ท่องเที่ยวไทย “โคม่า” เอกชน...แตกหัก/รัฐ สวนกระแสความจริง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตการณ์ท่องเที่ยวไทยส่อแววสะดุด!...เมื่อสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงจุดแตกหัก ขณะที่การขับเคลื่อนของ ททท.ยังหลงทาง วันนี้ท่องเที่ยวไทยจึงไม่ต่างจากถอยหลังลงคลอง

การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน หากเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างจีน เกาหลี มาเลเซียและเวียดนามแล้ว ดูเหมือนประเทศไทยนับวันยิ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลงไป ทั้งที่ในอดีตประเทศไทยเคยเฟื่องฟูและมีรายได้ด้านท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาโดยตลอด

จริงอยู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมือง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไข้หวัดนก และปัญหาอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยชะลอตัวลงไป แต่ปัญหานี้หากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังก็สามารถที่จะแก้ไขได้

แต่คงเป็นไปไม่ได้ยาก เมื่อสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวฝากความหวังไว้ว่าจะเป็นตัวจักรสำคัญในการต่อรองกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงให้คำแนะนำ มาวันนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับมีความคิดเห็นที่สวนทางกันจนยากที่จะประสานรอยร้าว

การลาออกของ 4 สมาคมท่องเที่ยวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ), สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า), สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถทนแบกรับได้อีกต่อไปได้ หรือหมายความว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหมดความสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาของภาคเอกชนแล้วหรือ?....

กลับกลายให้เกิด สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตต้า) ขึ้นมา และนับจากวันนี้ไปสมาพันธ์ฯ ดังกล่าวก็จะเป็นหัวหอกสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยล่าสุด เอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) และ อภิชาต สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และอีกหลายสมาคมฯ ด้านท่องเที่ยวประเดิมใช้ชื่อในนามของ สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตต้า) ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อช่วยเร่งกู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย

หากย้อนกลับไปถึงเหตุผลของ สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ในการยื่นใบลาออก ทางด้านกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.) ให้ความเห็นสทท.ต้องการให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน ซึ่งการรวมกันของภาคเอกชนที่ต้องนำหลายสมาคมและสมาพันธ์จากทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกก็เพื่อให้สทท.เป็นภาพใหญ่ ไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้

“ได้มีความพยายามในการเปิดเวทีให้อยู่แล้ว โดยได้ให้ตำแหน่งสำคัญในสทท.ด้วยการแต่งตั้งให้แอตต้าเป็นรองประธานฝ่ายการตลาด และทีเอชเอเป็นรองประธานฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ แต่เขาไม่เข้ามาคุยในเวทีมีแต่คุยนอกรอบ ซึ่งโดยส่วนตัวผมอยากทำหน้าที่เหมือนเลขาธิการสหประชาชาติอยู่แล้ว ต้องการเป็นตัวกลางในการประสานงานกันทั้งสองฝ่าย และก็พยายามที่จะนัดคุยกันหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้คุยกันเสียที”

ส่วนจะบอกว่าสทท.ไม่มีผลงานก็ไม่ถูก เพราะผลงานของสทท.ที่ผ่านมามีมากมาย ทั้งในเรื่องของการจัดทำจรรยาบรรณผู้ประกอบการท่องเที่ยว โครงการปิดทองหลังพระที่ทำร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นต้น สำหรับเรื่องผลงานล่าสุดที่ได้พยายามเร่งมือหลังจากผมเข้ารับตำแหน่งแค่ 6 เดือน ขณะนี้สทท.ได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อดำเนินการใน 2 โครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพ และ 2.โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในระดับCEO ซึ่งตรงนี้ ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน

ไม่สอดคล้องกับที่ อภิชาต สังฆอารี ที่กล่าวว่าตำแหน่งรองประธานสทท.หรือเวทีสทท.จะให้สมาคมฯ และทีเอชเอเข้ามารับตำแหน่งนั้นยังไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ เพราะต้องการพูดคุยกันให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งจะต้องหารือกันว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไรให้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดเหมือนเป็นการยัดเยียดให้ทำงาน

นอกจากนี้หน้าที่ของสทท.ไม่ใช่แค่การตลาด เพราะเรื่องตลาดแอตต้ามีการทำอยู่แล้ว ขณะที่สทท.น่าจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

