"ไอบีเอ็ม" ประกาศวางยุทธศาสตร์3ด้าน หลังผลการดำเนินงานรอบปี 45ทะลุเป้า


ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีเอ็มประกาศความสำเร็จผลการดำเนินงานปี 2545 เติบโตทุกกลุ่มผลิต ภัณฑ์ทุกเซกเมนต์ ตัวเลขไอดีซี ชี้ชัดครองอันดับหนึ่งทั้งตลาด สตอเรจ เซิร์ฟเวอร์ อินเทอร์เน็ตอินฟราสตรักเจอร์ รวมทั้งตลาดคอมพิวเตอร์ ด้านธุรกิจเซอร์วิสคว้าโปรเจ็กต์ใหญ่สร้างรายได้หลัก มหาศาล พร้อมเปิดยุทธศาสตร์ปี 2546 พุ่งเป้ารับวิสัยทัศน์สู่บิสซิเนส ออนดีมานด์ด้วยการวาง 3 นโยบาย หลัก รักษาความเป็นอันดับหนึ่งผู้นำไอที พัฒนาทีมงานไอบีเอ็มมุ่ง ตอบสนองลูกค้าทั้งผลิตภัณฑ์และ บริการ และการปรับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร

นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการของไอบีเอ็ม ประเทศไทยเติบโตขึ้นเกินเป้าหมาย ที่วางไว้ จากตัวเลขของไอดีซีระบุว่าไอบีเอ็มเติบโตขึ้นในทุกสายผลิต ภัณฑ์และบริการ โดยเป็นอันดับหนึ่งในหลายตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสตอเรจที่แซงหน้าบริษัท อีเอ็มซี ด้านอี-บิสซิเนสและอินเทอร์เน็ต ผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตอินฟราสตรักเจอร์ซอฟต์แวร์เป็นอันดับที่หนึ่งเช่นกัน

ด้านตลาดคอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊กสามารถเอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างเอชพีได้ ไอบีเอ็มมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องการบริการ เสริมช่องทางการจัดจำหน่ายและปรับเปลี่ยนเรื่องราคา ทำให้สามารถ แข่งขันได้ในตลาด นอกจากนี้ตลาด เซิร์ฟเวอร์เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ ไอบีเอ็มประเทศไทยสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง โดย มีส่วนแบ่งทางการตลาด 36.8% เหนือคู่แข่งขันทั้งซันไมโครซิสเต็มส์ และเอชพี

สำหรับตลาดบริการหรือเซอร์วิสมีอัตราการเติบโตขึ้นจนเป็นรายได้ใหญ่ที่สำคัญของไอบีเอ็มในปัจจุบัน เนื่องจากการได้โปรเจ็กต์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยและไทยทนุ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับไอบีเอ็มโกลบอล หลังจาก ที่ไอบีเอ็มมีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจนี้ รวมทั้งการได้ไพรซ์วอ- เตอร์เฮ้าคูเปอร์ส เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจบริการ ทำให้ไอบีเอ็มสามารถครอบคลุมตลาดได้กว้างขวางขึ้น ทั้งตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ ตลาดระดับกลางและล่าง ในงานบริการปรึกษาด้านไอทีแพลนนิ่งและบิสซิเนสแพลนนิ่ง

หากมองในแง่ของรายได้ยังคงมาจากตลาดองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งแบงก์ เทลโก้ และราชการ แต่ที่นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของ ไอบีเอ็มก็คือการที่รายได้จากตลาด องค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้น กลายเป็นรายได้ที่น้อยกว่ากลุ่มลูกค้าขนาดกลางและเล็ก ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

เรามีนโยบายทำตาดของกลาง และเล็กมาตลอด แต่ภาพลูกค้าของไอบีเอ็มส่วนใหญ่ทุกคนมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของอย่างรวดเร็วของธุรกิจขนาดกลางและเล็กทำให้เราต้องเข้ามาโฟกัสเป็นพิเศษ เห็นได้จากการเปิดศูนย์ไอบีเอ็มในภูมิภาคถึง 4 แห่ง ที่เชียงใหม่ โคราช พัทยาและหาดใหญ่ และจะเปิดอีก 5 แห่งในปีนี้ ย่อมเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าไอบีเอ็มจะให้ความสำคัญกับตลาดนี้ แต่ตลาดใหญ่เราก็ยังมุ่งเน้นอยู่ต่อไปด้วย"

