|
เปิดสูตร 'คนเก่ง' ฉบับเซเว่นฯ 'ปัญญาภิวัฒน์' ปั้นป้อนธุรกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บุคลากรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ การสร้างบุคคลกรหรือพนักงานให้ได้ดั่งใจตอบโจทย์เป้าหมายการเติบโตในอนาคตย่อมเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทั้งแรงจูงใจสำคัญ
จะเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจใหญ่การลงทุนที่เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและต่างชาติ ความต้องการของบุคลากรในอาชีพมีสูง แต่ปัญหาที่พบคือความถี่ในการเข้า การออก ของพนักงานที่ส่งผลต่อการพัฒนา
ทำให้เมื่อปี 2547 บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าดำเนินธุรกิจการศึกษาภายใต้ชื่อโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ และได้ทำการปรับปรุงสถานที่เดิมพร้อมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกเพื่อผลิตบุคคลการป้อนบริษัทในเครือเซเว่นฯ กว่า 10 บริษัท
ล่าสุด ในปี 2550 บริษัทได้เดินเครื่องสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ รวมถึงผ่านสื่อทีวีเพื่อกระจายการรับรู้ในวงกว้างเป็นครั้งแรก พร้อมเดินหน้าตั้งเป้าการขยายศูนย์การศึกษาแห่งนี้ครบ 20 ศูนย์
"หัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก คือ พนักงานบริการ และการแข่งขันในอนาคตไม่ใช่ที่สินค้าหรือบริการ แต่แข่งกันที่ใครมีคนเก่งกว่ากัน"
พูนธนา มุสิกบุญเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจและผู้ช่วยกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” หลังจากเดินทางกลับจากประเทศสิงคโปร์เพื่อศึกษาดูงานการจัดการการศึกษาและเทคโนโลยีการถ่ายทอดวิชาการ ถึงกรณีที่บริษัทเข้ามาดำเนินการธุรกิจการศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก
และรับมือการแข่งขันในอนาคตในการสร้างคนของเซเว่นอีเลฟเว่นรองรับการเติบโตของธุรกิจที่ตั้งเป้าระยะใกล้ภายใน 3 ปี จะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 5,000 สาขา พร้อมการเติบโตของบริษัทในเครืออีกกว่า 10 บริษัท เช่น บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด บริษัท บุ๊คสไมล์ จำกัด ฯลฯ รวมแรงงานของบริษัททั้งหมดกว่า 40,000 คน แต่มีการเข้า ออก หมุนเวียนประมาณปีละ 10,000 คนต่อปี
ฉะนั้นโรงเรียนแห่งนี้จะสร้างคนเก่งตามที่ธุรกิจค้าปลีกต้องการ ซึ่งในเบื้องต้นการผลิตบุคลากรนั้นจะป้อนเซเว่นอีเลฟเว่นและบริษัทในเครือ โดยจัดสอนระดับ ปวช. ประเภทวิชาพาณิชยกรรม หลักสูตรค้าปลีกธุรกิจค้าปลีกในวิชาบัญชีธุรกิจ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างไฟฟ้า แมคคาทรอนิกส์และเพิ่งขยายสาขาโลจิสติกส์ รวมแล้วจะสามารถผลิตคนได้ปีละ 3,000-4,000 คน แต่เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเซเว่นฯ ปีละ 500 สาขา ตำแหน่งงานที่ต้องการ 5,000 คน ซึ่งนักเรียนที่จบรับประกันการได้งานทำ
"ในยุคของการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกเป็นไปอย่างดุเดือด กลับไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานของคนในภาคอุตสาหกรรมเพราะมีการเข้า ออกอยู่เป็นประจำถึงขั้นขาดแคลนแรงงาน สาเหตุเกิดจากแรงงานในธุรกิจค้าปลีกระดับพนักงานขายที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากนั้นมีอายุไม่มาก และปรับตัวเข้ากับการทำงานได้ยาก เพราะบางคนเพิ่งจบจากโรงเรียน และระยะเวลาในการประกอบอาชีพสั้น เพราะไม่มีใครต้องการเป็นพนักงานขายจนแก่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นธรรมชาติของแรงงานในธุรกิจค้าปลีกบ้านเรา"
