True Money ถ้าใช้คำว่า Bank ได้ คงใส่ไปแล้ว

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หากใครเข้าใจว่า True Money เป็นหนึ่งในช่องทางการจ่ายเงินของลูกค้า True แล้ว เห็นจะเข้าใจผิดถนัด เพราะเนื้อแท้นั้น True Money เป็นกลอุบายอันแยบยลที่มุ่งหวังผลต่อแผนการทำ Brand Loyalty อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อรักษาทั้งฐานลูกค้าปัจจุบัน และสร้างฐานลูกค้าผู้จงรักภักดีกลุ่มใหม่ในอนาคตของเครือ True

True Money ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่กลุ่มทรูเพิ่งฉลองครบรอบวันเกิด 1 ปีของการเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังก่อนหน้าบริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ True Money เคยใช้ชื่อ T-Pay มาตลอดระยะ 3-4 ปี

โดยจุดเริ่มต้นของ T-Pay หรือ True Money อยู่ที่ร้าน True Move Shop ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับชำระค่าบริการลูกค้าที่เพิ่มขึ้น จนทำให้มีคิวคอยที่ยาวเหยียดบาดตาผู้บริหาร และบาดอารมณ์ผู้ใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่เหตุผลประกอบสำคัญอีกประการที่ต้องมี True Move นั้นคือ จำนวนบริษัทลูกที่มีมากขึ้นของกลุ่ม True ได้ส่งผลต่อต้นทุนและความวุ่นวายอย่างมากจากการที่แต่ละบริษัทต้องแยกกันออกไปจัดวางระบบโครงสร้าง IT เพื่อสร้างให้เป็นช่องทางรับชำระเงินในแต่ละ เคาน์เตอร์ของธนาคาร

กลุ่ม True จึงเห็นควรต้องอนุมัติแผนการรวมระบบการชำระค่าสินค้าและบริการของตัวเองทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนที่จะให้ลูกค้าแยกกันไปจ่ายตามเคาน์เตอร์ธนาคารหรือร้านค้าต่างๆ ของ True ซึ่งจะทำให้ภาระตกไปอยู่ที่ตัวลูกค้าจากความไม่สะดวกอย่างแน่นอน

คิดกันได้เช่นนี้ ทรูจึงเริ่มนึกถึงการสร้างตัวกลางในการชำระเงินระหว่างบริษัทลูกในเครือ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบของการชำระเงินของธนาคารพันธมิตร โดยใช้ศัพท์การเชื่อมโยงนี้ว่า "Financial Platform" หรือ "เมืองท่าทางด้านการเงินสำหรับกลุ่ม True Corporation"

โดยระบบนี้จะมีคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ตัวกลางตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นดั่งแขนขาในการคัดแยกบิลค่าใช้บริการแต่ละประเภทของลูกค้าที่จะวิ่งมาจากทุกธนาคาร เพื่อส่งต่อให้แต่ละบริษัทในเครือ True

หรือหากลูกค้ามีการจ่ายชำระเงินจากธนาคารใด สินค้าประเภทใด ระบบจะสั่งการให้ส่งข้อมูลชำระไปยังบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการได้ในทันที เพื่อดำเนินการตัดยอดให้กับลูกค้าในเวลาต่อมา

เมื่อแนวคิดเริ่มต้นออกมาเป็นแบบนี้แล้ว กลุ่มทรูจึงอยากจะหาอะไรที่จับต้องได้ มาใช้เป็นบริการเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าได้ในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดยัดเยียดของลูกค้าที่เดินทางมารอชำระค่าบริการภายใน True Move

นั่นจึงเป็นที่มาในการออกบัตรเงินสด Universal Cash Card ในนาม True Money ที่ยังต้องคงแนวคิด consolidate คือทำให้เป็นบัตรเดียวที่ใช้ร่วมกันได้กับทุกบริการภายในกลุ่ม True โดยดึง T-Pay ออกจาก True Move เพื่อยกระดับจากการเป็นตัวแทน รับชำระเงินที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากร ขึ้นมาเป็น Non-Bank ที่ต้องอยู่ในกำกับดูแล ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปลี่ยน ชื่อบริษัทใหม่ใช้นามว่า True Money เพื่อสะท้อนการเป็นบริษัทในเครือ True ก่อนประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2548