การเปลี่ยนที่สำคัญในธุรกิจของไอบีเอ็มประเทศไทยอีกประ การหนึ่ง คือการขายหุ้น 70% ในโรง งานผลิตสตอเรจที่ปราจีนบุรีให้กับบริษัทฮิตาชิ ตามนโยบายของ ไอบีเอ็มโกลบอล โดยไอบีเอ็มจะถือหุ้นเหลือเพียง 30% เนื่องจากต้องการลดภาระด้านการผลิตลง แต่ด้านการขายยังคงดำเนินการอยู่ อย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นที่เกี่ยวเนื่องต้องอาศัยการทำตลาดร่วมกับสตอเรจ

สำหรับนโยบายของไอบีเอ็มประเทศไทยที่จะมุ่งไปในปี 2546 นี้ นายทรงธรรมกล่าวว่า ได้ให้ยุทธ-ศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ 3 ประ การหลัก ได้แก่ 1.การที่ทำให้ไอบี เอ็มครองความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมไอทีต่อไปในตลาด โดยอาศัยความได้เปรียบในธุรกิจ ทั้งการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ออก สู่ตลาด การมีศูนย์วิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในจุดนี้ทางบริษัทก็จะนำมาเผยแพร่สู่ตลาดประเทศไทย

ที่สำคัญในปีนี้จะเป็นปีที่ ไอบีเอ็มนำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ในเรื่องของอี-บิสซิเนสออนดีมานด์ ถือเป็นอนาคตของไอบีเอ็มที่ต้อง การสร้างความแตกต่างในธุรกิจ ทั้งนี้ไอบีเอ็มจะนำเรื่องออนดีมานด์พัฒนาลงไปในทุกผลิตภัณฑ์ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และบริการ รวมทั้งจะนำเสนอแนวคิดนี้สู่ภาคราชการให้เกิด e-Government เพื่อผลักดันให้ภาครัฐสามารถดำเนินงานด้านบริการได้แบบธุรกิจภาคเอกชน

นอกจากนี้ยังสนับสนุนเรื่องของโอเพ่นคอมพิวติ้ง หรือระบบมาตรฐานแบบเปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลีนุกซ์ ฮาร์ดแวร์ทุกตัวของ ไอบีเอ็มจะต้องรันลีนุกซ์และทำ งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านธุรกิจเซอร์วิสบิสซิเนส หลังจากมีการรวมทีมระหว่าง ไอบีเอ็มและไพรซ์ฯ ร่วมกันผลักดันธุรกิจ คาดว่าไอบีเอ็มจะสามารถ เซ็นสัญญาโครงการใหญ่ได้อีกหลายโครงการ

ขณะที่ธุรกิจบางอย่างไอบีเอ็ม จะเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับบริษัท อื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการ พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านแอปพลิเคชั่น ที่ไอบีเอ็มไม่มีความถนัดก็จะเข้าไปร่วมกับบริษัทอื่น หรือในตลาดเน็ตเวิร์กได้เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทซิสโก้ ที่ปัจจุบันไอบีเอ็มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโกลด์พาร์ตเนอร์

2.การให้ทีมงานภายในบริษัท มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ไอบีเอ็ม มีโปรแกรมที่จะกระตุ้นให้พนักงานสร้างศักยภาพการทำงานกับลูก ค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3.การสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานภายในองค์กรทุกคนเกิดแรงผลักดันที่สร้างสรรค์งานออกมาให้ดีที่สุด จากการปรับเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จะถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับการทำงาน ให้เพิ่มสูงขึ้น

"เราต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการทำงานภายในบริษัท พยายามลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นในทุกส่วน พนักงานสามารถพูดคุยกับฝ่ายบริหารได้โดยตรงทันที"

ส่วนกลุ่มพาร์ตเนอร์ของ ไอบีเอ็มนั้น จะมีการเปิดระบบอินทราเน็ตเพื่อใช้ในการติดต่อระหว่างไอบีเอ็มและพาร์ตเนอร์ทุกราย ในส่วนนี้จะช่วยให้ลดขั้นตอน การติดต่อและทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.