“ปัญหาที่สนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหาหลายๆเรื่อง ซึ่งควรจะมีเรียกร้องหรือให้แก้ไขอะไรในนามของสทท.ในนามของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ดังนั้นจะบอกว่าเปิดเวทีให้แล้วก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”อภิชาต กล่าว

แม้ว่าการลาออกของหลายสมาคมท่องเที่ยวที่ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยออกมาปฏิเสธว่าไม่ส่งผลกระทบด้านท่องเที่ยวนั้น สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมาผลงานของ สทท.นั้นมักไม่มีเหล่าสมาคมดังกล่าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานนั่นเอง

“การถอนตัวของสมาคมหลักอย่างทีเอชเอและแอตต้า แต่โรงแรมและบริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่ก็สามารถเป็นสมาชิกหลายสมาคมพร้อมกัน อาทิ สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือทิก้า ซึ่งหากสทท.ต้องการความสนับสนุนจากโรงแรมและบริษัทนำเที่ยว ก็อาจจะผ่านทางสมาคมที่เป็นสมาชิกอยู่ แต่ทั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเรื่องของการขาดความสมานฉันท์”กงกฤช กล่าว

ขณะที่ อภิชาต สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้ความเห็นว่าหากมองสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะพบว่า นักท่องเที่ยวกว่า 80-90 % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด เดินทางผ่าน 4 สมาคม ได้แก่ แอตต้า ทีเอชเอ สทน.และสทอ.เป็นหลัก โดยทีเอชเอมีสมาชิกเป็นโรงแรมทั่วประเทศ แอตต้าส่งนักท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ สทน.ก็ส่งนักท่องเที่ยวไทยไปทั่วประเทศเช่นกัน หรือแม้กระทั่งสทอ.ก็ส่งนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปทั่วประเทศเช่นกัน

นั่นหมายถึงจะมีการย้ายฐานไปอยู่สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตต้า) อย่างแน่นอน เพราะที่ประชุมเฟสต้าได้มีมติให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสทท. เนื่องจากมีปัญหาต่างๆ ที่สะสมกันมานาน และพยายามมีการพูดคุยกันหลายครั้ง ผลสุดท้ายก็ไม่ได้มีการเจรจากันแต่อย่างใด และมีการส่งสัญญาณเพื่อรวมตัวตั้งกลุ่มเฟสต้าขึ้นมาแต่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับไม่สนใจ

“แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของเรา...” อภิชาต ตัดพ้อพร้อมกับกล่าวเสริมว่าส่วนที่สทท.ขอให้ทั้ง 5 สมาคมทบทวนอีกครั้งนั้น อันที่จริงเฟสต้ามีความพยายามที่จะคุยกันมาตั้งนานแล้วก็ไม่คุย แต่พอมีการยื่นใบลาออกกลับจะมาขอให้ทบทวนใหม่ คงเป็นไปไม่ได้จะคุยอะไรกันอีก ขณะเดียวกันก็มีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางของเฟสต้าต่อไปในอนาคต

หากการลาออกจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยครั้งนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่าถือเป็นจุดอ่อนของวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ภาคเอกชนไม่ยอมผนึกกำลังกัน รวมทั้งการสร้างความเป็นปึกแผ่น เพราะต่างคนต่างอาจจะยึดผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก จึงไม่ยอมทำงานร่วมกันเป็นทีมทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

ททท.กำลังหลงทาง

หลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า นับวันแนวโน้มการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งอย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลี และเวียดนาม มีการเติบโตในลักษณะที่สามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ ในปี 2533 ประเทศจีน มีส่วนแบ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวในสัดส่วน 5% แต่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้กลับเพิ่มเป็น มากกว่า 21% แล้ว

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากปี 2553 จีนกลับมีส่วนแบ่งที่ 19% เพิ่มมาเป็น 28% ขณะประเทศไทยเองกลับมีส่วนแบ่งลดลง อาทิ จากส่วนแบ่งด้านจำนวนที่เคยอยู่ที่ 9% ลดเหลือ 8% ส่วนรายได้จาก9.4% เหลือ เพียง 7.2% สำหรับประเทศมาเลเซียมีส่วนแบ่งรายได้จาก 3.6%เพิ่มเป็น 6.1% และเวียดนามขยับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2%

