|
YUBARI
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ชื่อของ Yubari อาจอยู่ในการรับรู้ของผู้คนในฐานะ Melon Kingdom ขณะที่ผู้ติดตามชมภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยอาจคุ้นหูชื่อของ Gogo Yubari มือสังหารในเครื่องแบบนักเรียนหญิงญี่ปุ่นจากภาพยนตร์ Kill Bill ของ Quentin Taratino
หากแต่พลันที่คณะกรรมการบริหารท้องถิ่นประจำเมือง Yubari ประกาศล้มละลาย เมื่อกลางปี 2006
ความเป็นไปของ Yubari เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 1.3 หมื่นคน บนเกาะ Hokkaido ดินแดนทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ได้หวนกลับมาเป็นหัวข้อในการถกแถลงอย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง
ประวัติการณ์ของ Yubari เริ่มขึ้นจากการเป็นชุมชนเหมืองถ่านหิน หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดพื้นที่แห่งนี้เพื่อสำรวจหาแหล่งถ่านหินเมื่อปี 1888
ด้วยเหตุที่พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ป่าหนาแน่นผนวกกับการถมทับจากแผ่นดินถล่มและการระเบิดขึ้นของภูเขาไฟ ทำให้เกิดชั้นถ่านหินคุณภาพดีที่มีความหนามากถึง 7 เมตร ก่อนที่เหมืองถ่านหินแห่งแรกของ Yubari จะเปิดทำการในปี 1890
ความอุดมสมบูรณ์ของถ่านหินในพื้นที่ กลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชนแห่งนี้ และส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ
โดยการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1920 พบว่าประชากรใน Yubari มีจำนวนมากถึง 5 หมื่นคน ก่อนที่ Yubari จะได้รับสถานะให้จัดตั้งเป็นเมือง (city) ในปี 1943
ขณะที่การสำรวจเมื่อปี 1960 ชุมชนชาวเหมืองแห่งนี้ กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 1.2 แสนคน
ความรุ่งเรืองของ Yubari มิได้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1950 ต่อเนื่องถึงทศวรรษ 1970 มีเหมืองถ่านหินจาก Yubari ร่วมมีส่วนอย่างสำคัญในการหล่อเลี้ยงความจำเริญเติบโตดังกล่าว
โดยในช่วงทศวรรษ 1960 ถือเป็นจุดสูงสุดของธุรกิจเหมืองถ่านหินใน Yubari โดยในปี 1964 ผลิตผลจากเหมืองถ่านหินใน Yubari มีปริมาณมากถึง 4 ล้านตันต่อปี
กระนั้นก็ดี วิบากกรรมของ Yubari เริ่มก่อเค้าลางให้เห็นอย่างช้าๆ ในเวลาต่อมา จากผลของถ่านหินที่มีราคาถูกกว่าจากทั้งแหล่งผลิตในประเทศออสเตรเลียและจีน รวมถึงการหันไปพึ่งพาพลังงานน้ำมันของภาคอุตสาหกรรม และความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการพลังงานของภาครัฐที่มุ่งให้ความสนใจไปสู่เชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่นๆ
กรณีดังกล่าวสอดรับกับสัญญาณเตือนแห่งความถดถอยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องถึงช่วงกลางของทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมืองถ่านหินใน Yubari เริ่มลดกำลังการผลิตและหลายแห่งทยอยปิดกิจการลงในที่สุด
โดยเหมืองถ่านหินแห่งสุดท้ายของ Yubari ปิดตัวลงในปี 1990 รวมระยะเวลาแห่งการเกิดขึ้นและดับลงของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินใน Yubari ได้ 100 ปีพอดี
ความพยายามที่จะหยัดยืนขึ้นเพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับ Yubari หลังผ่านพ้นยุคสมัยแห่งเหมืองถ่านหิน ทำให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นของ Yubari เร่งระดมทรัพยากรเพื่อปรับเปลี่ยนรากฐานทางเศรษฐกิจของเมืองไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว ภายใต้คำขวัญ "From Coal Mines to Tourism" ด้วยความมุ่งหวังว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยพยุงให้ชุมชนแห่งนี้มีลมหายใจสืบเนื่องต่อไปได้
ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลกลาง ที่พยายามกระจายการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่น
คณะบริหารของเมือง Yubari ริเริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ด้วยการจัดกิจกรรม Yubari International Fantastic Film Festival
แม้เทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวจะสามารถสร้างความประทับใจและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะ Quentin Taratino ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของ Hollywood ถึงกับสร้างตัวละครชื่อ Gogo Yubari ให้โลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์ Kill Bill ของเขาด้วย
แต่กรณีดังกล่าวไม่อาจช่วยให้อนาคตของ Yubari International Fantastic Film Festival ผ่านพ้นวิกฤติของการนับถอยหลังสู่การต้องล้มเลิกกิจกรรมไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ ความมุ่งหวังที่จะผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้และการจ้างแรงงานให้กับชุมชน กลับปรากฏผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม
ความรุ่งเรืองของยุคเหมืองถ่านหินที่เจริญถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 1960 กลายเป็นภาพหลอนสำหรับชาวเมือง Yubari ในเวลาต่อมา และเป็นเหตุแห่งความล่มสลายถึงขั้นล้มละลายในที่สุด
เมื่อการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฟอสซิล (Fossil Museum) พิพิธภัณฑ์เหมืองถ่านหิน (Yubari Coal Mine Museum) พิพิธภัณฑ์ชุมชนเหมืองถ่านหิน (Mining Community Museum) ที่ดำเนินในลักษณะ Theme Park
รวมถึงการลงทุนก่อสร้างสวนสนุก (Amusement Park) ขนาดใหญ่ กลายเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลแต่กลับสร้างผลขาดทุนสะสม และถูกทิ้งร้างให้อยู่ท่ามกลางหิมะปกคลุมในเวลาต่อมา
ข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งของภาระทางการเงินที่คณะกรรมการบริหารเมือง Yubari ต้องเผชิญอยู่หลังจากเหมืองถ่านหินปิดตัวลง
ผู้คนในวัยหนุ่มสาวซึ่งเคยเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ Yubari ต่างทยอยอพยพออกจากเมือง โดยในปัจจุบัน ประชากรกว่าร้อยละ 41 ของ Yubari เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุทั่วประเทศของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับร้อยละ 20 เท่านั้น
กรณีดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากผลของความล้มเหลวในการบริหารจัดการ โดยองค์กรบริหารท้องถิ่น Yubari แต่เพียงลำพัง
หากเป็นผลสืบเนื่องมาจากประพฤติกรรมของนักการเมืองทุกระดับ ที่ต่างพยายามผันเงินเข้าสู่พื้นที่เลือกตั้งด้วยการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ในลักษณะ pork barrel project ที่กลายเป็นเพียงโครงการเร่ขายฝัน ก่อนจะเป็นฝันร้ายให้กับผู้คนในพื้นที่ในที่สุด
ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะลดสัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลาง ภายหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องสู่ทศวรรษ 1990 ด้วยการผลักภาระให้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรส่วนท้องถิ่น ภายใต้นโยบายที่เรียกว่าการกระจายอำนาจการปกครองและ small government
ทำให้องค์กรบริหารท้องถิ่นของ Yubari ต้องพึ่งพาเงินกู้จากทั้งสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน ที่กลายเป็นเพิ่มพูนเงื่อนปมภาระทางการเงินให้กับท้องถิ่นหนักขึ้นไปอีก
ยอดการขาดทุนงบประมาณสะสมของ Yubari ซึ่งมีมากถึง 3.53 หมื่นล้านเยน ทำให้คณะผู้บริหารของ Yubari พยายามลดภาระจากการลงทุนที่ล้มเหลวดังกล่าว
ด้วยการประกาศขายหรือให้เช่าสินทรัพย์หลากหลายเพื่อให้เอกชนเข้าดำเนินการแทนเพื่อลดภาระค่าบำรุงรักษา พร้อมกับการยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูฐานะทางการเงินจากรัฐบาลในส่วนกลาง
อย่างไรก็ดี กรอบโครงความช่วยเหลือที่รัฐบาลกลางหยิบยื่นให้แก่ Yubari กลับเป็นเรื่องราวหนักหน่วงสำหรับวิถีชีวิตของชาว Yubari ไม่น้อย
ภายใต้แผนฟื้นฟูที่มีระยะเวลายาว นานถึง 18 ปี ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2007 และจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2024 (มีนาคม 2025)
องค์กรบริหารของ Yubari จะลดจำนวนข้าราชการลงเหลือเพียง 150 คน พร้อมกับการลดเงินเดือนของข้าราชการเหล่านี้ลง 30-60%
ขณะที่สถานพยาบาลประจำเมืองจะลดขนาดและขีดความสามารถจากการเป็นโรงพยาบาลไปสู่การเป็นเพียงคลินิก
นอกจากนี้ โรงเรียนที่มีอยู่ 11 แห่ง จะถูกยุบรวมให้เหลือน้อยลง พร้อมๆ กับการปิดห้องสมุดชุมชน การขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บขยะ และค่าสาธารณูปโภค
ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ของ Yubari จะถูกจัดเก็บในอัตราที่สูงที่สุดในประเทศอีกด้วย
แม้ว่า Yubari จะสร้างชื่อเสียงในฐานะ Melon Kingdom ด้วยเหตุของการเป็นพื้นที่เพาะปลูก melon คุณภาพดีและมีราคาสูง
โดยในบางปี melon จาก Yubari อาจมีสนนราคาสูงถึงคู่ละ 800,000 เยนหรือผลละ 400,000 เยน (ประมาณหนึ่งแสนบาทต่อผล) แต่ดูเหมือนว่า melon จาก Yubari จะมีอนาคตที่ไม่หวานหอมดั่งเคยได้ยาวนานมากนัก
เพราะชื่อเสียงของ melon จาก Yubari ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากผลของแรงประชาสัมพันธ์ และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ความพิเศษให้กับผลผลิตทางการเกษตรนี้ ซึ่งอาจมิใช่สิ่งที่จะจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ได้ในห้วงเวลานับจากนี้
