ์ทำมามันไม่ผิด Gust Feeling ผมก็ไม่ผิด
มันจะผิดก็ตรงที่ว่า คำถามใน Research มักจะได้คำตอบที่ค่อนข้างจะผิวเผินแต่ลึกลงไปในก้นบึ้งแล้วจะไม่ได้
เหมือนกับถ้าใครมาถามผมว่าผมเห็นผู้หญิงสวยๆ คนหนึ่งแล้วคิดอยากนอนด้วยไหม?
แน่นอนผมคงไม่บ้าพอที่จะตอบคนซึ่งผมไม่รู้จักว่าใช่ ผมอยากจะขยี้เธอเป็นชิ้นๆ
หรือฉีกเธอเหมือนฉีกทุเรียนทั้งๆ ที่ให้ตายซิ ผมคิดเช่นนั้นและผมก็เชื่อว่าผู้ชายทุกคนก็ต้องคิดเหมือนผมเช่นกัน
และผมก็ต้องการคนมาเป็นบรรณาธิการกับ Art Director เพราะสองคนนี้สำคัญมากที่สุดในสายตาของผม
ผมนึกถึง จันทรา ชัยนาม ทันที
จันทรา ชัยนาม ในปี 2519 เป็นนักหนังสือพิมพ์ตกงานคนหนึ่ง เธอเคยทำงานกับผมสมัยผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
เธอเคยเขียนคอลัมน์สังคมใช้ชื่อว่า "ขุนทอง " แล้ววันหนึ่งเธอก็ถูกผมสั่งให้หยุดเขียนแล้วเลิกคอลัมน์ซุบซิบไปเพราะเธอเกิดไปบอกผู้อ่านว่าวันเกิด
"ขุนทอง " วันไหนแล้วก็มีผู้คนหิ้วของขวัญมาให้เธอบนสำนักงานเป็นทิวแถว ซึ่งผมคิดว่าผิดจรรยาบรรณ
อีกประการหนึ่ง ผมเองไม่เคยพิศวาสกับข่าวซุบซิบที่ว่า ชาวบ้านในเรื่องที่บางครั้งก็ต้องเขียนเป็นวิทยานิพนธ์จึงจะรู้เรื่องแต่บรรดาคอลัมนิสต์ก็จะเอามาเขียนถากถางกันเพียง
2-3 บรรทัดแล้วก็ทำให้ผู้ถูกพูดถึง ถึงกับเสียผู้เสียคนไปเลย และข่าวสังคมประเภทซุบซิบก็มักจะได้มาต่อๆ
กันอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นความหนักแน่นจึงน้อย
ผมยังจำได้ จันทราโกรธผมมากที่ถูกย้ายมาคุมหน้าข่าวกรุงเทพ มหานคร แต่ผมคิดว่าสักวันหนึ่งเธอคงจะเข้าใจและถึงเธอจะเข้าใจแต่ก็ยังไม่หายโกรธก็ไม่เป็นไร
ขอให้เข้าใจก็แล้วกัน
ที่ผมเลือกจันทรา ชัยนาม เป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ดิฉัน " ยุคใหม่นั้น เพราะผมคิดว่าเธอเป็นลักษณะของผู้หญิง
ที่ดิฉันสามารถจะแสดงออกได้อย่างถูกต้อง
พูดง่ายๆ จันทราคือ "ดิฉัน " และ "ดิฉัน " คือจันทรา
และผมคิดว่าความสำเร็จของ "ดิฉัน " ในปัจจุบันก็ล้วนมาจากพื้นฐานที่จันทราปูไว้แต่ต้น
เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการสร้างอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งนั้นที่สำคัญที่สุดและที่ลำบากที่สุดคือการสร้างรากฐาน
สำหรับบรรณาธิการดิฉันคนต่อมาคือ พาณีพรรณ (จิวนันทประวัติ) ทิสาพงษ์ และคนปัจจุบันคือชุลิตา
อารีย์พิพัฒน์กุล นั้นก็เพียงแต่ตกแต่งบ้านให้น่ารักมากขึ้นบนเสาที่จันทราตอกและฐานที่เธอปูเอาไว้
ซึ่งบรรณาธิการทั้ง 3 คนที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นคนที่ผมเลือกเข้ามาบริหารนิตยสารดิฉันทั้งสิ้น
จันทรา ชัยนาม เป็นคนที่มีพรสวรรค์หลายด้าน
