|
จาก Fish สู่การ Innovate ปูนซิเมนต์ไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เนื่องจาก 'Fish !' เป็นหลักปรัชญา ซึ่งแท้จริงก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกับปรัชญาตะวันออกไม่น้อย และนี่เองที่องค์กรในเมืองไทยหลายๆ แห่งอาจจะเคยใช้หลักการของฟิชในการบริหารงานมากันบ้างแล้ว แม้จะไม่เคยรู้จัก ดร.สตีเฟน ซี. ลันเดน มาก่อนเลยก็ตาม แต่สำหรับองค์กรไทยที่นำฟิชมาใช้อย่างเห็นผลเด่นชัดคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ซึ่ง มนูญ สรรคุณากร ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้นำหลักการฟิชมาใช้ในองค์กร เนื่องจากประมาณกลางปี 2545 คุณศิระ ศรีศุกรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในขณะนั้น ได้อ่านหนังสือ 'Fish !' และพบว่าแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ซึ่งมีอายุเกือบ 100 ปี และจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัฒน์และการแข่งขันของคู่แข่งในธุรกิจ โดยเฉพาะคู่แข่งจากภายนอกประเทศ
ในครั้งนั้นคุณศิระจึงมอบหมายให้คุณศาณิต เกษสุวรรณ ผู้จัดการส่วนผลิต และคุณสมพล ทองกัลยา ผู้จัดการส่วนการบุคคลฯ ที่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในขณะนั้น ไปทำการศึกษาหลักปรัชญานี้และหาทางขยายผลในการทำงานต่อไป และจากจุดนั้นเองก็นำไปสู่การจัดตั้ง 'คณะทำงานเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร' ในเวลาต่อมา
แนวทางการนำหลักปรัชญา 'Fish !' มาใช้ขั้นแรกจะต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจหลักการร่วมกันก่อนเสียก่อน นั่นก็คือ การสร้าง Work Fun Environment บนรากฐานของ Positive Organization ผ่านพนักงานระดับบังคับบัญชา เพื่อพัฒนาให้เป็น Key Communicator หรือผู้สื่อสารหลักการนี้ให้กับพนักงานทุกๆ คนในหน่วยงาน เริ่มจากการซื้อหนังสือเรื่อง 'Fish' แจกให้ทุกคนอ่าน และนำมาประชุมกลุ่มเพื่ออภิปรายหลักการที่ได้ไปอ่านกันมา ต่อมาก็ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลักการนี้ คือ ดร.วรากรณ์ สามโกเศส มาเป็นผู้บรรยายเพื่อสร้างความเข้าใจและแรงดลใจที่จะนำหลักการนี้ไปใช้ต่อไป
ต่อมาได้สร้าง Skk Core Values ด้วยการเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจทั้งหมดของบริษัทเข้ากับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของพนักงานในองค์กร ออกมาเป็นโปรแกรมที่เรียกว่า '3…2…1…Fit !' นั่นคือ 3 F : Fast Fact Friendship, 2 I : Initiative Intellectual และ 1 T : Teamwork นำไปสู่คำขวัญว่า "ตอบสนองทันที มีไมตรีและน้ำใจ ใช้ข้อเท็จจริง คิดสิ่งใหม่ ใฝ่รู้ มุ่งสู่ทีมงาน" พร้อมประดับโลโก้ 'Fish !' ปลุกเร้ากำลังใจทั้งออฟฟิศในทุกที่ที่จะมีพื้นที่ให้สื่อสารได้ การดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจะทำภายใต้หลักการ 3C คือ Commitment Communication และ Consistency โดยผู้บริหารได้เริ่มทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง โกวิท หาญณรงค์ ผู้จัดการประจำสำนักงานการบุคคลกลาง กล่าวถึงกรณีตัวอย่างว่า
"เมื่อสื่อสารจนเข้าใจหลักการกันแล้ว เราก็เริ่มทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ด้วยการที่ไม่มีป้ายจอดรถ VIP เวลาประชุมอบรม พนักงานส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบนั่งหน้า เพราะเกรงจะได้อยู่ใกล้ผู้บริหาร เมื่อทุกคนไปออกันอยู่ด้านหลัง ผู้บริหารของเราก็จะเข้าไปนั่งร่วมวงด้วยทุกครั้ง แม้แต่เรื่องความกล้าที่จะให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เพราะเราเล็งเห็นว่าการดูแลระบบการทำงานของเครื่องจักรที่โรงงานแก่งคอยนั้น ตามปกติเราให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเป็นคนดูแลมาโดยตลอด"
แต่เราปรับเปลี่ยนด้วยการให้ช่างคนไทยเข้าไปดูแลแทน แม้ว่าเราจะไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าเขา แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ต้องพึ่งตัวเอง เราก็กล้าที่จะลองให้คนของเราทำกันเอง และก็เกิดความผิดพลาดขึ้นจริงๆ ซึ่งตรงนี้เองผู้บริหารแสดงความจริงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กรให้เห็น ด้วยการเดินเข้าไปตบไหล่แสดงความชื่นชมพนักงานที่ทำผิดพลาด
และให้กำลังใจให้เขาเอาเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นต่อไป อย่าเพิ่งท้อถอย เพราะทำได้แค่นี้ถือว่าดีแล้วสำหรับที่ผ่านมาทั้งหมด และนี่เองเป็นจุดที่ทำให้การทำหลักการของ Fish มาใช้ เกิดการขยายตัวต่อไปได้อย่างเห็นผลจริงภายใน 1 ปี จนในที่สุดเราสามารถก้าวไปสู่การ Empowerment และ การ Innovate องค์กรได้”
ความสำเร็จของโรงงานที่แก่งคอยได้ขยายผลไปสู่ทุกส่วนของบริษัทในเวลาต่อมา โดยมีเป้าหมายว่าในที่สุดบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ทั้งหมดจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ให้กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยพนักงานที่มีพลังไฟทำงานอยู่เสมอ พร้อมรับมือคู่แข่งในทุกสถานการณ์และก้าวสู่ความเป็นผู้ครองตลาดในระดับภูมิภาคเอเชียได้ในเวลาไม่นาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|