บริษัทขายหลักสูตร เอ็มบีเอระบบออนไลน์ ธุรกิจใหม่อนาคตไกล


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปี 1998 ลอว์เนนซ์ เอ. ไวน์บาค (Lawrence A. Wein- bach) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของยูนิซิส คอร์ป (Unisys Corp) ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีข้อมูลเสียใหม่ แต่ท่ามกลางภาวะการปลดพนักงาน ยอดขาย ที่ตกต่ำ และการลาออกของประธานเจ้าหน้าที่คนเก่า ภารกิจนี้จึงไม่ง่าย ไวน์บาคได้ตั้งศูนย์ฝึกอบรมภายในชื่อว่า "Unisys University" ขึ้น "เรามุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลักแทนรูปแบบสั่งการตามอำนาจอย่างที่เคยเป็นมา"เรย์ แจ็คสัน (Ray Jackson) ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์บอก

ตอนแรก แจ็คสันคิดว่าจะจ้าง ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยหรือไม่ก็ส่งผู้บริหารไปเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนความคิด โดยเขาวางหลักสูตรระยะเวลาห้าวันขึ้นเอง และติดต่อกับบริษัทซอฟต์แวร์หน้าใหม่อย่างเพนแซร์ อิงค์ (Pensare Inc.) ให้สร้างโปรแกรมออนไลน์สำหรับการฝึกอบรม โดยที่สามารถเห็นหน้ากันทางจอคอมพิวเตอร์ได้ "เมื่อคุณคิดจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร คุณต้องทำอะไรด้วยตัวเองให้มากเท่า ที่จะทำได้" แจ็คสันบอก

ทุกวันนี้ พนักงานทั้งระดับผู้บริหารระดับสูงจนถึงผู้บริหารรุ่นใหม่ของยูนิซิสต่างก็ล็อกออน (log on) เข้าอบรมในหลักสูตร "Distinctive Leadership" ของเพนแซร์ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ รายละเอียดของหลักสูตรพัฒนาโดยเพนแซร์ร่วมกับศาสตราจารย์ผู้หนึ่งจากโรงเรียนธุรกิจมาร์แชล (Marshall School of Business) แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย

ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างเพนแซร์กับยูนิซิสมีอาทิ การจัดสัมมนาในเรื่องภาวะผู้นำ โดยเพนแซร์จัดทำกรณีศึกษา และสัมภาษณ์ผู้บริหาร ที่มีชื่อเสียง พอถึงปลายปี ผู้บริหารราว 400 คนของยูนิซิสก็จะได้เข้าร่วมหลักสูตรผ่านทางระบบ ที่เพนแซร์สร้างขึ้น แจ็คสันบอกว่า "เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น" นั่นก็คือ ผู้บริหารมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น และติดต่อประสานงานกันดีกว่าเดิม

เพนแซร์ ซึ่งเป็นชื่อภาษาอิตาเลียนแปลว่า "คิด" เป็นเพียงหนึ่งในบริษัทเอกชน ที่กำลังเติบโตในตลาดการศึกษาสำหรับผู้บริหาร บริษัทก่อตั้งโดยดักลาส อี. ดอนเซลลี่ (Duoglas E. Donzeli) ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เขาเป็นนักประกอบการที่เคยสร้างผลงานขายหลักสูตรให้โนเวล อิงค์มาแล้ว เพนแซร์มีความมุ่งมั่น ที่จะนำ หลักสูตรดีเยี่ยมจากโรงเรียนธุรกิจชั้นนำมารวมไว้ในที่เดียวด้วยระบบออนไลน์ บริษัทลูกค้าจึงสามารถเลือกสรรสิ่งต่างๆ มาสร้างเป็นหลักสูตรเอ็มบีเอตามแบบ ที่ต้องการ

