นอนยานเก่า หนุนเจ้าพระยา @Aurum, The River Place

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

น้ำตก ทะเล ภูเขา ย่านชอปปิ้ง หรือโรงแรมหรู อาจไม่ใช่จุดหมายของนักเดินทางทุกคนเสมอไป สำหรับบางคน อาจไม่ได้ต้องการอะไรจากการท่องเที่ยวมากไปกว่าประสบการณ์ธรรมดาที่โอบอุ้มด้วยจิตวิญญาณชุมชนและเงาประวัติศาสตร์แห่งสถานที่ที่ไปเยือน ก็เท่านั้น

เมื่อเรือด่วนแล่นเข้าคุ้งน้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายคนจับกล้องหันขวับ พากันขยับไปถ่ายรูปองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สูงตระหง่านระยิบระยับยามต้องแสง

แต่หากหันไปมองอีกฟากฝั่งแม่น้ำ ร้านกาแฟขนาดกะทัดรัดที่เบื้องหลังเป็นตึกสวยทรงยุโรปหลังใหม่ก็ดึงดูดสายตาของผู้สัญจรในเรือได้เช่นกัน

ตึกสีขาวสไตล์โมเดิร์นคลาสสิกที่เห็นนี้มีชื่อว่า Aurum, The River Place เป็นโรงแรมบูติกขนาด 4 ชั้น 12 ห้อง เปิดตัวมาเพียง 7-8 เดือน ตั้งอยู่ในซอยปานสุข บนถนนมหาราช ย่านท่าเตียน

"ท่าเตียนเป็นย่านเก่าที่มีประวัติ-ศาสตร์ แต่คนไม่ค่อยรู้จักว่าอยู่ตรงไหน ก็ต้องคอยบอกว่า ท่าเตียนอยู่ใกล้ท่าช้าง เราเป็นชาวท่าเตียนพอพูดไปก็น้อยใจ" วิไลพร อัญญานุภาพ เธอเป็นหนึ่งในผู้บริหาร โรงแรม ซึ่งทีมผู้บริหารก็คือพี่น้องตระกูลอัญญานุภาพ นั่นเอง

ท่าเตียนเป็นย่านเก่าบนเกาะรัตน-โกสินทร์ มีเสน่ห์อยู่ที่ความทรงจำและจิตวิญญาณในอดีตของที่นี่

ชื่อ "ท่าเตียน" น่าจะมาจากเหตุไฟไหม้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เผาวอดวังเจ้านายและบ้านเรือนข้าราชการที่ตั้งอยู่แถวนั้นจนราบเตียน ผู้คนสมัยนั้นจึงพากันเรียกท่าน้ำที่นี่ว่าท่าเตียน

ท่าเตียนเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกว่า "ชุมชนบางกอก" สมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เคยเป็นตลาดท้ายวัง จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการคมนาคม

ท่าเตียนยังเคยเป็นศูนย์กลางตลาดขนส่งสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ และเคยเป็นเมืองที่สำคัญในการคมนาคมทางน้ำ ขนาดว่าใครจะไปต่างประเทศก็ต้องมาขึ้นเรือ ที่ท่านี้ แต่ปัจจุบันคงเหลือเพียงท่าเรือข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ และตลาดขายปลาเค็มที่ซบเซา ลงทุกวัน

"แถวนี้เป็นเมืองเก่า เราก็อยากออกแบบตึกให้มีกลิ่นอายกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมของที่นี่" จินตนา อัญญานุภาพ น้องสาวของวิไลพร อีกหนึ่งผู้บริหารโรงแรม พูดถึงที่มาของการดีไซน์

ตึกแถบนี้เป็นแบบยุโรป หลายตึกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่บางตึกก็สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เช่นตึกที่เคยเป็นอู่จอดเรือของสมเด็จพระมหาสมณ เจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส และอาคารแถวนั้นที่เคยเป็นห้องพัก ของฝีพาย

ทว่า ตึกของ Aurum สร้างขึ้นใหม่ เพราะตึกเก่ามีอายุโครงสร้างกว่า 50 ปี รุ่นพ่อตึกนี้เคยเป็นทั้งที่พักและออฟฟิศทำธุรกิจขนส่ง แต่ 15 ปีหลัง เมื่อลูกๆ โตขึ้นและแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น ออฟฟิศเก่านี้จึงร้างชีวิตชีวาของผู้อาศัย

"เราถือครองที่ดินตรงนี้มาอย่างน้อย 50 ปีแล้ว ในรุ่นพ่อตรงนี้ก็ยังเหมาะที่จะทำธุรกิจ ค้าส่งวัสดุก่อสร้างได้ เพราะขนส่งทางเรือสะดวก แต่พอทุกอย่างเปลี่ยนไป ออฟฟิศตรงนี้เริ่มไม่สะดวกอีกต่อไป ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่" จินตนาเล่าย้อนประวัติของที่ดิน

หลังจากประชุมโต๊ะกลมในหมู่พี่น้อง พวกเขาลงมติทุบตึกทิ้งแล้วสร้างใหม่ เพื่อความ ปลอดภัยของผู้สัญจรแถวนี้ และเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ละแวกนี้ให้มีชีวิตชีวามากขึ้น โดยขณะนั้นพวกเขาก็ยังไม่คิดว่าบ้านเกิดของตนจะกลายเป็นโรงแรมบูติกในดวงใจของนักท่องเที่ยวหลายคน

