Philips Simplicity Event ประสบการณ์ Healthy Lifestyle


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟิลิปส์เดินสายจัดกิจกรรมสร้างรูปธรรมให้กับ Sense and Simplicity หวังดึงคู่ค้าและพันธมิตรถ่ายทอดประสบการณ์เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Healthy Lifestyle) ตั้งเป้า 3-5 ปี ในการสร้างฐานลูกค้าให้กับผลิตภัณฑ์ Sense and Simplicity เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

หลังจากฟิลิปส์ทำการรีโพสิชันนิ่งแบรนด์จาก Let's make things better หรือ "ร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า" มาสู่ Sense and Simplicity เมื่อปลายปี 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมทางการตลาด ฟิลิปส์ก็มีการปรับกลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ โดยมีการขายบางธุรกิจที่ไม่สอดคล้องเช่นโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เคยยกเลิกไปกลับเข้ามาทำตลาดอีกครั้งเช่นหม้อหุงข้าวเนื่องจากสอดคล้องกับแบรนด์โพสิชันนิ่งใหม่

ที่ผ่านมาฟิลิปส์มีจุดยืนในการเป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นวัตกรรมใหม่หลายตัวที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค แต่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ถูกปลูกฝังโดยเจ้าของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องหันมาทบทวนตัวเองในการปรับกระบวนทัพเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง ประกอบกับยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคมีความฉลาดในการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ดังนั้นนวัตกรรมใหม่ แม้จะดีแต่ถ้ามีราคาแพงแถมยังใช้งานยากอีกก็เป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ เรียกได้ว่าตอนนี้จะทำการตลาดอะไรก็ต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เช่นเดียวกับ Sense and Simplicity ของฟิลิปส์

ทั้งนี้แนวทางเดิมของฟิลิปส์คือ Let's make things better เป็นการสื่อไปถึงความมุ่งมั่นของฟิลิปส์ที่จะพัฒนาสิ่งดีๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของผู้บริโภคให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาสโลแกนดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น หากแต่บอกเพียงว่าฟิลิปส์มีเทคโนโลยีที่ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง ดังนั้นฟิลิปส์จึงต้องต่อยอดขึ้นไปอีกก้าวเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่านวัตกรรมของฟิลิปส์ที่มีเหนือคู่แข่งว่าทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง Sense and Simplicity จึงเป็นหัวข้อที่ใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการต่อยอดตำแหน่งทางการตลาด

Sense and Simplicity ยืนอยู่บนเสาหลัก 3 ต้นคือ ออกแบบเพื่อคุณ (Design around you) ใช้งานง่าย (Easy to experience) และความล้ำสมัย (Advance) ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจหลัก 3 กลุ่มคือ ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ (Health) ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และเทคโนโลยี (Technology)

การรีโพสิชันนิ่งดังกล่าวมีการทยอยทำในแต่ละตลาดทั่วโลกโดยใช้งบมากถึง 80 ล้านยูโร พร้อมกับการจัดกิจกรรม PHILIPS Simplicity Event ในประเทศที่มีศักยภาพโดยเฟสแรกเริ่มจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ฝรั่งเศส อเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ล่าสุดมีการจัด PHILIPS Simplicity Event ครั้งที่ 5 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเอเชียโดยฟิลิปส์เลือกฮ่องกงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาในภูมิภาค โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 1,500 คน

"ความท้าทายในการทำตลาดคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง สินค้าที่เป็น Sense and Simplicity ก็เช่นกัน นอกจากจะสร้างความแตกต่างแล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าแบรนด์ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ฟิลิปส์ประกาศรีโพสิชันนิงแบรนด์ไปสู่ Sense and Simplicity ก็ทำให้เรามีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้นโดยในปี 2548 ฟิลิปส์มีมูลค่าแบรนด์ 6,700 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 48 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการปรับโพสิชันนิงแบรนด์ โดยมีมูลค่าแบรนด์เพียง 4,300 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 65 ส่วนแนวทางการทำตลาดในเอเชียคือการสร้างยอดขายให้มากที่สุดโดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดเอเชีย ล่าสุดมีการร่วมมือกับบริษัททีซีแอลจากเมืองจีน" รูดี้ โปรวูส ประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ รอยัล ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าว