ในเรื่องฐานการศึกษาเธอจบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เคยเป็นนักเรียนทุน AFS ในสหรัฐฯ
มาแล้ว ภาษาอังกฤษเธอดีมาก
ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยเธอเป็นคนที่ซึ้งกับมันอยู่พอสมควร
โดยส่วนตัวจันทราจะดูเป็นคนเปรี้ยวแต่เธอเป็นคนที่มีความคิดของตัวเอง พูดง่ายๆ
สมมติถ้าเธอจะรักใครสักคนถ้าจะกินอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องแต่งงานกันเธอก็จะไม่แคร์
และคุณสมบัติที่สำคัญอันหนึ่งที่เธอมีคือความรับผิดชอบต่อสังคม จากการที่เธอเคยทำงานหนังสือพิมพ์ที่สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้เธอในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร
"ดิฉัน " สามารถจะใช้วิจารณญาณสอดแทรกหรือเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาลงในหนังสือได้บ้าง
เพราะเธอไม่ใช่บรรณาธิการประเภทที่มั่วอยู่แต่ในกลุ่มที่เรียกว่า High Society
ประเภทใต้ฝ่าเท้าไม่ติดเพดานดิน ประเภทที่ชอบร่อนไปตามห้องอาหารหรูๆ ในโรงแรมชั้นหนึ่ง
เพื่อให้คนรู้ว่าเธอคือบรรณาธิการหนังสือ ผู้หญิงที่มีชื่อ ฝีไม้ลายมือสำนวนในการเขียนหนังสือของเธอก็จัดอยู่ในขั้นน่าอ่านมาก
ผมลงโฆษณาประกาศหา Art Director คนหนึ่งและคนที่ผมต้องการนั้นจะต้องไม่เคยทำหนังสือมาก่อนเพราะไม่งั้นจะติดรูปแบบการทำหนังสือภาษาไทยที่ผมต้องการจะฉีกมันออกไปอยู่แล้ว
และจะต้องเป็นคนหนุ่มที่มีไฟในการทำงานเพราะคนหนุ่มเป็นคนต้องการผลงาน
ภานุ อิงคะวัต วันนั้นมาพบผมบนตึกเชลล์ชั้น 7 พร้อมกับหิ้ว Portfolio ห่อโตๆ
มา ภานุเพิ่งจะ 21 เท่านั้นจบ Commercial Art จากอังกฤษ งานของภานุส่วนใหญ่จะ
Artistic มากแต่ยังขาด Sense ของ Commercial Presentation
แต่ภานุมีไฟที่กำลังลุกโชน!
ผมเลือกภานุไม่ผิดเพราะในที่สุดผมก็พิสูจน์ได้ว่าภานุคือบ่อน้ำมันที่มีน้ำมันอยู่เต็มเหยียดเพียงแต่รอให้คนมาขุดเจาะให้พบเท่านั้น
ปัจจุบันภานุเป็นถึง Creative Director ของบริษัทดีทแฮล์มโฆษณาที่ลือลั่นในยุทธจักรโฆษณาทุกวันนี้
กองบรรณาธิการในช่วงแรกนั้นก็มีอยู่ 3-4 คน และเบื้องหลังของความสำเร็จใน
"ดิฉัน " นั้นอยู่ตรงที่ว่า ทุกคนที่ทำงานด้วยมีไฟกันทุกคนเพราะทุกคนอยากเห็น
"ดิฉัน " สำเร็จ ผมยังจำได้อย่างติดหูเลยว่าตอนแรกที่ "ดิฉัน " ออกมานั้นมีแต่คนออกความเห็นว่า
"หนังสือพวกผู้หญิงนี่ล้นตลาดแล้ว ออกมาทำไม? "
แต่ผมก็เชื่อว่าในตลาดทุกตลาดมันต้องมีช่องว่างของมันอยู่เสมอเพียงแต่ว่าเราจะเห็นช่องว่างเช่นนั้นหรือเปล่า
และผมก็พิสูจน์มาอีกในหลายปีต่อมาด้วยการออกนิตยสารรายเดือนชื่อ "ผู้หญิง
" จะเรียกว่า "ดิฉัน " คือหนังสือผู้หญิงฉบับแรกที่แหวกแนวการทำออกมาก็ได้
เพราะตอนหลังก็มี "แพรว " และ "เปรียว " ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากตรงที่สามารถจะหาช่องว่างจับกลุ่มผู้อ่านของตัวเองมาได้อย่างเด่นชัดพอสมควร
