|
TRUE CP Model ในโลกดิจิตอล
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"ผู้จัดการ" เคยนำเสนอรูปแบบธุรกิจ (business model) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) อย่างละเอียดมาแล้วครั้งหนึ่งในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2543
ซึ่งขณะนั้นถือเป็นช่วงรอยต่อของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในเครือ ซี.พี.
ในอุตสาหกรรมการเกษตร มีการจัดวางให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นแกนหลัก ขณะที่ในธุรกิจค้าปลีกได้วางตัวไว้ที่บริษัทซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น (CP7-11)
เทเลคอมเอเซีย (ชื่อในขณะนั้น) และยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง (UBC) ถือเป็น 2 บริษัทในตอนนั้น ที่โครงสร้างทางธุรกิจยังไม่ลงตัว
จนเมื่อเทเลคอมเอเชียได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น TRUE และได้เข้าซื้อกิจการ โดยถือหุ้น 100% ใน UBC เมื่อปีที่แล้ว ทำให้โครงสร้างธุรกิจในเครือ ซี.พี.กลุ่มนี้มีความชัดเจนขึ้น
ในความชัดเจนดังกล่าวนั้นเอง ความเป็นเครือ ซี.พี.ที่แท้จริงของ TRUE ก็ค่อยๆ ถูกสะท้อนให้ปรากฏออกมาผ่านทาง business model ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นระยะๆ เป็น model ที่เคยมีบางคนพยายามอรรถาธิบายความจำกัดความ โดยใช้คำศัพท์สั้นๆ เพียง 2 คำ คือ ครอบงำ และกินรวบ
ทั้ง 2 คำ หากตีความหมายสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร คือเป็นผู้ขายทั้งเมล็ดพันธุ์ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไปจนถึงวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต อาหาร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค ไปจนถึงเป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้
ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำผลผลิตนั้นมาแปรรูปเพื่อขายต่อไปยังผู้บริโภค
หากตีความหมายสำหรับธุรกิจค้าปลีก คือการกระจายจุดขายให้ครอบคลุมไปยังทุกจุดที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงโดยสะดวก เพื่อตัดขั้นตอนการเดินทาง ที่ต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งกำลังเป็นข้อจำกัดอันสำคัญยิ่งในวิถีชีวิตคนไทยในยุคปัจจุบัน
ตลอดจนการเลือกหาสินค้าบางรายการ ที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้เฉพาะในเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มนี้เพียงเครือข่ายเดียว
แต่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยึอย่าง TRUE แล้ว model ธุรกิจ กลับมีความซับซ้อน และลึกซึ้งมากกว่า
ในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและค้าปลีก สินค้าที่เครือ ซี.พี.ขาย เป็นสินค้าทึ่สามารถจับต้องได้ และ model ที่ใช้ก็ก่อให้เกิดกระบวนการผลิต (productivity)
แต่สำหรับ TRUE แล้ว สินค้าที่ขายเป็นการเล่นกับไลฟ์สไตล์ คือความรู้สึก ความอยาก และความสะดวกสบายของผู้คน
ซึ่งเป็นสินค้าที่จับต้องได้ยาก
แต่กลับมีคนจำนวนมากที่พร้อมจะจ่ายให้กับสินค้าตัวนี้
ศุภชัย เจียรวนนท์ ตอบ "ผู้จัดการ" ซึ่งถามเขาในงานเปิดตัวโครงการอคาเดมี แฟนตาเซีย ซีซันส์ 4 เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาว่า business model ของ TRUE นั้น แท้จริงแล้วก็ไม่แตกต่างจาก business model ของเครือ ซี.พี. ซึ่งเขาบอกว่า ทุกวันนี้ยังไม่ใช่ เพราะ business model ของเครือ ซี.พี. เป็น model ในแนวดิ่ง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับซัปพลายเออร์จำนวนมาก ขณะที่ business ของ TRUE ทุกวันนี้ เป็นเพียงการต่อยอดของเทคโนโลยี ซึ่งทุกแห่งในโลกนี้ ต่างก็ทำกัน
เขาอธิบายว่า model ของ ซี.พี. เป็นลักษณะ B to B แต่ของ TRUE นั้น เป็น B to C
แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าในอนาคต business model ของ ซี.พี. ก็อาจถูกนำมาใช้กับ TRUE ได้เช่นกัน
"สร้างสรรค์ ชี้นำ ครอบงำ และกระตุ้น" เป็นคำ 4 คำ ที่บางคนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างสำหรับการอรรถาธิบายกระบวนการตาม business model ของ TRUE ในทุกวันนี้
ซึ่งเป็น business model ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องทุนนิยม
คำถามคือ model นี้ เหมาะสมกับความตื่นตัวของสังคม ที่กำลังตอบรับกับปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" หรือไม่เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|