|
ตลาดแอร์ปีหมู กำลังซื้อแผ่ว ผู้ผลิตอัดกิจกรรม งัดกลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2550 ว่าอยู่ในภาวะทรงตัวเท่ากับปีก่อน หรือประมาณ 540,000 เครื่อง เนื่องจากปัจจัยลบกระหน่ำต่อเนื่อง ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ด้านผู้ประกอบการเร่งทำตลาดเต็มสูบ อัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ชูเทคโนโลยี งัดกลยุทธ์ Co-Promotion กระตุ้นกำลังซื้อ
จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปี 2549 ที่มีความผันผวนอย่างมาก ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ยอดขายของเครื่องปรับอากาศปรับตัวลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2548 หรือมีปริมาณการขายราว 540,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,700 ล้านบาท และจากปัจจัยลบดังกล่าวที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 2550 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยปีนี้จะอยู่ในภาวะทรงตัวเท่ากับปีก่อน
นอกจากนี้ จากการประมาณตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่คาดว่า ไทยจะมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในปี 2550 ประมาณ 3.5-4.5% ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนที่มีการขยายตัวถึง 5% ทั้งนี้เพราะจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากความไม่มั่นใจของประชาชนในด้านการเมือง และราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงและการชะลอตัวของการส่งออกตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นแม้สภาพอากาศในปัจจุบันจะร้อนมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน ทว่าสภาพทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงก็จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายมากกว่าเดิม
ไม่เพียงเท่านี้ การขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปีนี้จะมีที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศอยู่ที่ 149,000-155,000 ยูนิต (รวมบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม/อาคารชุดและบ้านรับจ้างสร้าง) ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 0 - 3% จากปีที่ผ่านมาเท่านั้น จากปัจจัยลบดังกล่าว รวมทั้งสถานการณ์การแข่งขันที่มีความรุนแรง ทำให้ผู้เล่นในตลาดแอร์ต้องเร่งปรับตัวและจัดรายการส่งเสริมการขายตั้งแต่ต้นปี โดยต้องเน้นที่เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ขณะที่กลยุทธ์ด้านราคาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการมัดใจผู้บริโภค
ผู้ประกอบการลอนช์สินค้าใหม่ ขยายพันธมิตร งัดกลยุทธ์สู้
ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เครื่องปรับอากาศยังมีการเติบโตขึ้น เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้งานทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน แต่จากเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังผันผวน รวมทั้งต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตตามเป้าที่วางไว้ สุริชัย ภัทรกิจนิรันดร์ กรรมการผู้จัดการ เทรน (ประเทศไทย) เผยว่า ในปีนี้ บริษัทจะหันมาบุกตลาดเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดี ขณะที่แอร์ขนาดใหญ่คาดว่าจะจะมีการเข้าโครงการน้อยลง โดยตั้งเป้ายอดขาย 4,400 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% เทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้แอร์ขนาดเล็ก 50% หรือ 2,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมแอร์เล็ก 13,000 ล้านบาท และ แอร์ขนาดกลางกับใหญ่ 50% หรือ 2,000 ล้านบาท จากตลาดรวมแอร์ขนาดใหญ่5,000 ล้านบาท
สำหรับการทำตลาด บริษัทได้ทุ่มงบกว่า 60 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมกับลูกค้าตัวแทนจำหน่ายเพื่อสื่อสารและกระชับความสัมพันธ์ ตามแนวคิดซีอาร์เอ็ม พร้อมกับชูแผน Co-Promotion เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้สูงสุด นอกจากนี้ก็จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ล่าสุดส่ง "Trane New Stylus" เข้าสู่ตลาด โดยมีขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 12,000 - 60,000 Btu/h มีจุดเด่นในด้านการประหยัดพลังงาน จากแผนการทำตลาดดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลักดันยอดขายให้เติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
ขณะที่แบรนด์ทีซีแอล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน กล่าวว่า การทำตลาดในปีนี้ จะเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และจะมีการออกสินค้าใหม่ โดยสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศจะมีจำนวน 2 รุ่นคือ ขนาด 9,000 บีทียู และ 12,000 บีทียู นอกจากนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการจับมือกับพันธมิตรเพื่อขยายช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น เช่น การร่วมมือกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อนำสินค้าประเภทต่างๆ แบรนด์ทีซีแอลเข้าไปจำหน่าย ซึ่งตอนนี้นำร่องไปแล้วจำนวน 5 สาขา โดยบริษัทคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตประมาณ 5-10%
ส่วนแบรนด์แอลจี ที่ปีนี้เตรียมขยับราคาสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศขึ้นอีก 10-15% เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทว่าแอลจีก็เตรียมงัดกลยุทธ์ Co-Promotion เพื่อช่วยสร้างแบรนด์และกระตุ้นรายได้ โดยเป็นแผนที่แอลจีเริ่มเจรจากับพันธมิตรมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งจะเริ่มจัดกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ต้นปี เริ่มจากการจัดแคมเปญร่วมกับธนาคารอาคารสงเคาะห์ หรือ ธกส. และธนาคารกรุงไทย ซึ่งบริษัทคาดว่าปีนี้จะมีการจับมือจัดกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรประมาณ 5-6 ราย ซึ่งบริษัทคาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้ยอดขายมีการเติบโตขึ้น 10-15% จากการเติบโตทั้งปีที่ตั้งไว้ประมาณ 40% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|