ซึ่งการสร้างคนเก่งของเซเว่นฯ ได้มีโครงการขยายต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่จะเปิดตามมาในอนาคตคือด้วยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (แจ้งวัฒนะ) เพื่อเปิดรับบุคลากรทั่วไปที่จะเข้ารับการศึกษา ทำให้เกิดการต่อยอดสร้างพนักงานในทุกระดับและเป็นฐานต่อให้กับผู้ที่ศึกษาต่อในระดับ ปวช. ซึ่งเส้นทางการเติบโตของพนักงานจะมีความชัดเจน ไต่เต้าจากพนักงานขาย ผู้ช่วยสาขา ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการเขต สู่การเป็นเจ้าของเซเว่นอีเลฟเว่นในอนาคต ซึ่งควบคู่กับการศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป
หากมองถึงคนเก่งในแบบฉบับเซเว่นฯ นั้นต้องประกอบด้วย 1.ช่างเรียนรู้ หรือเรียนรู้ไม่ลดละ ตื่นตัวตลอดเวลา 2.มีทักษะหลากหลาย 3.ใจรักบริการ 4. ก้าวทันเทคโนโลยี 5. เป็นคนดีศรีสังคม
พูนธนา บอกว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นการถอดรูปแบบการพัฒนาบุคลากรในองค์กรเป็นการสร้างคนให้รักองค์กร เนื้อหาการเรียนการสอนตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพียงนำวิชามาเรียงใหม่เทียบกับการปฏิบัติงานให้ตรงกันซึ่งเป็นหลักสูตรระบบทวิภาวี คือสถานประกอบการ สถาบันการศึกษาจัดการศึกษาและฝึกอาชีพที่สถานประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาเซเว่นฯ ได้ดำเนินคอนเซ็ปต์ดังกล่าวกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 25 สถาบันมานานกว่า 10 ปีแล้ว
ซึ่งเมื่อเข้ามาดำเนินการบริหารโรงเรียนเองจึงไม่มีความแตกต่าง แต่จะสามารถทำระบบการเรียนและปฏิบัติได้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น การประเมินการเรียนและการทำงานของนักเรียนแต่ละคนทุกๆ วันศุกร์จาก 3 ฝ่ายคืออาจารย์ผู้สอน ฝ่ายบริหารร้านค้า (ครูฝึก) และฝ่ายบุคคล เพื่อดูว่านักเรียนคนนั้นๆ ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ในทางกลับกันเพื่อประเมินแบบการสอน รวมถึงสภาพการทำงานในองค์กรเหมาะสมกับนักเรียนหรือไม่หรือระเบียบต่างๆ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน ด้วยการดีไซน์หลักสูตรเรียนทฤษฎี 2 วันและปฏิบัติ (ทำงาน) 4 วัน
ขณะเดียวกันได้มีฝ่ายจิตวิทยา เพื่อใช้แนวความคิดสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อปรับทัศนคติแปลงมาเป็นพฤติกรรมการทำงาน เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีเกิดแก่วิชาชีพ ตนเอง ลูกค้าและสังคม ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป
"ลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อสินค้า บริการ พนักงานขายต้องดูแล เพราะเป็นผู้นำเงินมาให้ สอนให้เขาดูแลลูกค้า โดยมีจิตใจเป็นนักบริการที่ดี เพราะนักเรียนได้ฝึกทุกวันจากลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการ เพราะโจทย์คือการบริการ นักเรียนจะถูกหล่อหลอมด้วยวิธีการนี้ ฉะนั้น 3 ปีที่เรียนในระดับ ปวช.ทั้งกายและใจจะทำให้เป็นนักบริการที่ดี
รวมถึงมีกิจกรรมเสริมเพื่อฝึกฝนให้นึกถึงคนอื่นตลอดเวลา ด้วยวิถีพุทธให้นักเรียนมีจิตใจอ่อนโยน เริ่มจากสถานที่ต้องร่มรื่น ครูอาจารย์มีความเมตตา ให้อภัย เด็กจะถูกหล่อหลอมจากหลักสูตรเป็นเหมือนการขีดเส้นชีวิตประจำวัน"
และในปี 2550 นี้ จะขยายศูนย์การศึกษาปัญญาภิวัฒน์เป็น 20 ศูนย์ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 10 ศูนย์ ต่างจังหวัด 10 ศูนย์ เพื่อรองรับความพึงพอใจของผู้เรียนด้วยสโลแกนที่ว่าเรียนฟรี ใกล้บ้าน ทำงานในท้องถิ่น
พูนธนา กล่าวต่อไปอีกว่า ในอนาคตจะขยายการผลิตคนในสายธุรกิจค้าปลีกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งระบบป้อนสู่รายอื่นๆ อีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|