"ตอนนั้น True มีบริษัทลูกเยอะTrue Move เวลาจะทำ channel รับเงิน แต่ละคนก็ต้องไปวิ่งไปติดต่อแบงก์ 5 แห่ง 7 แห่ง ถ้าทรูมี 10 บริษัท คุณลองคิดดูว่าจะ มีคนเท่าไรที่ต้องวิ่งไปติดต่อแบงก์ เพราะเวลา ไปก็ไม่ใช่แค่ทีมติดต่อทีมเดียว แต่ยังมีทีม engineering ทีมที่ต้องทำ interface กับ แบงก์ และต้องมี IT มี server เป็นของตัวเอง ทุกอย่างต้องคิดหมด อย่างนี้มันก็ไม่ work

อีกอย่างมันเป็นผลกระทบที่ได้รับมาจากแบงก์ด้วย เพราะเขาก็บ่นกลับมาว่าทำไมทรูถึงมีทีมเข้ามาเยอะ แล้วทำไมถึงไม่มาพร้อมกันให้หมด เพื่อทำทีเดียวให้มันเสร็จ ไปเลย บริษัทมันก็คือทรู

อันนี้มันเป็นคอนเซ็ปต์ของที่มาที่ไปที่คิดว่ามันควรต้อง consolidate แล้วแยก ออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อเตรียมไว้ทำเรื่องการเงินและทำเรื่อง interface ไปกับทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะกับแค่แบงก์แล้วคราวนี้ ใครจะทำ เรื่องการเงิน ใครจะทำเรื่องเคาน์เตอร์ก็ยกมาให้ที่นี่ให้หมดเลย แต่ละคนจะได้ไม่ต้องไปทำกันเองให้เสียเวลา และแบบนี้ต้นทุนก็ถูกกว่าด้วย" ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร เล่าถึงที่มาในการจัดตั้ง True Move กับ "ผู้จัดการ"

เหตุด้วยที่มาของ True Move มาก่อนคำว่า convergence เพราะ True Move นั้นเป็นเรื่องความยากลำบากในการทำธุรกรรมของแต่ละบริษัทในเครือ เป้าหมายแรกเริ่มเดิมทีในการเปิดตัว True Money จึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องความพยายามในการสร้างรายได้เป็นหลัก

หากแต่เป็นเรื่องการสร้างความจงรักภักดีตัวสินค้าบริการ ด้วยการเสริมบริการที่สะดวกสบายมากขึ้นในการเติมเงินผ่านบัตรเงินสดของ True Money ในฐานลูกค้าบัตรโทรศัพท์แบบเติมเงินของ True Move ก่อนพัฒนาตัวเองต่อมาสู่การให้บริการรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้แม่ หรือการสั่งจ่ายค่าสินค้าบริการนอกเครือผ่าน "น้องมือถือ" ค่าย True Move ในเวลาต่อมา

"True Money ที่เปิดมา objective แรกไม่ใช่เรื่องรายได้เป็นหลัก แต่เป็น brand loyalty ที่เราเริ่มต้นที่ True Move ถ้าผมพูดง่ายๆ ตอนนั้นก็คือทำยังไงที่จะให้คนใช้ True Move ไม่เลิกใช้ True Move ผมจึงคิดเรื่องเอาไปผูกบริการต่างๆ ให้ลูกค้ามีการจ่ายโน่นจ่ายนี่ ทำทุกอย่างผ่าน True Move ตอนนี้ UBC หรือ True Visions ก็จ่ายได้แล้ว แถมผมยังไปทำ alert เรื่องค่าน้ำค่าไฟมาอีก คนก็ยิ่งชอบใหญ่ เพราะไม่ต้องรอบิลแล้ว

