ANZAC DAY จุดกำเนิดความเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เวลาพูดถึงความเป็นชาติในประเทศใดๆ ก็ตาม ชาวไทยเราน่าจะเป็นหนึ่งในชาติที่โชคดีที่สุดในโลก เพราะว่าเราเป็นชาติที่สามารถบ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ความเป็นไทยสามารถชี้ออกมาได้จากหลายรูปแบบ เช่น สถาปัตยกรรมของไทย บ้านทรงไทย ชุดไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย แม้แต่อนุสาวรีย์ของไทย ต่างบ่งบอกที่มาและความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน แต่พอเราถามคำถามเดียวกันกับฝรั่งที่เคยเป็นอาณานิคมอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว พวกเขาคงจะอดอิจฉาเราไม่ได้ เพราะภาษาที่เขาใช้ก็มาจากอังกฤษ วัฒนธรรมก็เป็นของคนอื่น

แม้แต่การไปตู่เอาวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองมาเป็นของตนเอง ก็กลายเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะชาวเมารีและอบอริจินีสก็ดาหน้าเข้ามาทวงค่าลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่นนิวซีแลนด์ไปตู่เอาวันที่เมารีเซ็นสนธิสัญญาไวตังกิเป็นวันชาติ ก็โดนชาวเมารีตามมาทวงสิทธิตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเบี้ยวไปกว่าร้อยปี ทำเอารัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้เมารี แต่จนแล้วจนรอดฝรั่งออสซีและกีวีก็ไม่พอใจที่จะมีความเป็นกีวีผ่านเมารีหรือออสซีผ่าน บูมเมอแรง และเมื่อพวกเขามองไปรอบๆ ตัว พวกเขาก็ได้พบจุดกำเนิดความเป็นชาติของพวกเขาจนได้ นั่นคือ Anzac นั่นเอง

ที่จริงแล้ว Anzac เป็นเพียงชื่อย่อของกองกำลังผสมประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Australia and New Zealand Armed Corps) ซึ่งการตั้งชื่อดังกล่าวก็ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษแต่อย่างใด เพราะว่าชื่อสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศที่ 3 มักจะมีตัว ANZ นำหน้าอยู่แล้ว เช่น ANZUS (สนธิสัญญาความมั่นคงที่ร่วมกับอเมริกา) แม้แต่บริษัทเอกชนเช่น ธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ใช้ชื่อย่อว่า ANZ Bank หรือการแข่งขันรักบี้ลีกของ 2 ประเทศ ก็เรียกว่า Anzac Test

แต่จากการที่รัฐบาลของทั้งสองชาติต่างให้ความสำคัญกับวันที่ 25 เมษายน ของทุกๆ ปี ทำให้ Anzac กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นอกจากนี้หากเดินทางไปในสองประเทศนี้ สิ่งที่อาจจะติดตาผู้ขับรถเที่ยวก็คงหนีไม่พ้นชื่อถนน Anzac เพราะเป็นชื่อที่มีอยู่แทบจะทุกเมืองสำคัญในทวีปนี้ เช่น แอนแซก พาเรด ในแคนเบอรา สะพาน Anzac ในซิดนีย์ หรือแอนแซก อเวนิว ในโอ้กแลนด์ นอกจากนี้ ก็คงหนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ เพราะว่าอนุสาวรีย์นั้นเป็นการบ่งบอกความเป็นชาตินั้นๆ เช่นเวลาเดินทางในกรุงเทพฯ ชื่อที่ติดหูทุกคนก็หนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งต่างเป็นสัญลักษณ์และบ่งบอกความเป็นไทยทั้งสิ้น ดังนั้นชาวออสซีและกีวีก็ต้องเอาอนุสรณ์สงครามที่เวลลิงตันกับแคนเบอรา และอนุสาวรีย์ตามเมืองต่างๆ ในหลายๆ รูปแบบ เช่น เทพธิดา ไม้กางเขน หรือแผ่นศิลา เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นชาติของพวกเขา

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งแรกนั้นชาวออสซีและกีวีต่างมองตนเองว่า เป็นชาวอังกฤษไม่ใช่ประชาชนในอาณานิคม และประเทศของตนเป็นแคว้นหนึ่งของอังกฤษ ดังนั้นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ส่งทหารกำลังผสมเข้าร่วมสงครามมาแล้วหลายสมรภูมิ ในยุคนั้นการทำสงครามถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของฝรั่งหนุ่มที่อยากได้ชื่อเสียงและบรรดาศักดิ์จากการรบ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของ Anzac กลายเป็นความทรงจำของชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นั้นเกิดขึ้นที่สมรภูมิกัลลิโปลิ ในประเทศตุรกี ใน ค.ศ.1915