"พอคิดว่าถ้าทำเป็นที่อยู่อาศัย ก็น่าเสียดายศักยภาพของทำเลตรงนี้ เพราะมันเป็นมุม ที่สวยมาก และมันยังมีประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณชุมชนเก่าอยู่ด้วย"

แม้จะต้องรื้อเสาเข็มแบบเดิมที่ลงไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ออก แล้วทำแปลนใหม่ หมดสำหรับโครงสร้างของโรงแรมขนาดเล็ก ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความประทับใจในการไปเที่ยวพักในโรงแรมสไตล์ "Bed & Breakfast" ในแถบยุโรป ที่ไม่ได้เน้นที่ความหรูหราสะดวกสบายแบบครบวงจรเหมือนโรงแรมใหญ่ แต่ขายความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ และอัธยาศัยอันดีของเจ้าบ้าน (ผู้ดูแลและบริการลูกค้า)

Aurum เป็นภาษาละติน แปลว่า "ทอง" อันเป็นความหมายที่ดี เพราะนอกจาก จะหมายถึงสิ่งที่มีค่า ทองยังเป็นสิ่งที่ชาวไทย ใช้แสดงความเคารพต่อสิ่งที่นับถือ เช่น การหล่อพระพุทธรูปด้วยทองหรือทองคำเปลวที่ใช้ปิดองค์พระพุทธรูป เป็นต้น

โรงแรมแห่งนี้ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการจัดแสดงขบวนพยุหยาตรา อาจเรียก ได้ว่า นั่นเป็นเสมือนการเปิดตัวโรงแรมให้ประจักษ์ต่อสายตาลูกค้าหลากสัญชาติจริงๆ

ที่นี่มีห้องพักแค่ 12 ห้อง แต่ละห้อง ขนาดไม่ใหญ่ แบ่งเป็น City View สนนราคา 3,500 บาท/คืน แต่ถ้าเป็น River View ราคาก็จะอัพเป็น 4,500 บาท พื้นห้อง ตกแต่งด้วยกระเบื้องผสมพื้นไม้ เพื่อสัมผัสราวอยู่บ้าน แม้จะเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่ที่นี่ก็ติด Wi-Fi Hi Speed เตรียมไว้ให้ลูกค้าได้ ใช้บริการฟรี

ล็อบบี้สีขาวที่ช่วยเพิ่มความโปร่งสบาย ถูกตกแต่งให้เหมือนห้องรับแขกในบ้าน ให้ลูกค้าได้ลงมานั่งคุยกันได้ โดยจะมีเก้าอี้และโซฟาเอาไว้ให้นั่งเล่นในมุมต่างๆ บางมุมมีหนังสือเตรียมไว้ให้ลูกค้าอ่านเล่น และบางมุมก็มีกาแฟจัดเตรียมไว้ให้

แม้วิไลพรและจินตนาจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจบริการ แต่เธอก็เชื่อว่าประสบการณ์จากการท่องเที่ยวที่เธอมี บวกกับความชอบและศักยภาพของทำเล ก็น่าจะทำให้แขกที่มาพักได้ความประทับใจ ติดมือกลับไปเป็นกอบเป็นกำ

"มันเหมือนทำเลตรงนี้ก็ช่วยสกรีนลูกค้าในระดับหนึ่ง คนที่มาที่นี่จะไม่จุกจิก เขาอยากมาสัมผัสวิถีชีวิตตรงนี้ มันเป็นอีกโลกที่หาไม่ได้จากโรงแรมในเมือง" วิไลพรกล่าวพร้อมยกตัวอย่างพฤติกรรมของแขก เธอมักจะชอบเฝ้าสังเกตแขกของเธอ

"เคยมีฝรั่งคนหนึ่งมาพักที่นี่ เขาไม่ไปไหนเลย ตื่นมาก็ไปนั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือ ที่ร้านกาแฟ (ร้านของวิไลพรที่อยู่ติดแม่น้ำ หน้าโรงแรม) ออกไปทานอาหารแล้วก็กลับห้องนอน ไม่ไปเที่ยว เหมือนว่าเขาคงทำงานเหนื่อยมามาก แล้วก็อยากมาพักจริงๆ"

แขกของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งรู้จักที่นี่จากเว็บไซต์หรือคำบอกเล่าของเพื่อนฝูง ฝรั่งบางคนมาเรียนนวดแล้วก็มาพักที่นี่ ส่วนคนไทยก็มีบ้าง บางกลุ่มอยากมา สัมผัสบรรยากาศชีวิตริมน้ำ บางกลุ่มก็เป็นคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาไหว้พระ 9 วัด

วิไลพรและจินตนายอมรับว่าธุรกิจโรงแรมเล็กๆ เช่นนี้อาจหวังกำไรก้อนโตไม่ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอคาดหวัง เพราะทุกวันนี้ พวกเธอแค่อยากจะทำอะไรที่ทำให้ เธอมีความสุข

ความสุขของพวกเธอ ไม่ได้อยู่ที่การ เห็นแขกเข้ามาพักในโรงแรมเยอะๆ แต่อยู่ที่ การเห็นแขกสนุกกับการได้ขึ้นไปนั่งเล่นบนดาดฟ้า เพื่อรับลมชื่นชมภาพวิถีของผู้คนในย่านเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในยามเช้า หรือดื่มด่ำกับบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของแม่น้ำเจ้าพระยาและพระปรางค์วัดอรุณฯ ในยามเย็น

และที่สำคัญก็คือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามฟื้นฟูย่านเก่าที่เป็นบ้านเกิดแห่งนี้ ให้กลับเป็นที่รู้จักและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.