เล็งเพิ่มทุนแบงก์เฉพาะกิจรับIAS39


ผู้จัดการรายวัน(27 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเผยสำนักงบประมาณเข้าหารือตัวเลขเงินเพิ่มทุนแบงก์เฉพาะกิจของรัฐตามเกณฑ์ IAS39 เตรียมบรรจุเข้างบปี 51 มั่นใจต้นเดือนเม.ย.ตัวเลขออกมาชัดเจนแต่จะให้แบงก์ไหนก่อนหลังขอดูความจำเป็นก่อน ขณะที่สศค.ระบุไม่จำเป็นต้องทำตามแบงก์ชาติ 100%

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณได้รับทราบนโยบายการสนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศใหม่ฉบับที่ 39 (IAS 39) ในปีงบประมาณ 2551 แล้ว โดยในส่วนของกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินวงเงินที่ชัดเจนอยู่ และกระทรวงการคลังต้องดูด้วยว่า จะสามารถสนับสนุนงบประมาณได้เท่าใด ซึ่งจะต้องได้ความชัดเจนและเสนอให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 12 เมษายนนี้

โดยนโยบายการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ได้สั่งให้พิจารณาตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เนื่องจากทุกแห่งล้วนแต่ขอเพิ่มทุนมาทั้งสิ้น ซึ่งเบื้องต้นมองว่า การเพิ่มทุนในปีแรก คงต้องเพิ่มทุนให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เป็นแห่งแรก เพราะเป็นสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ ทั้งนี้ หากมีการเพิ่มทุนให้ก่อน ก็จะทำให้ ธสน. มีความเข้มแข็งสามารถให้การสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่

"ในเบื้องต้นสำนักงบประมาณได้เข้ามาหารือเรื่องการเพิ่มทุนแบงก์รัฐแล้ว ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องเข้าไปอยู่ในงบประมาณรายจ่ายของปี 51 ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะต้องจัดสรรเงินสำหรับเพิ่มทุนให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่งอยู่แล้ว แต่ธนาคารแห่งใดจะได้รับมากน้อยเพียงใดหรือได้ก่อนหลังต้องพิจารณาตามความจำเป็นและตามแผนการเพิ่มทุนที่ธนาคารส่งมายังกระทรวงการคลัง ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งได้ส่งแผนมาให้สศค.พิจารณาแล้ว โดยมีทั้งแผน 3 ปี 5 ปีต้องรอให้สศค.สรุปแผนทั้งหมดออกมาก่อน” นายศุภรัตน์กล่าว

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ทางสศค.จะต้องหารือรายละเอียดการเพิ่มทุนกับแบงก์รัฐอีกครั้ง ซึ่งนอกจากการส่งแผนเพิ่มทุนแล้วแบงก์รัฐจะต้องเสนอแผนุรกิจเชิงรุกมาให้สศค.พิจารณาประกอบการเพิ่มทุนด้วย โดยเท่าที่ดูแผนการดำเนินธุรกิจของแบงก์รัฐทั้ง 4 แห่งที่มีความต้องการเพิ่มทุนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศใหม่ฉบับที่ 39 นั้นถือว่ามีการขยายสินเชื่ออย่างเข้มงวดและป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้สศค.จะต้องพิจารณาด้วยว่าธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่งที่ขอเพิ่มทุน ประกอบไปด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) มีความพร้อมที่จะใช้เกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศใหม่ฉบับที่ 39 เมื่อไร ซึ่งวงเงินที่ขอเพิ่มทุนเข้ามานั้นสูงถึง 27,000 ล้านบาท

"สศค.จะต้องดูแผนการดำเนินธุรกิจของแบงก์ทั้ง 4 ให้รอบคอบ จะเพิ่มทุนอย่างไรเพิ่มเมื่อไหร่ก็บอกมาสศค.จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งแบงก์รัฐไม่จำเป็นจะต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศใหม่ฉบับที่ 39 ของแบงก์ชาติ 100% เพราะไม่ได้ทำธุรกิจที่แสวงหากำไรเหมือนธนาคารพาณิชย์แต่เป็นการทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่อย่างไรก็ตามต้องให้ระบบบัญชีของแบงก์ต้องมีมาตรฐานที่เหมาะสม” นางพรรณีกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.