ในช่วงนั้นเราก็ตัดสินใจตั้งบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียขึ้นมาแทนแผนกแอ็ดวานซ์พับลิเคชั่นส์ของแอ็ดวานซ์โปรดักส์
โดยย้ายมาอยู่ที่ตึกอื้อจือเหลียง
ต้นปี 2520 คือจุดเริ่มต้นของการทำสำนักพิมพ์ที่ถ้าสำเร็จก็จะเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการไปอีกนานแสนนาน
แต่เราก็พลาดตั้งแต่บทแรกของการทำหนังสือพิมพ์เสียแล้ว
ข้อผิดพลาด คือว่าสำนักพิมพ์ในความหมายของมัน หรือในความหมายของธุรกิจทั่วไป
คือการระวังไม่ให้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสูงจนเกินไป เราไม่ได้คิดในเรื่องนี้
เพราะเราเป็น PSA ฉะนั้นเราต้องมาอย่างมีฟอร์ม เฉพาะค่าเช่าสำนักงานอย่างเดียวก็ร่วมแสนเข้าไปแล้วนี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกหลายอย่าง
และการที่เป็นบริษัทของ PSA เป็นการสร้างความหวังให้กับ Staff อย่างมหาศาล
แรงดลใจที่ทุกคนจะต้อง Fight for Survival นั้นแทบจะไม่มี เพราะทุกคนคิดว่า
PSA มีเงินและพร้อมที่จะ Back the project all the way. ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งในการทำแอ็ดวานซ์มีเดียในขณะนั้น
คือการขาดการวางแผนทางด้าน Financial Plan อย่างเด่นชัด
Advance Media ถูกตั้งขึ้นมาเหมือนกับว่าจะให้เป็นหนูตะเภา บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง
100,000 บาทเท่านั้นเอง
ทุกอย่างเป็นเงินกู้ยืมทั้งหมด มีเงินเบิกเกินบัญชีอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ
สาขาสุรวงศ์ 500,000 บาท โดยสุธี นพคุณ เป็นผู้ค้ำประกัน
Operating Fund ก็เอามาจาก CCC และ EDT โดยไปทำ PN ไว้ทุกครั้งที่ขาดเงินและก็
Roll over โดยจ่ายแต่ดอกเบี้ย
ซึ่งจากแหล่งเงินเช่น EDT และ CCC ซึ่งก็ต้องพึ่ง Public Fund และบริษัทหลายแห่งในเครือ
PSA ก็ต้องใช้เงินที่ EDT และ CCC ก็เลยทำให้การวางแผนจะทำอะไรให้เป็นกิจจะลักษณะของ
Advance Media ในระยะยาวต้องพับไป
อันนี้ก็ตำหนิพรไม่ได้เพราะปรัชญาการลงทุนของพรนั้น ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่าในช่วงแรกของ
PSA นั้น ธุรกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของ PSA นั้น ธุรกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของ
service oriented นั่นคือไม่มีการลงทุนแบบประเภทเครื่องจักรหรือโรงงานอุตสาหกรรม
เพราะพรให้เหตุผลว่า "มันง่ายต่อการถอนตัวถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น กับประเทศชาติเช่นเป็นคอมมิวนิสต์
" ฉะนั้นธุรกิจของ PSA ในช่วงแรกๆ จะเห็นได้ว่าเป็นธุรกิจที่ใช้ Marketing
เป็นหลัก