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไทยถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปมากขึ้นและต้องยอมรับว่าประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้คือจีน ล่าสุดได้สร้างถนนไฮเวย์5 เส้นทางรองรับการกระจายตัวไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จีนจะเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี2551 ซึ่งหลังการจัดงานแล้ว การท่องเที่ยวจีนจะบูมถึงขีดสุด ขณะที่เวียดนามมีการลงทุนสร้างสนามบินมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.6% ต่อปี และรายได้มีอัตราการเติบโตประมาณ 10.8% คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวกว่า 14.6 ล้านคน มีรายได้ประมาณ 5.29 แสนล้านบาท ถือว่าเติบโตตามแนวโน้มการท่องเที่ยวโลก แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันส่วนแบ่งรายได้ก็ลดลงเช่นกัน

สาเหตุดังกล่าวเกิดจากที่ผ่านมาไทยมีแนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพของมาเลเซียมีอัตราเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงของไทย เป็นสัญญาณเตือน ถึงแนวโน้มการเติบโตของไทยที่ถดถอย เพราะไทยไม่สามารถรักษาสถานะเดิมของตัวเองได้

ขณะที่ประเทศเวียดนาม มาเลเซียกลับโตขึ้นทุกวัน และกินส่วนแบ่งตลาดของไทยไปเรื่อยๆ

การให้ความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จึงไม่ใช่เพียงแค่หวังจะขายของเดิมๆหรือนั่งกินบุญเก่ากันอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการมี 3 ปัจจัยสำคัญ คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (Hardware) การปรับปรุงการบริหารจัดการภายในประเทศ (Software) และการพัฒนาบุคลากร (Humanware) ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาทั้ง 3 ปัจจัยไปพร้อมกัน จะมุ่งหวังเพียงการทำตลาดของททท.อย่างเดียวคงไม่พอ

นอกจากนี้ภาครัฐยังต้องส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยส่งเสริมเท่าที่ควร ทั้งๆที่ไทยมีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงมาก ภาคเอกชนต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด ตรงข้ามกับในภาคอุตสาหกรรม แม้ไทยจะไม่มีทรัพยากรพื้นฐาน กลับสามารถแย่งชิงจนเป็นฐานการผลิตได้

นอกจากนี้รัฐบาลควรเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังไม่ใช่ให้เอกชนลองผิดลองถูกกันเองเพราะจะทำให้เติบโตแบบไร้ทิศทาง เช่น ตลาดยุโรปชอบหาดทรายชายทะเล ก็ต้องวิเคราะห์นำทางให้เห็นว่าชอบทะเลแบบไหน ชอบรีสอร์ทแบบไหน รวมทั้งต้องสนใจเรื่องของดุลการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปีละ 2-3 ล้านคน แต่มีตัวเลขการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาทหรือ 1 ใน 3 ของรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปี

ในอดีตประเทศไทยอาจจะเก่งเรื่องท่องเที่ยวบริการแต่ปัจจุบันประเทศอื่นก็สร้างความแข็งแก่งขึ้นมาเหมือนกันส่งผลให้ท่องเที่ยวของไทยกำลังเดินหลงทางและเป็นที่มาของการเติบโตที่ช้าลงนั่นเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยควรจะต้องระวังตัวได้แล้ว เพราะทุกวันนี้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่อาจจะช่วยได้อีกไม่นานและคงจะไม่โชคดีตลอดไป

ขณะที่ประเทศไทยต้องใช้ต้นทุนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสูงกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะงบประมาณในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภาครัฐมักจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ไปกระจุกตัวที่กิจกรรมต่างๆ ออร์กาไนเซอร์ที่มารับงาน โครงการบางอย่างไม่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น ไทยแลนด์อีลิทการ์ด ใช้งบไปกว่า 500 ล้านบาท ไทยจัดการลองสเตย์ ทุ่มงบไปกว่า 20 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ทุกวันนี้ถือเป็นต้นทุน (Cost Center) ไม่ใช่แหล่งสร้างรายได้ (Profit Center)

จึงถูกมองไปถึงการปรับระบบราชการ การแก้ไขพรบ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะต้องปรับโครงสร้างบอร์ดให้สอดรับกับการทำงานมากขึ้น โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นจากเดิมที่ปัจจุบันนี้บอร์ดจะมาจากทางราชการเป็นหลัก ทั้งการแก้ไขพรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปีแล้วที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข การก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และอพท. ซึ่งไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีก็ทำงานไม่ประสานกับททท.ต่างคนต่างทำงานทั้งที่เป็นงานในรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น

