ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ใครพูดถึง สุธี นพคุณ
สุระ จันทร์ศรีชวาลา และ สุพจน์ เดชสกุลธร อาจจะไม่มีใครสนใจเลยก็ได้เพราะสุแรกกับสุหลัง
กลายเป็นอดีตที่จบไปแล้ว ขณะที่สุคนกลางขณะนี้เป็นนักธุรกิจแก่ๆคนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างตำนานนักเทคโอเวอร์ตัวยง
แต่ถ้าหยุดคิดสักนิดและมองอีกแง่มุมหนึ่งว่า ในอดีตทั้งสามสุเป็นตัวแทนคนหนุ่ม
ที่ไม่มีชาติตระกูลเก่าแก่และอยู่นอกวงการที่มีฝีมือ แบบ "ข้ามาคนเดียว"ที่ต่อสู้กระโดดขึ้นเวทีธุรกิจ
ร่วมวงสังคมธุรกิจกับผู้ดีเก่าและทายาทตระกูลเศรษฐีใหญ่ได้ ต้องนับว่าสามสุนี้ไม่ธรรมดา
ทั้งสามสุต่างอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน และมีคุณสมบัติของผู้ประกอบการ (ENTREPRENEUR)
โดยมีบุคลิกลักษณะเด่นคือ
' หนึ่ง-ความทะเยอทะยาน
ถ้าปราศจากแรงบันดาลใจนี้ สุธี นพคุณ อาจจะมาทำงาน 9 โมงเช้าที่ ธนาคารกรุงเทพ
พอ 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน สิ้นเดือนรับเงินเดือน สิ้นปีรับโบนัส
ส่วนสุพจน์ก็คงจะขยายปั้มน้ำมันไปเรื่อยๆ หลังจากปากกัดตีนถีบจากเด็กเข็นผัก
ขึ้นมาสู่กิจการใหญ่มั่นคงคือปั้มน้ำมันมิตรรำลึกพระประแดงได้ในที่สุด
ขณะที่พ่อค้าแขกขายผ้าอย่างสุระที่นิยมสะสมซื้อที่ดิน ก็จะกลายเป็นเพียงนัก
พัฒนาที่ดินหลังจากประสบความสำเร็จกับการจัดสรรที่ดินร่วมกับสุขุม นวพันธุ์เป็นครั้งแรกในบริษัทนวจันทร์
แต่ทั้งสามสุหาได้พอใจเพียงแค่นี้ไม่ พวกเขาใฝ่ฝันที่จะมีวิถีของผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรตัวเอง
ความทะเยอทะยานของสุธี นพคุณ คือการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมหลายๆแห่ง ดังนั้นเมื่อแยกทางกับพร
สิทธิอำนวย สิ่งแรกที่สุธีเรียกร้องคือโรงแรมรามาทาว์เวอร์ และจากนั้นเขาก็ขยายสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นท์
และขยายเชนบริหารโรงแรมในต่างจังหวัด ที่พัทยา หาดใหญ่และสงขลา
ส่วนสุระต้องการเป็น tycoon คนแรกชาวอินเดียในไทยที่ได้การยอมรับและสายสัมพันธ์
(connection) จากวงสังคมผู้ดีเก่าและทายาทตระกูลใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินทำเลงาม
หลัง จากประสบความสำเร็จในฐานะนักค้าที่ดิน ชาวภารตะแล้ว
กรณีของสุพจน์ เดชสกุลธร ที่มีปมด้อยกว่าทั้งสองมากทั้งการศึกษาและภูมิหลังชีวิต
ยิ่งอยากทะยานบินสูงระดับมังกรเทียบชั้นนายแบงก์อย่าง ล่ำซำและโสภณพนิช โดยทำฝันให้เป็นจริงด้วยเงินประชาชนที่ระดมเข้ามาอยู่ในสถาบันการเงินตนเอง
' สอง-สายสัมพันธ์ (Connection)
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเรื่องของconnection เป็นเรื่องสำคัญมาก
ที่ทำให้ธุรกิจชนะคู่แข่งได้สำเร็จ เช่น สว่าง เลาหทัย แห่งกรุงศรีฯ ที่มีมิตรคู่บ้านอย่างชาตรี
โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ หรือเถลิง เหล่าจินดาที่ได้สายทางทหารจากการทำงานร่วมกับสหัท
