บอกลาเงินสดด้วย PASMO-Suica

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ลองหลับตานึกภาพตั้งแต่ย่างเท้าออกจากบ้าน จนกระทั่งกลับเข้ามาอีกทีในตอนเย็นได้โดยไม่ต้องควักเงินสักแดงแต่สามารถจับจ่ายซื้อของและโดยสารรถบัส-รถไฟ-รถไฟใต้ดินผ่านบัตรเพียงใบเดียว จินตภาพที่ว่ากำลังเติมสีสันใหม่ให้กับชีวิตประจำวันของผู้คนในมหานครโตเกียวและปริมณฑล พร้อมกันนั้นก็กำลังถูกจับตามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ในฐานะตัวอย่างโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ล้ำเส้นกระเถิบตัวเข้าใกล้ยุค e-money อย่างแท้จริง

ที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าวเริ่มขึ้นราว 20 ปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นเวลาที่เครือข่ายรถไฟญี่ปุ่นสร้างบทพิสูจน์ต่อสายตานานาชาติว่าด้วยประสิทธิผลของระบบขนส่งมวลชนขนาดยักษ์บนพื้นฐานเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งรถไฟความเร็วสูงระบบรถไฟทั่วภูมิภาคและการจัดการตั๋วรถไฟที่แม่นยำรวมถึงเครื่องตรวจตั๋วที่ฉลาดที่สุดในโลก

ในขณะนั้นเฉพาะโตเกียวเมืองเดียวมีตั๋วรถไฟกว่า 15 ล้านใบต่อวัน ที่ถูกสอดผ่านเครื่องตรวจตั๋วซึ่งไม่ว่าจะสอดกลับหัวกลับหางในทิศทางใดก็ตามเครื่องก็สามารถอ่านข้อมูลบนตั๋วได้ทั้งวันเวลาสถานีที่เข้าออกพร้อมทั้งคำนวณค่าโดยสารเสร็จสรรพภายใน 0.7 วินาที โดยอาศัย electromagnetic technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่นำมาใช้กับบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม

"กระนั้นก็ดีใช่ว่าความสมบูรณ์แบบของระบบตั๋วที่พัฒนาขึ้นมารองรับโครงสร้างการรถไฟญี่ปุ่นจะจีรังในทางกลับกันจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตตั๋วเพิ่มเป็นเงาตามตัว ถึงแม้จะสามารถนำมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้บางส่วนก็ตาม นอกจากนี้ค่าบำรุงรักษาก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

จากมุมมองของการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (หรือที่เรียกกันติดปากเป็นอักษรย่อ JR) ย่อมตระหนักดีถึงภาวะดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ JR จำต้องเผชิญไม่ช้าก็เร็ว

ในขณะเดียวกันที่ Railway Technical Research Institute ของ JR นำทีมโดย Shigeo Miki ได้ซุ่มวิจัยสำหรับเตรียมแผนรับมือกับปัญหาในระยะยาวโดยเลือก Integrated Circuit (IC) card ซึ่งเป็นวิทยาการใหม่ที่มีแนวโน้มใช้ทดแทนตั๋วแถบแม่เหล็กได้ด้วยศักยภาพในการบรรจุข้อมูลมากกว่าเดิม 100 เท่า อีกทั้งสามารถส่งผ่านข้อมูลด้วยความไวเพียง 0.02 วินาที

แม้ว่าแนวคิดของโครงการ IC card จะได้รับการยอมรับแต่ผลการวิจัยในช่วงแรกยังห่างไกลเกินกว่านำมาใช้ได้จริงจนเกือบต้องล้มเลิกโครงการไปกลางคัน จนกระทั่ง Shigeo Miki ย้ายมาทำวิจัยต่อที่บริษัท JR East ที่ซึ่งได้พบกับ Akio Shiibashi (อดีตหัวหน้าแผนก Passenger Equipment Section ที่ย้ายเข้าร่วมทีม) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ IC card กลายเป็นจริงในเวลาต่อมา

จากผลการทดสอบในภาคสนามทั้ง 3 ครั้ง ได้ข้อสรุปถึงรูปแบบ IC card ที่ทำงานโดยสัมผัสกับเครื่องอ่านตั๋วโดยตรงแล้วส่งและรับสัญญาณครึ่งทรงกลมรัศมี 10 เซนติเมตร ในลักษณะ "Touch and Go" ซึ่งภายในเศษเสี้ยววินาทีของการสัมผัสนั้น ข้อมูลจะถูกส่งผ่านระหว่าง IC card กับเครื่องด้วยความแม่นยำสูงมาก เพื่อคิดค่าโดยสารและเขียนข้อมูลใหม่ทับลงไปแทนที่เรียกว่า non-contact read/write process