ขณะเดียวกัน มาตรการจากโครงการฟื้นฟูสถานะทางการเงินจากรัฐบาลกลางดูเหมือนจะผลักให้ประชาชนชาว Yubari ละทิ้งถิ่นฐานออกจาก Yubari มากขึ้น
ทั้งนี้มีการคาดหมายว่าภายในระยะเวลา 16 ปี จากนี้ประชากรของ Yubari จะอยู่ในระดับที่เหลือเพียงไม่เกิน 7,000 คนเท่านั้น ซึ่งหมายถึงแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงด้วย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Yubari เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความล้มเหลวของการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นของญี่ปุ่น ที่มีอยู่มากถึงกว่า 2,000 แห่ง
โดยปัจจุบันมีเพียง 130 แห่งเท่านั้น ที่สามารถบริหารจัดการโดยลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางได้
ขณะที่องค์การบริหารท้องถิ่นของญี่ปุ่นหลายแห่งพยายามเสริมสร้างรายได้ ด้วยการให้สิทธิภาคเอกชนในการใช้ชื่อสินค้าหรือชื่อองค์กรมาเป็นชื่อของสนามกีฬาหรือสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของเขต
เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเงินแทนการปรับขึ้นภาษีบำรุงท้องที่หรือการขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแม้กระทั่งในเขตกรุงโตเกียว เมื่อองค์กรบริหารกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเจ้าของสนามกีฬาขนาดใหญ่ Chofu Tokyo Stadium ในเขต Chofu ชานกรุงโตเกียว
มอบสิทธิในการใช้ชื่อสนามกีฬาดังกล่าวให้กับ Ajinomoto (Ajinomoto Stadium) บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร
หรือในกรณีของ Nissan Stadium (International Stadium Yokohama) ที่ได้รับสิทธิในชื่อจากองค์กรบริหารของเมือง Yokohama
แม้ว่าการขายสิทธิในชื่อดังกล่าว จะมีลักษณะที่ประหนึ่งผูกพันและเอื้อประโยชน์ให้ดำเนินอยู่เฉพาะในกลุ่มของบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความได้เปรียบในด้านสรรพกำลังทางการเงิน
แต่องค์กรบริหารท้องถิ่นบางแห่งประกาศการจำกัดสิทธิในการใช้ชื่อด้วยการสงวนไว้สำหรับบรรษัทที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ ด้วยหวังว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยยกระดับและเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์บรรษัทท้องถิ่นให้เข้าสู่การรับรู้ของสาธารณชนวงกว้างยิ่งขึ้น
สิทธิในการใช้ชื่อ (naming rights) ในลักษณะดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะสนามกีฬา ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการประชาสัมพันธ์ชื่อองค์กรและสินค้า ผ่านการถ่ายทอดการแข่งขันและกลุ่มผู้เข้าชมในสนามเท่านั้น
หากสถานที่จัดแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมของแต่ละเขต กำลังเป็นแหล่งรายได้ให้กับองค์กรบริหารแต่ละท้องถิ่นด้วย
เขต Shibuya ซึ่งเป็นเจ้าของ Shibuya Kokaido public hall ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมใจกลางกรุงโตเกียว ต้องประสบปัญหาขาดทุนในระดับ 20-30 ล้านเยนต่อปี ในการบริหารหอประชุมแห่งนี้
ได้มอบสิทธิในการเปลี่ยนชื่อ Shibuya Kokaido public hall ไปสู่ Shibuya C.C. Lemon Hall ซึ่งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัท Suntory เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้สัญญาที่มีมูลค่ามากถึง 400 ล้านเยน โดยรายได้จากการขายสิทธิในชื่อนี้ เขต Shibuya จะนำไปใช้ในโครงการด้านวัฒนธรรมต่อไป
แม้ว่าก่อนหน้าการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe จะระบุถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียมในทุกภาคส่วน แต่จนถึงขณะปัจจุบันสถานการณ์ว่าด้วยช่องห่างของการพัฒนาระหว่างเขตเมืองกับชนบทยังไม่ได้รับการปรับปรุงมากนัก
ความเป็นไปในเรื่องการขายสิทธิในการใช้ชื่อ (sale of naming rights) ดูจะเป็นเรื่องราวที่จำกัดอยู่เฉพาะเขตหัวเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวรุดหน้าสร้างช่องห่างระหว่างเขตเมืองกับชนบทให้ถ่างออกไปไกลอย่างไม่หยุดยั้ง
ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤติที่มี Yubari เป็นเหยื่อได้ส่งผลกระทบให้เกิดความตื่นตัวทั่วทั้งสังคมญี่ปุ่น และกำลังนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อควบคุมสถานะทางการเงินการคลังขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย Yubari ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อกระจายทรัพยากรและโอกาสไปสู่ประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจในการบริหารและปกครองของญี่ปุ่นจะเลือกแสดงมีฝีมือในการบริหาร หรือเพียงมุ่งหมายผลิตสร้างวาทกรรมต่อมวลชนในระดับใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|