มหาคุณ
พร สิทธิอำนวย เจ้าของอาณาจักรพีเอสเอ เคยกล่าวว่า "การทำงานให้กับคุณบุญชู
ถึงสิบกว่าปีนั้น คือการสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นโดยใช้บารมีของผู้ใหญ่เพื่องานในอนาคต"
สายสัมพันธ์จึงเป็นสะพานที่เชื่อมฝั่งน้ำสองฟากเพื่อให้ผู้ประกอบการเดิน
จากฝั่งตัวเองไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้สำเร็จ
เพียงแต่สามสุนั้นมีสายสัมพันธ์ลักษณะทางอ้อม เช่นสุระ จันทร์ศรีชวาลา ที่ต้องพึ่งบารมีของ
สุขุม นวพันธุ์ แห่งแบงก์ทหารไทย เมื่อสุขุมหมดอำนาจ สุระก็เริ่มจับ ภิวัฒน์
นันทาภิวัฒน์ แห่งแบงก์แหลมทอง พอสิ้นภิวัฒน์ สุระก็เข้าหาสุธีโดยหวังจะต่อสายถึงบุญชู
โรจนเสถียร แต่ไม่นานนักสุระก็ได้พบตามใจ ขำภโตแห่งแบงก์กรุงไทย และกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งในที่สุด
' สาม-เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ (Innovator)
บุคคลตัวอย่างของสามสุในแง่ INNOVATOR คนแรก คือ พร สิทธิอำนวยได้ริเริ่มนำคอนเซปต์ธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ฐานเงินประชาชนโดยตัวเองยังคุมอำนาจ
บริหาร แล้วนำไปขยายธุรกิจต่างๆ เช่น บุกเบิกธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในนามบริษัทสยามเครดิต
และรู้จักระดมเงินมหาชนโดยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯถึง 3 บริษัท
คือ บริษัทรามาทาวเวอร์ บริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ และบริษัทสยามเครดิต
การที่สุธีทำงานกับพรมาตลอด ทำให้เขาเจริญรอยตามพร และสุพจน์กับสุระก็เจริญรอยตามสุธีเช่นกัน
โดยมีฐานการเงินเป็นบริษัทไฟแนนซ์และบริษัทประกันชีวิต จากนั้นก็ขยายธุรกิจไปอีกสองประเภทคือ
หนึ่ง-ธุรกิจพัฒนาที่ดิน เช่นบ้านจัดสรร และสอง-ธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม
ท่องเที่ยวและธุรกิจอาหาร
ทั้งสามสุจึงเป็นตัวแทนของคนหนุ่มที่ไร้สกุลรุนชาติแต่มีฝีมือจัดจ้านที่จะเข้ามาอยู่แก่นกลางของอำนาจคุมธุรกิจได้
แต่ความล้มเหลวและผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นด้วยหลักใหญ่ๆหลายประการคือ
' หนึ่ง-รู้ซึ้งไม่ถึงแก่นธุรกิจที่ตนเองทำ การรู้จักแต่หมุนเงินอย่างเดียว
จนไม่มีเวลาควบคุมดูแลธุรกิจหลัก ทำให้สุธี นพคุณต้องพลาดเพราะธุรกิจที่ขยายออกไปเช่น
โรงแรม หรือรามาข้าวแกง ตลอดจนบริษัทประกันชีวิต สุธีไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับสุพจน์ที่รับฝากให้ดอกเบี้ย
18% แต่ปล่อยกู้ให้คนรู้จัก 16% ส่วนสุระก็เป็นนักเก็งกำไรซึ่งมีปัญหาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
' สอง-ใจร้อนอยากให้คนยอมรับเร็วเกินไป ทั้งสามเพิ่งเข้าวงการได้เพียง 5-6
ปี แต่ฝันไปไกล-ไปไม่ถึง เพราะขาดความอดกลั้นและการรอคอย
เมื่อรามาทาวเวอร์เป็นบริษัทมหาชนที่กำไรมากและไม่มีหนี้สิน ถ้าสุธีอดทนและขายทุกสิ่งทิ้งไปเหลือแต่รามาทาวเวอร์