PHILIPS Simplicity Event เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่ผู้บริโภค โดยการจัดงานครั้งล่าสุดเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรูปธรรมในการดำเนินตามแนวคิด Sense & Simplicity ของฟิลิปส์ เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายได้เข้าใจความเป็นฟิลิปส์ซึ่งจะสะท้อนความเป็น One Philips คือทุกสิ่งที่ฟิลิปส์ทำจะเป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก

คอนเซ็ปต์ของการจัดงาน PHILIPS Simplicity Event เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น (Healthy Lifestyle) ใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจากการวิจัยของฟิลิสป์พบว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพค่อนข้างน้อย ความเจ็บป่วยมีมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องพันธุกรรมแล้วยังพบว่า 75% ของปัจจัยแห่งความเจ็บป่วยเกิดจากไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต ฟิลิปส์จึงพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างชีวิตที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดี

ฟิลิปส์ได้แบ่งแนวคิดความเรียบง่ายแห่งอนาคต (Next Simplicity) ออกเป็น 5 แนวคิดย่อย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภคตั้งแต่วัย 4-65 ปี โดยแนวคิดแรกคือ เข้าใจความต้องการของร่างกาย (Listen to your body) ซึ่งจะมีเครื่องมือวัดความเคลื่อนไหวของร่างกายพร้อมประวัติของแต่ละคนและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือวัดอุณหภูมิซึ่งจะให้คำแนะนำสำหรับการตรวจสอบวงจรชีวิตของผู้หญิง เช่น การตกไข่ การตั้งครรภ์ และการมีประจำเดือน

แนวคิดที่ 2 คือ การดูแลสุขภาพ (Care for your body) มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น เสื้อผ้าที่ใช้ความร้อนจากอินฟราเรดและการสั่นนวดเพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อ และการบำบัดด้วยระบบแสงไฟ แนวคิดที่ 3 คือการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Move your body) เป็นผลิตภัณฑ์ในการสร้างความสนุกสนาน เช่น ชุดของเล่นกระเบื้องเวอร์ซ่า อุปกรณ์ Drag & Draw ซึ่งจะทำให้กำแพงบ้านกลายเป็นผ้าใบจำลองให้เด็กๆ ได้วาดระบายสีด้วยอุปกรณ์เลเซอร์ที่ให้แสงสีตามต้องการ

แนวคิดที่ 4 คือการผ่อนคลายจิต (Relax your mind) เป็นเรื่องของการปรับระบบแสงไฟ เสียงดนตรี เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย แนวคิดสุดท้าย คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Share Experience) เช่น อัลบั้มครอบครัว ซึ่งสามารถโหลดรูปที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลลงอุปกรณ์ดังกล่าวพร้อมกับการตัดแต่งภาพได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ In Touch ซึ่งเป็นรูปแบบการฝากข้อความทางเสียงที่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้

อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวแม้จะสะท้อนความเป็น Sense and Simplicity แต่ยังค่อนข้างห่างไกลพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชีย แต่ฟิลิปส์ก็มีผลิตภัณฑ์หลายรายการที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นอุปกรณ์การแพทย์ที่ขยายฐานลูกค้าจากโรงพยาบาลมาสู่ผู้ใช้ในบ้านเช่นเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้ฟิลิปส์ตั้งเป้าว่าภายใน 3-5 ปีจะสามารถสร้างตลาด Sense and Simplicity ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน โดยฟิลิปส์จะให้ความสำคัญกับการค้นหาความต้องการในอนาคตเพื่อก้าวให้เร็วกว่าคู่แข่ง โดยกรอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ 3 แนวทางคือ การมองไปข้างหน้า (Foresight) เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งระดับสากลและระดับภูมิภาคที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ประการที่ 2 เป็นการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค (People Research) เพื่อค้นหาความต้องการและความหมายของชีวิต และมุมมองในการดำเนินชีวิตในอนาคตของผู้บริโภค ประการสุดท้ายเป็นการคาดการณ์ความต้องการในอนาคต (Trend Research) เพื่อศึกษาปัจจัยที่จะกระทบกับการทำการตลาดในอนาคต

ฟิลิปส์ใช้งบในการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปีประมาณ 10% ของยอดขายโดยในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ 27,000 ล้านยูโร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.