ตอนนี้คนที่คิดจะเลิกใช้ True Move ผมว่าคงต้องคิดหนักมาก เพราะความสะดวกสบาย ที่เคยมีจะหายไปหมดเลยนะ เรื่อง True Money มันจึงเป็นเรื่อง brand loyalty program ของ True Move เป็นเรื่อง convergence มากกว่า และช่วยเสริมเรื่อง convenience ด้วย" ผู้จัดการทั่วไปค่าย True Money ให้ภาพ

เมื่อปี 2548 ครั้งที่ศุภชัย เจียรวรนนท์ นายใหญ่แห่งค่าย True ประกาศเปิดตัว True Money นั้น เคยกล่าวไว้ว่า True Money บริษัทมือที่ 3 ของกลุ่ม ถือเป็นกลยุทธ์อันสำคัญในการสร้างรายได้ใหม่ให้กลุ่ม True

สำหรับผลงานของ True Money หลังเปิดตัวให้บริการมาได้จนครบ 1 ขวบปี บริษัทตัวกลางชำระค่าสินค้าบริการ ที่เริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้าง loyalty brand ให้ True Move ดูเหมือนจะคว้ามาได้ทั้งโล่และกล่อง เมื่อพิจารณาในแง่ตัวเลขผู้ใช้บริการ ที่นิยมความสะดวกสบายแค่กดปุ่มสั่งจ่ายโอนเงินบนมือถือของ True Move ปิดที่ 850,000 ราย เมื่อสิ้นปี 2549

ล่วงสู่เดือนที่ 2 หลังเปิดศักราชใหม่ให้บริการในปี 2550 จำนวนผู้ที่เบื่อหน่ายต่อการเดินทางไปต่อคิวชำระค่าสินค้าบริการตามจุดชำระเงินต่างๆ ซึ่งอาจต้องรวมถึงคนที่เบื่อกับการเดินออกไปซื้อหาบัตรโทรศัพท์เติมเงินรุ่นเก่าแบบขูดๆ ตามเครือข่ายคนกันเอง อย่าง 7-Eleven, True Shop หรือ True Move นั้น ดูเหมือนจะมีอยู่มากไม่ใช่เล่น เพราะ 2 เดือนแรกของปี ยอดจำนวนสมาชิกใหม่ของ True Money ได้ปรับตัวขึ้นอีก 250,000 ราย หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 125,000 ราย

มองมาทางด้านรายได้เบื้องต้นในเฉพาะส่วนที่ True Money เป็นเจ้าของจริงๆ นั้น เมื่อปีก่อนหน้าสามารถกวาดมาได้กว่า 980 ล้านบาท

แต่ขนาดจะมหึมายิ่งกว่านี้ เมื่อมองยอดการใช้บัตรของลูกค้า เพื่อชำระเงินสินค้า-บริการทุกประเภททั้งในและนอกเครือ True เช่น ค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งผ่านมาทางจุดรับชำระของ True Shop และ True Move นั้น จะมีขนาดใหญ่ยักษ์ถึง 11,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ บริการ True Money หลักๆ จะมีบัตรเงินสดเติมเงิน Universal Cash Card และบัตรเงินสดเติมเงินแบบหยอดเหรียญที่ True Money เพิ่งจะเปิดให้บริการอยู่ตาม shop ต่างๆ เช่น True Shop และ True Cafe และยังมีการให้บริการรับชำระบิลค่าน้ำค่าไฟ ตามจุดรับชำระของ True และ True Move

นอกจากนี้ บัตรเงินสดของ True Money ยังสามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามร้านค้าย่อยได้ในอีก 20,000 ร้านค้าย่อย ซึ่งร่วมเป็นพันธมิตร กับ True Money เพราะอยากได้ฐานลูกค้าเครือ True มาเป็น ฐานผู้ใช้บริการของตนด้วย

