ดันไทยศูนย์กลางภาพยนตร์ สั่งธพว.ตั้งกองทุนให้กู้ดบ.ตำ


ผู้จัดการรายวัน(18 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"สมศักดิ์" เดินเครื่องผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ สั่งบีโอไอพิจารณาลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์การถ่ายทำ หวังดึงหนังฮอลลีวูดเข้ามาถ่ายทำในไทย พร้อมสั่งธพว.ดูแลเรื่องการจัดตั้งกอง ทุนเพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเพื่อเอื้อให้ธุรกิจภาพยนต์ไทยโกยรายได้ส่งออก ระบุธุรกิจภาพยนตร์ไทยมีโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 5,630 ล้านบาท หลังล่าสุดปี 2545 ทำรายได้แล้ว 2,000 ล้านบาท

วานนี้ (17มี.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับสำนัก งานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย สมาพันธ์ภาพยนตร์ไทย บริษัท GMM Grammy จำกัด (มหาชน) บริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด บริษัท ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ได้หา รือถึงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ส่งเสริมการส่งออกภาพยนตร์ไทยไปต่างประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นหากมีการสนับสนุนธุรกิจภาพยนตร์จะทำรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 5,630 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากผู้สร้างภาพยนตร์ไทย แยกเป็นจากโรงภาพยนตร์ชั้น1 (ส่วนแบ่ง 50%) 350 ล้านบาทจากโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด 150 ล้านบาท อื่นๆ เช่น ขายลิขสิทธิ์ VCD 105 ล้านบาท การฉายภาพยนตร์ในไทย 700 ล้านบาท จาก การฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ 2,300 ล้านบาท การส่งออก 25 ล้านบาท การถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศในไทย 1,000 ล้านบาท การบริการห้องแล็บภาพยนตร์ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี2545 ที่ผ่านมาธุรกิจกิจภาพยนตร์ ทำรายได้ถึง 2,000 ล้านบาทจากอดีตที่ทำรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าโอกาสที่ไทยจะผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการทำรายได้ให้กับประเทศไทยมีมาก อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวยังเอื้อให้กับการท่องเที่ยวอีกด้วย

"จะมีการหารือในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ ของบีโอไอว่าจะปรับอย่างไรให้เอื้อต่อการลงทุนของไทยและของต่างชาติที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ซึ่งมีการพูดถึงการลดภาษีอากรเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้า โดยเรื่องของภาษีจะมีการประสานไปยังคลังต่อไป ขณะเดียวกันยังให้มีมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเฉพาะเพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยได้มอบให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม (ธพว.) รับไปดูแล"นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันระบบภาษีไม่ เอื้อต่อการลงทุนธุรกิจภาพยนตร์ในไทย เนื่องจากภาษีค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมขั้นเตรียมการ (Pre Production) ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทสร้างภาพยนตร์ 30% ขั้นผลิต (Production) อากรนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ 20% ภาษีเงินได้บุคคล สำหรับนักแสดง โดยเงินได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 300,000 บาทเสีย 60% มากกว่า 300,000 บาทเสีย 40% ภาษีเงินได้นิติบุคคล โรงถ่าย 30% และขั้นตัดต่อ (Post Production) อากรนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องมือในห้องแล็บ 20% อากรนำเข้าสินค้าต้นแบบ 20% ภาษีเงินได้นิติ บุคคล 30%

สำหรับมาตรการสนับสนุนเพื่อให้ต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์และการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่อง ในไทย เอกชนได้เสนอให้มีการจัดตั้ง One Stop Service ที่แท้จริงในการขออนุญาตดำเนินการจากทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ใช้มาตรการบีโอไอในการอำนวยความสะดวกด้านการขอวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงาน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร โดยจัดให้มีหลักสูตรเฉพาะหรือสถาบัน เฉพาะทาง ซึ่งมิใช่เฉพาะด้านการแสดง แต่ให้ครอบคลุมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ได้มีการวิเคราะห์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยพบว่า มีจุดแข็งที่ไทยมีธุรกิจครบวงจรอยู่แล้วตั้งแต่ Pre จนถึง Post production มีบุคคลากรที่มีทักษะฮอลลีวูดมี แนวโน้มถ่ายทำภาพยนตร์นอกสหรัฐฯเพื่อลด ค่าใช้จ่าย จุดอ่อน คืออัตราอากรขาเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์สูง มาตรการสนับสนุนด้านการเงินไม่ได้ โอกาสโรงภาพยนตร์ไทยพัฒนาไปสู่มาตรฐานระดับสูงได้และเพื่อนบ้านมีวัตนธรรมใกล้เคียงกับไทยนิยมละครไทยทำให้มีโอกาสการส่งออก อุปสรรค คือ การแข่งขันจากภาพยนตร์เกาหลีใต้เพิ่มเติมจากการแข่งขันจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดและฮ่องกง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.