เมื่อสงครามโลกได้ระเบิดขึ้นในยุโรป ชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ขอสมัครเป็นทหารกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน กองทัพออสเตรเลียสามารถรวมทหารไปรบได้ถึง 322,000 นายจากประชากรห้าล้านคน และนิวซีแลนด์ได้ทหารมาถึง 124,000 นายจากประชากรเพียงล้านเดียว โดยกองทัพของ 2 ประเทศเข้ารวมตัวกันในนามกองทัพ Anzac นั่นเอง งานแรกของ Anzac นั้นคือการส่งทหารไปยึดซามัวร์, โซโลมอน, นาอูรู และบูแกนวิลล์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของเยอรมนีในทะเลใต้ ที่จริงแล้วเยอรมนีก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับอาณานิคมพวกนี้มากนัก อย่างจะเห็นได้ว่าในซามัวร์นั้นมีเพียงผู้สำเร็จราชการและทหารเยอรมันแค่ 11 นายเท่านั้น เมื่อ Anzac ยกพลขึ้นบก เยอรมนีก็ยอมแพ้แต่โดยดี ส่วนที่บูแกนวิลล์ ก็มีทหารเยอรมันไม่กี่นายกับทหารเกณฑ์พื้นเมืองอีก 30 ที่ได้หยิบอาวุธขึ้นสู้ ส่งผลให้ทหาร Anzac ตาย 6 บาดเจ็บ 4 ด้านเยอรมนี เสียนายทหาร 1 ชาวพื้นเมือง 10 ส่วนอีก 20 หนีกลับเข้าป่าไปพร้อมกับนายร้อยเยอรมันหนึ่งนาย ส่วนทหารเยอรมันที่เหลือโดนจับไปหมด

จากงานแรกอันแสนที่จะง่ายดาย ทำให้กองทัพ Anzac ฮึกเหิมที่จะไปรบในยุโรป ด้านกองบัญชาการกลางของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีคำสั่งให้กองทัพ Anzac ออกรบร่วมกับกองกำลังเมดิเตอเรเนียน โดยมีคำสั่งให้ยึดช่องแคบดาดาเนลเพื่อปิดกั้นกองทัพเรือออตโตมาน แผนการรบในขั้นแรกคือให้ทหารราบไปยึดป้อมปราการของออตโตมานที่แหลมกัลลิโปลีให้ได้ กองพล Anzac จึงเป็นหน่วยกล้าตายหน่วยแรกที่ออกเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ และมาถึงชายหาดบนแหลมกัลลิโปลีและส่งพลขึ้นบกได้สำเร็จตอนเวลาตีสี่ครึ่งของวันที่ 25 เมษายน 1915 โดยทหาร Anzac หมวดแรกได้ต่อสู้กับหน่วยลาดตระเวนของทหารตุรกีจากกองพันที่ 19 ทันที ในช่วงแรกนั้นการสู้รบเป็นไปอย่างเบาบางเพราะทหารเติร์กที่ออกลาดตระเวนมีจำนวนน้อยจนกระทั่งเวลา 6 โมงเช้า เมื่อทหารเกณฑ์อีก 1 กองพลของตุรกีมาหนุน ส่งผลให้การรบรุนแรงขึ้น ทหารแขกได้ยึดชัยภูมิตามเนินเขาและระดมยิงทหารฝรั่งตามแนวชายหาด ส่งผลให้กองทัพ Anzac ต้องเสียทหารถึง 8,500 จาก 15,000 นาย ภายในเวลา 8 วันแรก ในสงครามกัลลิโปลินี้ทหาร Anzac ได้สู้รบอย่างทรหดและกล้าหาญในเวลาแปดเดือนกับสิบห้าวัน ทั้งสองฝ่ายได้เสริมกำลังพลเข้าสู้รบจนต่างฝ่ายต่างมีทหารในสมรภูมิเป็นแสนนาย กองทัพสัมพันธมิตรเสียทหารในการรบครั้งนี้กว่า 140,000 นาย ทำให้กลาโหมอังกฤษต้องออกมายอมรับความผิดพลาดของยุทธการและถอนทหารในที่สุด

ชาวออสซีและกีวีได้มองว่าชาติของตนเองเสียทหารในศึกกัลลิโปลีเป็นจำนวนมาก เพราะยุทธการที่ผิดพลาดของอังกฤษ และเริ่มมีความรู้สึกผูกพันกับชาติของตนเองมากขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างพร้อมใจกันยกวันที่ 25 เมษายนของทุกๆ ปี เป็นวัน Anzac ซึ่งเป็นวันหยุดราชการที่มีผลต่อสภาพจิตใจและชาตินิยมของประชาชนจากทั้งสองประเทศมาก เพราะคำว่าวันหยุด (Holiday) นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า Holy Day (วันศักดิ์สิทธิ์) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันหยุดเช่นวันอาทิตย์นั้นถือว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นวันที่ฝรั่งต้องไปเข้าโบสถ์ วันคริสต์มาสเองฝรั่งก็ต้องเข้าโบสถ์ และเพลงที่เราจะคุ้นหูก็คือ Silent Night Holy Night ซึ่งบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นคืนที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกันกับ Holiday อื่นๆ วัน Anzac นั้นมีการเข้าโบสถ์และมีการร้องเพลงรำลึก Ode of Remembrance ซึ่งมีช่วงสร้อยตอนท้ายว่า We will remember them

ในยุคหนึ่งทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เคยมีความคิดว่าจะเปลี่ยนให้ใช้วัน Anzac เป็นวันชาติร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศทีเดียว เพราะชาติทั้ง 2 ได้รับรู้ความเป็นชาติของตนจากศึกกัลลิโปลี แม้ว่าในที่สุดทั้ง 2 ประเทศได้ตัดสินใจใช้วันชาติเดิมต่อไป แต่สำหรับประชาชนในชาติทั้งสองแล้ว วัน Anzac นั้นอาจให้ความรู้สึกในความเป็นชาติมากกว่าวันชาติของทางราชการเสียอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.