สินค้าจะไม่มีการผลิตด้วยตัวเอง ถ้าเป็นของตัวเองก็จะเป็นในลักษณะบริการเช่นธุรกิจท่องเที่ยวของทัวร์รอแยล
ส่วนโรงแรมรามานั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะถอนออกไปเมื่อไรก็ได้เสมอ
ในช่วงนั้นคนภายนอกพากันเกรงกลัว PSA กันอย่างหนักซึ่งถ้ารู้ถึงภายในและปรัชญาในการทำธุรกิจแล้ว
PSA กลับเป็นบริษัทที่กลวงที่สุดและก็เป็นความจริงเพราะในช่วงปี 2519-20
นั้นจากการขยายตัวอย่างหนัก PSA กำลังประสบปัญหา cash flow และมีทีท่าจะเข้าขั้นวิกฤติถ้าหากตลาด
หลักทรัพย์ไม่ได้เกิด boom ขึ้นมา ซึ่งช่วงนั้นผมจะพูดให้ฟังทีหลังอีกทีหนึ่งอย่างละเอียดถึงความโชคดีของ
PSA ในช่วงนั้น ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ PSA ขยายงานคือปัญหาของ
Line of Authority เมื่อก่อน PSA มีเพียงแค่พรแล้วก็สุธีเท่านั้น พอเริ่มขยายงานขึ้นมาก็เอาสุรินทร์
ลิมปานนท์ มาจากกรุงเทพธนาทร ยุทธ ชินสุภัคกุล มาจากเฟดเดอร์ รูดี้ อัลวิโซ
มาจากเอสวีจี ณ ถลาง ส่วนสุธีเองเอาชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และวัฒนา ลัมพะสาระ
เข้ามาบริหารอินเตอร์ไลฟ์ และบ้านและที่ดินไทย
คนที่พรเอาเข้ามาก็จะเข้ามาใน term และ condition หนึ่ง ส่วนคนของสุธีก็เข้ามาในเงื่อนไขของสุธี
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า Reporting Channel ก็จะไปในแนวของใครของมันและนี่ก็เป็นรอยร้าวแรกของ
PSA เพราะคนที่พรเอาเข้ามาจะไม่เห็นความสำคัญของสุธีในฐานะที่สุธีเป็นรองจากพร
อีกประการหนึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างบริหาร Profit Center ของตัวเองแล้วก็แทบจะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างอันนี้เพราะถ้าเป็นสายของพร
เวลาร้อนเงินก็จะไปเอาที่ CCC ซึ่งพรส่งสุรินทร์ ลิมปานนท์ ไปคุม ถ้าเป็นสายของสุธีก็จะไปเอาเงินที่
EDT ซึ่งสุธีคุมอยู่ตั้งแต่ต้น
สำหรัับ Advance Media นั้นกลับเป็นข้อยกเว้นเพราะสามารถเอาเงินทั้ง EDT
และ CCC ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าผมเข้ามาเพราะสุธีสนใจแล้วส่งมาให้พรคุยเพิ่มเติม
แต่ภายหลังที่ได้เริ่มงานแล้วผมจะ involve กับพรมากกว่าเพราะว่าในเรื่อง
publishing นั้น พรมี Idea มากกว่า และอีกประการหนึ่งพรเองก็ชอบทางด้านนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว
จึงเข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่แทบจะทุกขั้นตอน ส่วนสุธีนั้นไม่ค่อยจะเข้ามานอกจากจะถามว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า?
ความจริง business concept ที่เราวางเอาไว้ ในลักษณะเป็น vertical line
นั้นก็ถูกต้องจะผิดก็ตรงที่ว่าเราทำเร็วเกินไป ขยายงานเร็วเกินไปแทนที่จะค่อยๆ
ทำไปทีละขั้นตอน!