หากทำให้ต้นทุนในการทำงานด้านการท่องเที่ยวไทยสูงขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์ เปรียบเหมือนภาครัฐกำลังใส่เงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรตามมาเพราะเป็นนโยบายการเมืองชี้นำเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงงบฯ ผู้ว่าซีอีโอแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด จากการสำรวจของคณะอนุกรรมการของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่างบฯผู้ว่าซีอีโอล้มเหลวกว่า 90% ส่วนใหญ่ใช้งบฯไปดูงานในต่างประเทศ ทั้งที่ยังไม่มีสินค้าและไม่มีแผนการทำงาน

เปลี่ยนเทรนตลาดใหม่เสียที

แนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยปัจจุบันถึงเวลาเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการทำตลาดโดยเฉพาะการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยกลุ่มเบบี้บูม หรือกลุ่มวัยเกษียณอายุ (65-70 ปี) นับเป็นตลาดใหม่ที่คาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเดินทางมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ขณะที่กลุ่มคนผู้พิการกลับเป็นกลุ่มที่ทุกคนมองข้าม แต่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง

ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีทันสมัยด้านต่างๆเข้ามาบริการและน่าจะมีบทบาทในส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปต้องการสินค้าและบริการที่โดดเด่นกว่าปกติ การมีจุดขายที่ชัดเจนและมีแนวโน้มจะกลับสู่สามัญ คือ สนใจโรงแรมเล็กริมชายหาดมากกว่าโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่ดีเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

สอดคล้องกับที่ พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวไว้ในแผนการทำงานของททท.ว่าหลังจากนี้จะไม่เน้นในเรื่องการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นในเรื่องการบริหารจัดการมากขึ้น ต้องหันกลับมาดูเรื่องการพัฒนาคนมากขึ้น พร้อมกันนี้จะเน้นในเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เน้นเรื่องของรายได้มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การสร้างความปลอดภัยและปราบปรามการหลอกลวงนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 842 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 36 ล้านคน ในส่วนของยุโรปเพิ่มขึ้น 7 ล้านคน และเอเชียแปซิฟิคเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ซึ่งการเติบโตของโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลให้ประชาชนเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้แอร์เอเชียของมาเลเซีย มีการเปิดตัว "แอร์เอเชียเอ็กซ์" สายการบินใหม่บินตรงจากกัวลาลัมเปอร์ ไปยังยุโรปในราคาประหยัด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การบินของโลก

นับเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจการบินซึ่งจะทำให้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเดินทางไปยุโรปมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการท่องเที่ยวสูง ขึ้นนั่นเอง

ขณะที่ปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตคาดว่าจะมาจากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่จะเข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในส่วนของสกี รีสอร์ท ฤดูกาลโดยเฉพาะฤดูหนาวก็จะสั้นลง ขณะที่ประเทศไทยมีผลกระทบเรื่องของปะการังใต้น้ำที่นับวันจะน้อยลงไปเนื่องจากน้ำทะเลร้อนขึ้น

จากปัญหาดังกล่าวภูมิภาคยุโรปเริ่มตื่นตัวที่จะลดผลกระทบในเรื่องนี้ โดยล่าสุดสายการบินกลุ่มภูมิภาคยุโรปมีแนวคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมการบินจากลูกค้าที่ใช้บริการ เพราะมีส่วนทำให้โลกร้อนจากการบินของเครื่องบิน เพื่อรณรงค์ให้ลดการเดินทางแบบระยะไกล ส่งผลให้การเดินทางมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันนี้ถือเป็นเข็มทิศที่คอยชี้แนะ หากภาครัฐคิดที่จะเอาจริงเอาจังในการพัฒนาท่องเที่ยวไทยไปพร้อมๆกับการเปิดเกมรุกในตลาดโลกเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แล้ว เพราะหากปล่อยให้ถูกคู่แข่งขันต่างประเทศแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปแบบนี้อาจจะตามไม่ทัน ทั้งๆไทยมีศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการไม่น้อยหน้าต่างประเทศด้วยซ้ำ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.