ยิ่งกว่านั้น สถานศึกษา ที่ต้องการขายหลักสูตรผ่านระบบออนไลน์ก็ยังสามารถติดต่อกับเพนแซร์ในเรื่องของเทคโนโลยีด้วย "ภายใน ห้าปี เราต้องการจะมีส่วนแบ่งรายได้ 20-30% จากรายได้รวมของหลักสูตรเอ็มบีเอในสหรัฐฯ" ดอนเซลลี กล่าว

แม้จะเป็นความมุ่งหวัง ที่ทะเยอทะยาน แต่ผู้ที่จัดการศึกษาในระบบเดิมก็ไม่ได้วิตกกังวลเท่าไร อย่างที่โดนัลด จาคอบส์ (Donald Jacobs) คณบดีของเจ.แอล.เคลล็อก (J.L.-Kellogg Graduate School of Management) บอกว่า"อีกหน่อย การเรียนในระบบทางไกลจะมีบทบาทสำคัญ แต่ตอนนี้มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น "

อย่างไรก็ตาม การที่เพนแซร์ได้ร่วมมือกับโรงเรียนธุรกิจ ฟูควา (Fuqua School of Business) ในสังกัดมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ซึ่งติดอันดับ 7 ในการสำรวจสถาบันการศึกษาดีเด่นทางด้านธุรกิจ ก็ทำให้เพนแซร์ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง ทั้งนี้ เพนแซร์จะรับผิดชอบงานอัพเกรดเทคโนโลยีสำหรับใช้ในหลักสูตร Global Executive MBA (GE-MBA) ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1996 หลังจากนั้น เพนแซร์จะปรับปรุง และขายหลักสูตร 12 หลักสูตรของมหาวิทยาลัยดุ๊กให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด

เหตุผลที่ดุ๊กเลิกระบบแฟรนไชส์ และหันมาร่วมมือกับเพนแซร์ก็เพราะสถาบันไม่มีเงินทุนเพียงพอ ที่จะขยายหลักสูตรออนไลน์ได้เอง "เราจะต้องแบ่งสรรผลกำไร เพื่อให้มันเกิดขึ้นได้" แบลร์ เอช. เชพพาร์ด (Blair H. Sheppard) ผู้ช่วยคณบดีอาวุโสรับผิดชอบหลักสูตรการศึกษาของฟูควาให้เหตุผล ทั้งนี้ ดุ๊ก ซึ่งถือหุ้นบริษัทเพนแซร์อยู่ด้วย จะได้รับค่ารอยัลตี้จากการขายหลักสูตร และจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินก้อนโตเมื่อเพนแซร์เข้าตลาดหุ้นในปีนี้

แต่ก็ใช่ว่าเพนแซร์จะไร้คู่แข่ง เพราะ UNext.com ก็กำลังร่วมมืออยู่กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัย ชิคาโกทำหลักสูตรออนไลน์เช่นกัน นอกจากนั้น "ยูนิเวอร์ซิตี้ แอ็กเซส" (University Access) ก็ได้ตกลงร่วมมือกับคีแนน-แฟลกเกอร์ (Kenen-Flagler Business School) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา จัดทำหลักสูตรเอ็มบีเอระดับโลกโดยร่วมมือกับบริษัทอีกห้าแห่ง

สิ่งที่ยังคงคาใจต่อจากนี้ไปก็คือ ว่า แนวคิดด้านการบริหารนั้น สามารถสอนกันได้ทางอินเตอร์เน็ตจริงๆ หรือ "ผมยังเชื่อว่าการเรียนรู้แบบเห็นหน้ากันในชั้นเรียนเป็นทางเลือกที่ดีกว่า" โฮวาร์ด เอส. กอโฟลด์ (Howard S. Kaufold) ผู้อำนวยการโครงการเอ็มบีเอสำหรับผู้บริหารของวาร์ตันให้ความเห็น แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็คงต้องทดลองให้เห็นจริง เพราะขณะ นี้วาร์ตันเองก็มีหลักสูตรเอ็มบีเอผ่านดาวเทียมแล้วเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.