business concept ที่เราวางเอาไว้นั้นเราต้องการจะเป็นโรงงานทาง editorial
และจะมี Production House (โรงพิมพ์-การผลิต เช่น Compugraphic และ Plate)
Marketing (โฆษณาและจัดจำหน่าย) แนวทางที่ผมวางเอาไว้ เราจะมี :-
1. Who's Who in Thailand ซึ่งถึงแม้จะขาดทุนแต่จากการที่เรามี staff ที่ชำนาญการผลิตนิตยสารทางภาษาอังกฤษเราก็สามารถที่จะ
Branch out ไปในทาง Special Publications เช่น Who's Who in Finance &
Banking ซึ่งฉบับนี้ทำปีละครั้งและกำไรประมาณ 4-5 แสนบาทจากโฆษณา ประกอบกับการทำ
Special Project ในหลายด้านก็พอจะทำให้แผนก Who's Who in Thailand ไม่ต้องขาดทุนตลอดไป
2. ในภาคภาษาไทยนั้น เรามีนิตยสารยานยนต์ที่ซึ่งมีกำไรอยู่แล้ว ถ้ายังไม่คิด
Variable Costs การสร้าง "ดิฉัน " ขึ้นมานั้นเป็นการสร้าง long term financial
source ขึ้นมาเพราะ "ดิฉัน " นั้นจะใช้เวลา develop เพียง 2-3 ปีเป็นอย่างสูงก็สามารถจะทำกำไรให้อย่างน้อยก็เดือนละ
4-5 แสนบาทพอที่จะมี reserve ที่จะมา develop new products ต่อไป
3. สำหรับ pocket book นั้นเรามองไว้แต่แรกว่าการจัดทำทั้งการเลือกเรื่องรวมถึงการจัดรูปเล่มในตลาดนั้นยังไม่
professional พอ ระบบการซื้อเรื่องในท้องตลาดนั้น ไม่ได้ให้ความมั่นใจกับผู้เขียนเท่าไร
เพราะราคามักจะออกมาจากเจ้าของสำนักพิมพ์ตามแต่อารมณ์ผู้เป็นเจ้าของแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง
2,000-5,000 บาท
ถ้าเราสามารถจะจัดระบบการจ่ายค่าเรื่องให้ได้มาตรฐานและเลือกเรื่องที่สามารถมี
varieties ได้มากพอสมควรให้มีอยู่ในแขนงของ special interest ได้บ้าง รวมทั้งมีเงินทุนก้อนหนึ่งที่สามารถจะซื้อตุนเรื่องรวมทั้ง
advance ให้นักเขียนไปค้นคว้าเขียนเรื่องที่เราต้องการโดยที่เขาไม่ต้องกังวลกับการต้องปั่นต้นฉบับที่ไม่มีคุณภาพเพื่อเอามาขายยังชีพแล้ว
เราก็จะอยู่ใน position ที่ทำให้ผู้อ่านเมื่อนึกถึง pocket book แล้วก็จะนึกถึงเรา
และถ้าเรามีทุนพอจะดำเนินการได้สัก 2-3 ปี return ทางด้านนี้ในที่สุดก็จะมี
consistent พอสมควรเมื่อเราเฉลี่ยเล่มที่ขายไม่ดีกับเล่มที่ขายดีออกมาแล้ว
ถ้าจะมี loss ก็จะน้อยมาก pocket books เป็นเรื่องของการใช้ลูกปรายยิง ส่วนใหญ่อาจจะผิดเป้าแต่ก็จะมีเม็ดสองเม็ดที่ถูกเป้าและถูกเป้าแล้วก็พอจะ
compensate อันที่ผิดเป้าไปได้มากพอสมควร
เมื่อถึงเวลานั้นแล้วหลังจากที่แต่ละ product สามารถเป็น profit center
ได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะตั้ง production house เพราะถึงเวลานั้นเราก็จะมี
products ที่มากพอจะให้เครื่องจักรได้วิ่งอย่าง full capacity ได้ ซึ่งในการตั้ง
production house นั้นเราก็คิดอยู่แล้วว่าคงจะไม่มาในรูปของแอ็ดวานซ์มีเดียเป็นเจ้าของ
แต่จะมาในรูปของการร่วมทุนกับเจ้าของโรงพิมพ์ ที่มีคนจีนเป็นเจ้าของโดยเราถือหุ้นอยู่
60% แต่การบริหารเราจะให้เขาบริหารโดยเราคุมทางด้านการบัญชี
Business Plan ที่วางเอาไว้น่าที่จะทำได้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์เหล่านี้ก็คือ :-
...การยึดอำนาจของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งผลของมันกระทบตัวผมไม่มากก็น้อย
...ความแตกแยกกันภายในระหว่างกลุ่มซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มของพร สิทธิอำนวย และกลุ่มของสุธี
นพคุณ รวมทั้งการพยายามแทงกันข้างหลังซึ่งกันและกัน
...การตัดสินใจของพรที่จะทำ Business Times หมายเหตุ จากนิตยสารผู้จัดการฉบับที่
6 เดือนมกราคม 2527