|
'ฉลองภพ'เร่งเครื่องฟื้นเศรษฐกิจ รากหญ้าเฮ!แบงก์รัฐอัดฉีดเงินกู้
ผู้จัดการรายวัน(23 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์” จี้สถาบันการเงินของรัฐเร่งปล่อยกู้กระตุ้นเศรษฐกิจหลังพบแนวโน้มเริ่มชะลอตัว ระบุประชาชนขาดความเชื่อมั่น-รอจังหวะดอกเบี้ยลดส่งผลการ บริโภคอืด ชี้ประชาชนระดับฐานรากมีสิทธิเข้าถึงสินเชื่อแต่ต้องสนองตอบอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่นโยบายประชานิยมเพื่อคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือการดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากของสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐว่า จากการที่สถาบันการเงินของรัฐได้ปล่อยสินเชื่อด้วยความเข้มงวดขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่กระจายไปสู่ประชาชนระดับฐานรากลดลง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้ และส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากช่วงก่อนหน้านี้สถาบันการเงินต่างเร่งปล่อยสินเชื่อจำนวนที่มากและเร็ว จึงส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อมีปัญหา ดังนั้น จึงเกิดสิ่งที่ท้าทายเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้มีการปล่อยสินเชื่ออกมาได้มาและเป็นสินเชื่อคุณภาพด้วย เนื่องจากหากจะรอให้ระบบคอร์แบงก์กิ้งเสร็จสมบูรณ์ 100% อาจจะเกิดผลกระทบต่อผู้กู้ได้
"ธนาคารของรัฐควรให้ความสำคัญกับจุดนี้ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาทั้งดัชนีการบริโภคของประชาชน การขยายตัวของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่ลดลงเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยขับเคลื่อน ชี้ให้เห็นว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่น”นายฉลองภพกล่าว
นายฉลองภพกล่าวว่า ในช่วงนี้ทุกๆอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงช้ากว่าส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงพุ่งสูงมาก ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ผู้บริโภคทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าอัตราดอกเบี้ยต้องลดลงในเร็วๆนี้แน่นอน การบริโภคของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาจึงชะลอตัวลง
ทั้งนี้ การใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการเงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งรายละเอียดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินของรัฐนั้นกระทรวงการคลังจะได้ประสานงานกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งต่างมีเป้าการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว การปล่อยสินเชื่อในช่วงแรกของปีต่ำกว่าเป้ากันเกือบทุกแห่ง ดังนั้นจึงต้องเร่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เงินลงไปในระบบเร็วขึ้น
"พยายามกระตุ้นให้ธนาคารแต่ละแห่งเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าเร็วขึ้นเพื่อให้เม็ดเงินลงไปในระบบเร็วขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อจะเน้นปริมาณเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องให้ควบคู่ไปกับคุณภาพของสินเชื่อ ส่วนโอกาสที่ส่วนโอกาสที่สถาบันการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้หรือไม่นั้นจะต้องดูจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และการดูแลรายได้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วย” นายฉลองภพกล่าว
รมว.คลังกล่าวว่า สำหรับโครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นประชาชนระดับฐานรากมีความจำเป็นในการใช้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ และภาครัฐต้องตอบสนองให้ตามความเหมาะสมแต่ไม่ใช่เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเกินความต้องการและเกินความสามารถในการบริหารจัดการเงินดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการช่วยเหลือเพื่อต้องช่วยจริงๆ ไม่ใช่เป็นการช่วยเพื่อหาคะแนน
"การช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายประชานิยมมีบทเรียนในอดีตจากการปล่อยกู้กันมากทำให้เกิดเอ็นพีแอลออกมามาก ทั้งธนาคารเฉพาะกิจและธนาคารประชาชน ทำให้ธนาคารรู้ตัวเองว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วสามารถรักษาเสถียรภาพและวินัยผู้กู้ให้ได้ ซึ่งปัญหาที่ไม่อยากเห็นคือการอัดเงินลงในระบบเร็วแล้วประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อไม่สามารถผ่อนชำระได้ก็ตั้งม็อบมาล้อมแบงก์เรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ให้ อยากให้ประชานิยมที่ออกมาคือการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.คลังกล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น มาหารือเพื่อกระตุ้นให้ปล่อยสินเชื่อให้กับ เอสเอ็มอี และรากหญ้า หลังจากพบว่ายอดการปล่อยสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ เอสเอ็มอี ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 4 แห่ง ในปี 2549 ต่ำกว่าปี 2548 ประมาณ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากแต่ละแห่งต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้เกิดปัญหาหนี้เอ็นพีแอลน้อยที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|