ก้าวอย่าง "มั่นคง"

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

มั่นคงเคหะการคาดสถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้น หลังปีที่ผ่านมาเจอปัญหาลูกค้าชะลอการซื้อ เนื่องจากความไม่มั่นใจในปัญหาทางการเมือง เตรียมเปิด 3 โครงการใหม่ รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท

ผลดำเนินงานปีที่ผ่านมาของบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ลดลงจากปี 2548 ทั้งรายได้และกำไร สอดคล้องกับสภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่มีการชะลอตัวลงจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกที่จะชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ยอดรายได้ของมั่นคงฯ ในปีที่ผ่านมาจะลดลงเกือบ 15% จาก ปี 2548 โดยลดจาก 2,371 ล้านบาท เหลือ 2,019 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่ลดลง ถึง 42% จาก 713 ล้านบาท เหลือเพียง 408 ล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญมาจากตัวเลขกำไร จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลดลง 226 ล้านบาท (ดูรายละเอียดผลการดำเนินงานจากตารางประกอบ)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารมั่นคงฯ มั่นใจ ว่าปีนี้สถานการณ์น่าจะพลิกกลับดีขึ้น เนื่อง จากความไม่แน่นอนต่างๆ มีแนวโน้มจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ประกอบกับแนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางปรับตัวลง ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้มั่นคงฯ จึงเตรียม เปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ เรสซิเด้นซ์พาร์ค 5 ชวนชื่นซิตี้ บริเวณ ถนนรามอินทรา มูลค่าโครงการ 100 ล้านบาท โครงการชวนชื่นอุดมสุข มูลค่า 400 ล้านบาท และโครงการชวนชื่น ประชาอุทิศ บริเวณถนน ประชาอุทิศ มูลค่าโครงการ 1,100 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการเดิมที่ยังเปิดขายอยู่อีก 14 โครงการ เมื่อรวมกับ 3 โครง การที่เปิดใหม่จะมีจำนวนรวม 5,000 ยูนิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมียอดขายในปีนี้ประมาณ 2,300 ล้านบาท และเป็นยอดรับรู้รายได้ราว 2,000 ล้านบาท

โครงการชวนชื่นอุดมสุขเดิมจะสร้างเป็นคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย ซึ่งจะเป็นการสร้างคอนโดมิเนียมแห่งที่สองของมั่นคงฯหลังจากโครงการปทุมวันเพลซ บริเวณเชิงสะพานหัวช้างที่ก่อสร้างเมื่อปี 2528 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเล ประกอบกับสภาพการแข่งขันในตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริหารมั่นคงฯ ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบโครงการเป็น บ้านแฝดแทน

"จุดเด่นตรงนั้นคือติดกับวงแหวนรอบนอก ไปบางนา-ตราดก็ใกล้ ไปอุดมสุข อ่อนนุชก็ได้ แต่ว่าจะห่างจากถนนที่มีรถเมล์วิ่งมากกว่า 1 กิโลเมตร ไม่เหมาะจะขึ้นคอนโดมิเนียม เพราะต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์หรือรถสองแถว เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่าขึ้นเป็นบ้านจัดสรรจะดีกว่า" ชวน ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร มั่นคงฯ ให้เหตุผล

นอกจากนี้ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหา ริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นคอนโดมิเนียมมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สวนทางกับตัวเลขบ้านจัดสรรที่มีจำนวนลดลง โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปีที่แล้วระบุว่า คอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จมีจำนวน 18,053 หน่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึง 65% ขณะที่จำนวนบ้านจัดสรรที่สร้างเสร็จมีจำนวน 24,590 หลังลดลงจากปี 2548 ถึง 31%

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ได้จากการสำรวจของธนาคารอาคารสงเคราะห์พบว่า ความต้องการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ อาคาร พาณิชย์มีสัดส่วนถึง 70% แต่มีความต้องการ คอนโดมิเนียมเพียง 13% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มั่นคงฯ ยังไม่ปิดโอกาส ในการขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมไปเสียทีเดียว ชวนบอกว่า หากได้ที่ดินใกล้แนวรถไฟฟ้าในระยะห่างจากสถานีไม่เกิน 1 กิโลเมตรก็พร้อม ที่จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม

"ตอนนี้เราก็สนใจและดูอยู่ แต่ก็ต้องเลือกสรรทำเลอย่างพิถีพิถันหน่อย"

มั่นคงเคหะการเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในต่างจังหวัด เมื่อปี 2500 ในชื่อ มั่นคงสถาปัตย์ โดยรับเหมาก่อสร้างทั้งบ้าน อาคาร พาณิชย์ ตลาดสดและโรงแรม มีตลาดหลักอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นขยับขยายมาทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับสินค้าจากต่างประเทศและในประเทศ จนกระทั่งในปี 2520 จึงตัดสิน ใจเข้ามาทำธุรกิจบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ

ประสบการณ์ในด้านงานก่อสร้างจากธุรกิจรับเหมาบวกเข้ากับความรู้ที่มีในด้านการค้าวัสดุ ช่วยให้ชวนมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ทำให้เขาตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่

"สมัยนั้นหมู่บ้านจัดสรรสร้างแบบเดียวกันหมดเลยทั้งแถว คนที่จะเข้าไปหาต้อง รู้บ้านเลขที่ ไม่งั้นเข้าไม่ถูก ไม่รู้ว่าอยู่หลังไหน ของเราเป็นรายแรกที่เอาแบบบ้านหลายแบบมาอยู่โครงการเดียวกันแล้วสร้างสลับกัน ทำให้ แตกต่างจากหมู่บ้านทั่วไปก็เลยทำให้ขายดี"

มั่นคงเคหะการผ่านยุครุ่งเรืองและตกต่ำของเศรษฐกิจมาหลายรอบ ตั้งแต่ครั้งราชาเงินทุน การลดค่าเงินบาทสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เข้าสู่ยุคทองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสมัยนายกฯ ชาติชาย ที่ธุรกิจนี้รุ่งเรืองขนาดที่ว่าถ้าสนใจที่ดินแปลงไหน ต้องซื้อเลย เพราะถ้ากลับไปคิด วันรุ่งขึ้น กลับมาอีกทีก็มีคนซื้อไปแล้ว จนกระทั่งวิกฤติ เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540

อาจด้วยประสบการณ์เหล่านี้ที่ทำให้ชวนขยายกิจการมั่นคงฯ อย่างระมัดระวัง ถึง แม้จะมีภาระหนี้อยู่กว่า 2,500 ล้านบาทแต่ส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่เกือบ 4,500 ล้านบาททำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (debt/equity ratio) ของมั่นคงฯ อยู่ที่ระดับ 0.57 เท่า ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"เราคิดว่าการก้าวเต็มฝีก้าวอย่างไม่หยุดยั้งจะให้ผลเร็วกว่าการก้าวกระโดด ซึ่งอาจมีการสะดุดล้มในบางครั้งบางคราว" ชวน กล่าวถึงคติที่เขาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันชวนอายุย่างเข้า 70 ปี เขาเริ่ม ถ่ายงานบางส่วนให้กับทีมงาน โดยเฉพาะลูกชายและลูกสาวที่เริ่มมีบทบาทในบริษัทมากขึ้น โดยชูเกียรติ ตั้งมติธรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการ ตลาด และชุติมา ตั้งมติธรรม ตำแหน่งผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ สายบัญชี-การเงิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.