อย่างเช่น โรงหนัง Major Hollywood, Villa Market, กลุ่มเครือข่ายพันธมิตรที่ทำธุรกิจตู้หยอดเหรียญเครื่องดื่ม กาแฟ ม่าม่าคัพ ขนมขบเคี้ยว น้ำมัน รถมอเตอร์ไซค์ รวมถึง ถุงยางอนามัย และร้านหนังสือ Asia Book พันธมิตรรายล่าสุด ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวกันไปเมื่อเดือนก่อน

สำหรับโครงสร้างรายได้โดยหลักๆ ของ True Money นั้น จะประกอบไปด้วยค่าธรรมเนียมที่มาจากการทำ payment, ค่า fee จากการโอนเงินระหว่างบัตร True Money กับบัตร True Money ซึ่งปัจจุบันคิด 1 บาทต่อการทำธุรกรรมการโอน, รายได้ที่เกิดจากการนำ cash card ไปใช้กับ product ซึ่ง True Money จะไปเก็บจากเจ้าของ product, รายได้ จากการทำบิลที่เคาน์เตอร์ของ true และดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากธนาคารที่ต้องเปิดไว้ใช้พักเงินรายได้ที่จะมาจากผู้ใช้บริการผ่านบัตร True Money ระหว่างรอเวลาเคลียร์บัญชีส่งคืนให้แก่บริษัทในเครือและพันธมิตรของ True Money

และในปีนี้ True Money ยังมีแผนขยายตัวออกสู่ภายนอกกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิด convergence lifestyle แก่ลูกค้าที่อยู่นอกฐานของ True โดยพัฒนา Application หรือจุดรับชำระร่วมกับพันธมิตรที่เป็นร้านค้าย่อยกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก 20,000 ร้านค้า เช่นเดียวกับ ทยอยเพิ่มประเภทรายการบิลรับชำระให้ได้อย่างน้อยๆ 60 ตัว จากปัจจุบันที่มีอยู่ 16 ตัว

ความเคลื่อนไหวของ True Money อายุ 1 ขวบเศษ กำลังเป็นที่น่าจับตา หลังจากเมื่อปีก่อนได้ผนึกกำลังแบบหลวมๆ ในช่วงทดลองกับ True Online ซึ่งเปิดให้บริการเว็บไซต์เกมออนไลน์ และเจ้าของ weloveshopping ธุรกิจร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตแล้ว ภาพ True Money ที่เคยมาพร้อมกับ Theme ยาวๆ ทำนองที่ว่า "True Money บริการทางการเงินบนมือถือของ True Move ที่ให้คุณโอน รับ จ่าย ถอน ได้สะดวก ทุกที่และทุกเวลา"

เพราะพอมาถึงปีนี้ Theme ของ True Money ได้เปลี่ยนใหม่มาเป็น "บริการทางการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์" ที่ได้เริ่มขยายครอบคลุมไปสู่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของทุกค่ายของผู้ให้บริการแล้ว อย่างไรก็ตาม True Money ค่าย non-bank แห่งเครือ True ยังมีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมถึงบนโทรศัพท์พื้นฐาน เช่น การให้บริการรับฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือ IVR รวมถึงบริการบนโทรศัพท์ ของ PCT ในเร็ววันนี้อีกด้วยเช่นกัน

สำหรับ weloveshopping ปัจจุบันได้เริ่มมีพัฒนาการในแง่ความหลากหลายของ ตัวสินค้า ซึ่งเริ่มต้นจากสนนราคาเพียงไม่กี่ร้อย ไล่เรียงตั้งแต่กระเป๋าสตางค์ของเด็กวัยทีน, เสื้อพิมพ์รูปนักร้องพี่น้องคู่ duo กอล์ฟ-ไมค์, ดอกไม้, น้ำหอม, ขนมเค้ก, ช็อกโกแลต, ปลาสวยงามและสินค้าสำหรับน้องหมา จน ถึงของที่มีราคาเรือนหมื่น อย่างโทรศัพท์มือถือ และแหวนเพชร เป็นต้น