วันนี้สุธี นพคุณจะมีความสุขบนกองเงินกองทอง เพราะโครงการคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยที่สุดบนถนนสีลมขณะนั้น
อันประกอบด้วย โรงแรมรามาฯ ชอปปิ้งเซนเตอร์ และคอนโดมิเนียมสำนักงานจะทำกำไรงามๆ
แก่กลุ่มรามาทาวเวอร์
ขณะที่เยาวราชไฟแนนซ์ของสุพจน์ทำกำไรทันทีกับผู้ถือหุ้นในปีที่สอง และเป็นที่น่าเชื่อถือของพ่อค้าชาวจีน
การขยายธุรกิจไฟแนนซ์โดยขอเพิ่มทุน ก็ไม่มีปัญหา แต่สุพจน์กลับเอาเงินไปขยายทำธุรกิจที่ตนไม่รู้ซึ้งจึงต้องจบลงที่คุก
ส่วนสุระที่นิยมสะสมที่ดินเป็นทุน ฐานธุรกิจหลักที่มิดแลนด์ไฟแนนซ์และไทยประสิทธิประกันภัยจึงเป็นสิ่งที่สุระจับไว้ให้มั่น
' สาม-ชอบทำตัวให้เด่นจนเป็นภัย จากการที่ทั้งสามเป็นคนนอกวงการที่เข้าสั่นคลอนสถานะภาพเดิมของคนยุคเก่า
ทำให้เป็นที่หวาดระแวงและจ้องทำลาย และยิ่งทั้งสามตกเป็นข่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่สุธีไปผูกกับบุญชู
โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรี ทำให้คนมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจการเมือง หรือสุพจน์ในยุคเฟื่องฟูไม่เห็นความสำคัญของคนอื่นและก้าวร้าว
ทำให้สร้างศัตรูง่าย ส่วนสุระที่มีฉายาจอมเทคโอเวอร์และตกเป็นข่าวในแง่ลบบ่อยๆ
ทำให้เกิดโรคกลัวแขกระบาดและเกิดการต่อต้านจากกลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
' สี่-ขาดคุณธรรมกำกับวิธีการดำรงชีวิต ดร.อำนวย วีรวรรณเคยเขียน บัญญัติ
7 ประการแห่งความสำเร็จไว้ว่า "ผมใคร่ขอย้ำว่า อย่าพึงสร้างความสำเร็จด้วยทางลัดเพราะยากที่จะเป็นไปได้
หรือถึงเป็นไปได้ก็ไม่จีรังยั่งยืน ขอให้ทุกคนจำไว้ว่า หนทางสู่ความสำเร็จที่ถาวรนั้นยาวไกลและไม่มีทางลัดใดๆด้วย"
ปัญหาเรื่องคุณธรรมของทั้งสามสุถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ เงินหายไปไหนหลังวิกฤตพัฒนาเงินทุนล้ม?
หรือการปั่นราคาขายที่ดินโรงแรมรามาการ์เดนท์ ? การเสียเงินพนันหลายสิบล้านของสุพจน์?
นี่คือสัจจธรรมที่ยั่งยืนทุกยุคสมัย โดยผู้ประกอบการคนหนุ่มสาวที่ก้าวเข้ามาแบบไม่มีสายสัมพันธ์และทุนสะสมของตระกูลเก่าแก่
แต่มีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ มีฝีมือ มีความสามารถและความมานะพยายามจนประสบความสำเร็จแบบที่สุธี-สุพจน์-สุระได้เคยทำมาแล้ว
แต่ธุรกิจต้องประสบหายนะเพราะสะดุดขาตัวเอง จึงเป็นกรณีธุรกิจที่จบลงอย่างเจ็บปวดและขมขื่นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ถึงกระนั้นประเทศไทยก็ควรจะมีคนอย่าง"สามส"นี้ให้มากๆ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ
SME ที่เรียนรู้จากคนยุคเก่าได้ โดยไม่ต้องผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีกต่อไป
หมายเหตุ จากเรื่อง"เราควรจะมีคนอย่าง"สามสุ"นี้มากๆ"ในนิตยสารผู้จัดการ
ฉบับที่ 10 เดือนมิถุนายน 2527