กลไกของ IC card นั้นแตกต่างจากตั๋วแถบแม่เหล็กซึ่งทำงานแบบ read only โดยข้อมูลบนตั๋วจะถูกส่งไปที่คอมพิวเตอร์กลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนประมวลผลกลับมาที่ในลักษณะเดียวกับการซื้อของด้วยบัตรเครดิตโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน มิใช่ว่าการผ่านเข้าออกสถานีจะรวดเร็วขึ้นเพียงอย่างเดียวที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหยิบตั๋วออกจากกระเป๋าซึ่งโอกาสที่จะทำตั๋วหายนั้นแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ นอกจากจะปรับปรุงคุณภาพการบริการดีขึ้นแล้วยังสามารถลดต้นทุนการผลิตตั๋วจำนวนมหาศาลในแต่ละวันลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

วิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งอยู่ที่การออกแบบเครื่องอ่านสัญญาณให้เข้ากับเครื่องตรวจตั๋วแบบเก่าที่มีอยู่แล้วเพียงติดตั้งอุปกรณ์เสริมเข้าไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ทั้งหมด แถมเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องตรวจตั๋วที่ชาญฉลาดอยู่แล้วให้รับตั๋วได้ทั้งสองแบบ

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ทีมวิจัยของ JR East ได้ทุ่มเทพัฒนานวัตกรรม IC card จนเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้ชื่อ Super Urban Intelligent Card ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า "Suica" เปิดให้บริการครั้งแรก 424 สถานีในเขตคันโต (โตเกียวและปริมณฑล) ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2001 เป็นต้นมา หลังจากนั้นบัตรในลักษณะเดียวกันได้ทยอยให้บริการในเขตอื่นๆ ของญี่ปุ่น เช่น "ICOCA" ในเขตคันไซ (โอซากาและจังหวัดโดยรอบ) ซึ่งดำเนินธุรกิจโดย JR West Suica ได้ขยายขอบข่ายการใช้งานให้กว้างออกไปอีกด้วยบทบาทของ e-money เต็มตัวเมื่อเข้าร่วมกับ Felica Technology ที่พัฒนาขึ้นมาโดย Sony สามารถใช้บัตร Suica ซื้อของได้ตามร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่ vending machine ได้ โดยเติมเงินผ่านเครื่องขายตั๋วของ JR

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อต้นปี 2006 ที่ผ่านมาบริการ "Mobile Suica" พลิกโฉมใหม่ด้วยการนำ Felica IC chip มาฝังไว้บนโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้ควบคู่ไปกับ Suica ชำระสินค้าและบริการได้เช่นกัน ในอีกด้านหนึ่งบริการของรถไฟใต้ดินและรถไฟเอกชนในญี่ปุ่นยังคงใช้ตั๋วแถบแม่เหล็กหากมีจุดแข็งที่การใช้ตั๋วร่วมกันเรียกว่า "Passnet" ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินที่สามารถใช้กับรถไฟชนิดอื่นได้ทั้งหมดยกเว้นรถไฟของ JR

ความชำนาญการจัดการระบบตั๋วร่วมของ Passnet จุดประกายมิติใหม่ของการให้บริการ e-money เมื่อการเจรจาร่วมมือทางธุรกิจกับ JR บรรลุข้อตกลงขอบเขตการใช้ IC card ด้วย Felica Technology ได้ขยายตัวครอบคลุมเครือข่ายรถไฟทั้งหมดรวมถึงรถบัสทุกสายในเขตคันโตเลยไปถึงจังหวัด Shizuoka และ Yamanashi ภายใต้ชื่อใหม่ "PASMO" ซึ่งมาจาก Passnet + More หรืออีกนัยหนึ่งคำว่า "mo" ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า "ด้วย" ซึ่งสอดคล้องไปกับโลโกสีชมพูสดใสบนบัตร Train MO, Bus MO, PASMO

เนื่องด้วยทั้งสองบัตรนั้นใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ดังนั้นผู้โดยสารจะต้องเลือกถือบัตรเพียงใบเดียวเท่านั้น ในกรณีที่ทำบัตรหายสามารถแจ้งที่สถานีรถไฟทุกแห่งเพื่ออายัดและออกบัตรใหม่ได้ทันที (ยกเว้นบัตรประเภทที่ไม่ได้ลงทะเบียนชื่อผู้ใช้เอาไว้)

ด้วยเหตุนี้ทั้ง PASMO และ Suica จึงกลายเป็นพันธมิตรและคู่แข่งทางธุรกิจในเวลาเดียวกันซึ่งนับจากนี้ไปการช่วงชิงลูกค้าโดยการออกบัตรรวมกับบัตรเครดิตและบัตรอื่นๆ เพิ่มความสะดวกในลักษณะ all-in-one card ที่เร้าใจด้วยสะสมคะแนนหรือสะสมไมล์จะกลายเป็นองค์ประกอบที่นำไปสู่การหมดยุคกระเป๋าสตางค์หนาเตอะ

PASMO-Suica ได้เริ่มขับเคลื่อน electroeconomy และเปลี่ยน lifestyle ของคนเมืองหลวงและรอบๆ กว่า 30 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2007 เป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นตามเจตนารมณ์ของประเทศ IT ในศตวรรษที่ 21


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.