"บังเอิญว่าผมไปเริ่มกับมือถือก่อน Theme ของเราปีก่อนก็เลยเป็นการให้บริการ การเงินบนมือถือ แต่ปีนี้ theme ของผมเปลี่ยนแล้วว่า True Move เป็นการให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้ใครที่ใช้อินเทอร์เน็ตจะของค่ายไหนก็มาใช้บัตร True Money ได้หมด โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นลูกค้า True หรือ True Online อย่างเดียวแล้ว" ผู้จัดการทั่วไป True Move ว่าไว้แบบนี้

เมื่อ Theme ของ True Money เปลี่ยนมาเช่นนี้แล้ว ปิยชาติจึงวางเป้าลูกค้าสมาชิกบัตร Universal Cash Card ใหม่ สำหรับปีนี้ว่าน่าจะขยับขึ้นมาอยู่แถวๆ 3,000,000-5,000,000 ราย

โดยส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะมาจากกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หากจำนวนผู้ใช้บริการขยับขึ้นมาได้ถึง 5,000,000 รายแล้ว ยอดการใช้โดยเฉลี่ยผ่านบัตร True Money ทั้งระบบนั้น ก็น่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่แถว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือบวกจากฐานของปี 2549 อีก 1 เท่าตัว

"จริงๆ ผมมี vision เลยนะของ True Money ผมต้องการเป็น payment platform สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือเป็นเบอร์ 1 ถ้าคนคิดถึงการชำระเงินอิเล็ก ทรอนิกส์ ต้องคิดถึง True Money เราต้องไปข้างนอกคือให้มันเป็น number 1 คือทุกคนพูดถึง e-commerce ต้องพูดถึง True Money" ปิยชาติบอกถึงภาพอันสมบูรณ์แบบในอนาคตของ True Money

สำหรับมุมมองภาพอุตสาหกรรม electronic commerce นั้น ผู้จัดการทั่วไปของ True Move คิดว่าจะโตได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจเกมออนไลน์ที่ว่ากันว่ามูลค่ารายได้อย่างเป็นทางการมีประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยไม่นับรวมมูลค่าที่ไม่เป็นทางการจากการซื้อขาย item นอกตลาด ซึ่งคนในวงการบอกว่าจะมากยิ่งกว่านี้

"ธุรกิจ e-commerce นี่ดุเดือดมาก ปีหนึ่งๆ ผมว่าในไทยมีไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ที่มีการซื้อขายของบนอินเทอร์เน็ต เรื่องเกมผมคงต้องเก็บมาให้ได้อย่างน้อยครึ่งตลาด ส่วน e-commerce ถ้าผมได้ 10% ผมก็ได้ 5,000 ล้านบาทแล้ว ผมว่าอีกหน่อย trend มันจะมาทางนี้และบัตร True Money มันดีอย่าง ถ้าคนต้องการซื้อของ online แล้วไม่อยากใส่เบอร์บัตรเครดิต True Money มันจะไป serve ตรงนั้นได้หมดเลย และผมว่า trend มันจะมาทางนี้แหละ" ปิยชาติ กล่าว

แม้ภาพสมบูรณ์แบบของ True Money ใน vision ของปิยชาติจะชัดเจนขนาดนี้แล้วแต่ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่า key success ของธุรกิจ e-commerce ต้องมีทั้งผู้ใช้และผู้รับ เพราะหากมีเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วธุรกิจนี้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

"ยิ่งคุณลองเคยจ่ายบิลสักครั้งทางมือถือ คุณก็จะไม่เดินไปจ่ายที่เคาน์เตอร์แล้ว เพราะมันสะดวกกว่า แต่ทำยังไงให้ทุกคนลองทำสักครั้งหนึ่ง นี่คือการบ้านของผม ยากที่ตรงจุดเปลี่ยนนี้แหละในทุกอันที่ทำการตลาดมา key success ของผมคือต้องดึง 2 ตัวนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กัน คือต้องมีคนใช้เยอะๆ และมีจุดบริการเยอะๆ มันต้องวิ่งไปพร้อมกัน" ผู้จัดการทั่วไป True Money บอกทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.