|
ล้มมาตรการกันสำรอง30%
ผู้จัดการรายวัน(27 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“ฉลองภพ” ล้มมาตรการ 30% เผยแบงก์ชาติกำลังพิจารณายกเลิก เพราะตอนนี้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ไม่มีผลต่อภาคปฏิบัติแล้ว ขณะที่แบงก์ชาติเรียกนายแบงก์ประชุมด่วน สกัดบาทแข็งพร้อมหาค่าบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ลืออาจย้อนยุคผูกค่าเงิน ส่งผลบาทวานนี้อ่อนยวบไปอยู่ที่ 35.06 บาทต่อดอลลาร์
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ขณะนี้มาตรการดังกล่าวไม่มีผลทางการปฏิบัติ เพราะหากใครจะนำเงินเข้ามาในประเทศก็สามารถทำสัญญาแลกเปลี่ยน (สวอป) ล่วงหน้าโดยไม่ต้องสำรอง 30%มาตรการนี้จึงคล้ายๆ กับยังอยู่ในกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
"สาเหตุที่ยังไม่ประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ในช่วงนี้ จะต้องรอจังหวะให้ ธปท. เป็นผู้พิจารณา แต่ยอมรับว่าทางปฏิบัติไม่มีผล สำหรับการประกาศยกเลิกตอนนี้ก็เปรียบเป็นกระดาษที่แค่เปลี่ยนกระดาษ แต่ที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนและนักลงทุนเข้าใจ เพราะจริง ๆแล้วมีมาตรการให้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนได้โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นช่วงนี้ใครจะนำเงินเข้ามาก็ไม่ต้องสำรองแล้ว"
ลือผูกค่าบาทส่งผลอ่อนยวบ 35.06
นักบริหารเงินธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (26 มี.ค.) บาทอ่อนค่าเล็กน้อย ปัจจัยสำคัญเกิดจากนักลงทุนตื่นข่าวลือกรณี ธปท.ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการดูแลค่าเงินโดยสั่งห้ามขายดอลลาร์ เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป
โดยวานนี้บาทต่อดอลลาร์เปิดตลาดที่ 34.98/35.00 ปิดตลาดที่ 35.04/06 อ่อนค่าลงจากวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้นำเข้าเทขายเพราะคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก หลังจากระยะ 2-3 วันที่ผ่านมามีข่าวลือว่า ธปท. อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติม และวานนี้ตลาดเกิดข่าวลืออีกว่า ธปท.อาจผูกติดค่าเงินบาทไว้ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ ประกอบกับค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรก็ปรับอ่อนค่าลง เนื่องจากดอลลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุล จากยอดขายบ้านในสหรัฐดีกว่าที่ตลาดคาดารณ์
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดอยู่ที่ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนอ่อนค่าในวันศุกร์มาปิดที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.00 น.วานนี้ ธปท.ได้เรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาประชุมที่ ธปท.สำนักงานถนนสุรวงศ์ ท่ามกลางกระแสข่าวที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ธปท.อาจยกเลิกมาตรการ 30% ตามที่นายฉลองภพพยายามส่งสัญญาณผ่านสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ ธปท.อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาท หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมาได้กำชับให้นายธนาคารช่วยดูแลค่าเงินด้วยการหยุดขายดอลลาร์
"แบงก์ชาติคงหารือกับนายแบงก์เกี่ยวกับค่าเงินบาทที่เหมาะกับเศรษฐกิจไทย ยังมีข่าวลือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องผูกค่าเงินบาทที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็คงไม่ง่าย" แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเผย
โฆสิตถกเอกชนหาทางออกบาทแข็ง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มี.ค.) จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เพื่อที่จะทางที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในเวลาที่เหลือของรัฐบาลนี้ซึ่งจะมองภาพใหญ่เป็นหลัก รวมไปถึงภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของค่าเงินบาทแข็งค่าด้วย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.จะนำสมาชิกกลุ่มผู้ส่งออกอาทิ อาหาร และอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง สิ่งทอ ฯลฯ เข้าหารือกับนายโฆสิต ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยประเด็นที่จะหารือเป็นเรื่องทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงความคืบหน้ากรณีส.อ.ท.ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไปเร่งหารือกับภาคเอกชนทุกส่วนเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าค่อนข้างเห็นได้ชัดได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหาร อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง สิ่งทอพบว่า ในช่วงรอยต่อค่าเงินบาทในช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้ผลจากค่าบาทที่แข็งขึ้นทำให้ฉุดรายได้จากการส่งออกไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาททำให้บางรายไม่กล้าที่จะรับยอดคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์การผลิตเพิ่มขึ้นเพราะเกรงจะมีปัญหาขาดทุน และบางรายเริ่มมีการลดการผลิตลงบ้างแล้ว ซึ่งหากปล่อยไประยะยาวอาจนำไปสู่การปลดคนงาน
ส่งออกผวา 33 บาทวิกฤติแน่
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างมองว่าหากบาทแข็งค่าในระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯจะนับเป็นวิกฤติสำหรับผู้ส่งออกค่อนข้างมากเพราะจะกระทบอย่างหนักกับกลุ่มส่งออกหลักๆ ทั้งอาหาร และสิ่งทอที่เป็นสินค้าที่ไทยได้มูลค่าเพิ่มมากในระดับต้นๆ อย่างไรก็ตามการกำหนดให้บาทไม่แข็งค่านั้น เอกชนยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่สิ่งที่เอกชนมองคือบาทไทยมีพื้นฐานแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก และแม้ปัจจุบันจะเริ่มมาดีขึ้นบ้าง แต่เฉลี่ยก็ยังสูงกว่าทั้งเวียดนาม และจีน
นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า ปัญหานี้มีสะสมมาตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากเปรียบกับประเทศเวียดนามที่มีการลงทุน โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ทำให้การแข่งขันในระยะยาวประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นจึงต้องคิดผลความสามารถในการแข่งขันระยะ 4-5 ปี หากไทยไม่มีการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ก็จะลำบาก ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
“ทำอย่างไรสร้างความมั่นใจให้คนไทยลงทุนเพิ่ม ให้คนต่างด้าวลงทุนเพิ่มขึ้น เมื่อไรมีการซื้อเครื่องจักรใหม่ การลงทุนใหม่ ๆก็จะเพิ่ม เพราะหากมีการซื้อเครื่องจักรที่ใช้ค่าเงินต่างประเทศซื้อ เมื่อใช้เงินดอลล่าห์ซื้อ ความต้องการดอลล่าห์ก็จะเพิ่มขึ้น ค่าเงินดอลล่าห์ก็จะเพิ่ม ค่าของเงินบาทก็จะต้องลดลง แต่ที่ผ่านมาเราแก้ที่ปลายเหตุกันมากเกินไป” นายสมชายกล่าว.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|