|
ลีลา "ยักษ์ส่งออก" เมื่อรุกตลาดภายใน
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในธุรกิจผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของประเทศ โดยมียอดขายกว่า 15,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และมีตลาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเชีย อเมริกาใต้ และเกือบทุกประเทศในสหภาพยุโรป
ทว่า "Sea Value" อันเป็นบริษัทแม่ของ I.S.A. Value และ Unicord Public ซึ่งเป็น 2 ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตระหนักดีว่า บริษัทฯ ไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย
ครั้นเมื่อจะหันหลังกลับมารุกตลาดภาย ในประเทศ ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์ตัวแรก ได้แก่ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศกระป๋อง ยี่ห้อ "ซูเปอร์ ซี เชฟ" ออกมาสู่มือคนไทย
งานนี้ "ซี แวลู" จึงต้องทุ่มทุนสร้างแบรนด์ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าโฆษณา ที่โหมยิงสปอตรัวยิบมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อีกครึ่งเป็นงบจัดกิจกรรมโรดโชว์ ปรุงชิม และส่งเสริมการขายกับร้านค้า รวมทั้งการเปิดร้าน อาหารแฟรนไชส์ขนาด 30-40 ตร.ม.ที่เน้นขายกลับบ้าน
แต่ดูเหมือน "ไม้เด็ด" ที่ผู้บริหารของ ซี แวลู ให้ความเชื่อมั่น อย่างมาก ก็คือตัวแทนจำหน่ายยักษ์ใหญ่อย่าง "สหพัฒน์" ที่มาร่วม จับมือถ่ายรูปในวันเปิดตัวนี้ด้วย
"ซี แวลู เป็นบริษัทที่ได้มาตรฐานระดับโลก และจากที่เคยไปทำวิจัย ผู้บริโภคก็ตอบรับแบรนด์นี้ดี ก็เลยคุยกันง่าย และเราก็มั่นใจว่า งานนี้ต้องสำเร็จแน่นอน" ดร.เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
การเปิดตลาดในเมืองไทยของซี แวลู ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ กระจายความเสี่ยงอันเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นทุกวัน ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องขาดทุนค่าเงินไปร่วม 2 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา
ซี แวลู ยังตั้งเป้ายอดขายในเมืองไทยสูงถึง 500 ล้านบาทในปีนี้ 1 พันล้านบาทในปีหน้า และ 2 พันล้านบาทในปี 2552 พร้อมกับขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาด หรือก็คือโค่นแบรนด์ผู้นำที่ครองใจแม่บ้านมานานอย่าง "สามแม่ครัว" ลงให้ได้
"เราได้เปรียบแบรนด์อื่น เพราะปัจจุบันปลาที่จับในประเทศน้อยลง แต่เรามีพันธมิตรที่จะติดต่อจัดซื้อปลาจากทั่วโลกและก็ซื้อได้ โดยไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์หลายต่อเหมือนรายอื่น" พจน์ อร่ามวัฒนา นนท์ ประธาน บริษัท ซี แวลู อธิบายเหตุผล
ไม่เฉพาะตลาดปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในตลาดปลากระป๋อง
ซี แวลู ยังฝันจะขึ้นแท่นเป็นที่หนึ่งของตลาดปลากระป๋องทั้งหมดของเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 3 พันล้านบาท และอัตราเติบโตสูงถึง 20% ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ พร้อมทั้ง วางแผนจะขยายสินค้ามาสู่ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งในเมืองไทยภายใต้แบรนด์เดียวกันอีกด้วย
ทว่า ณ วันนี้ที่ต้องเร่งเจาะตลาดเมืองไทย และสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนไทย สหพัฒน์ฯ ย่อมมีบทบาทสำคัญ เขาจึงไม่ลืมที่จะเอาใจพันธมิตรยักษ์ใหญ่รายนี้ ด้วยประโยคเด็ดปิดท้ายงานแถลงข่าว
"ปลากระป๋องของเราเมนูอร่อยได้หลายจาน แต่ถ้าจะอร่อยมากๆ ก็ต้องมาม่าต้มยำใส่ซูเปอร์ ซี เชฟ"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|