โครงการรถไฟฟ้าส่อ “ตกราง” พ.ร.บ.ร่วมทุนก้างชิ้นใหญ่ทางขวางเกิด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการรถไฟฟ้า 5 สาย ส่อเค้าติดเบรกยาว ติดเงื่อนเวลาเปิดซองประกวดราคา–พ.ร.บ.ร่วมทุน สายสีแดงเลื่อนประมูล 2 เดือน ขณะสีน้ำเงินและสีม่วงช้าไป 1 เดือน เหตุติดปัญหาการโอนงบประมาณว่าจ้างที่ปรึกษา

เป็นอันว่าแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง มูลค่ากว่า 1.65 ล้านบาท ส่อเค้าว่าจะเจอโรคเลื่อนอีกครั้ง หลังจากที่ถูกเลื่อนมาหลายครั้ง ซึ่งสร้างความสับสนให้กับกลุ่มนักลงทุนมาก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม รีบออกมาชี้แจงแล้วว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทางเดิมตามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะไปในทิศทางที่ดี แต่หากมองลึกๆ แล้วโครงการรถไฟฟ้าเริ่มส่อเค้าว่าอาจล่าช้ากว่ากำหนดเดิม เนื่องจากต้องปรับกรอบเวลาการประมูลใหม่ ขณะเดียวกันเงินลงทุนที่จะขอกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ก็ยังไม่คืบหน้า

สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐบาลจะลงทุนรถไฟฟ้า 5 สาย ตามกรอบการทำงานเดิมคือระยะทาง 118 ก.ม. มูลค่า 1.65 แสนล้านบาท จำนวน 5 เส้นทาง คือ สายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 41 ก.ม.วงเงิน 53,985 ล้านบาท สีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ 23 ก.ม. วงเงิน 29,160 ล้านบาท สีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค 27 ก.ม. 52,581 ล้านบาท และสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่ และซอยแบริ่ง-สมุทรปราการ 27 ก.ม. 29,676 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ปรับเปลี่ยนกรอบเวลาการเปิดประกวดราคาและก่อสร้าง ซึ่งอาจจะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่ครม.อนุมัติเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

โดยกรอบเวลาเดิมที่ ครม.อนุมัติไป คือ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดประกวดราคาในเดือนเม.ย.นี้ และเริ่มก่อสร้างเดือนต.ค. ปี 2550 จะต้องเลื่อนออกไป 2-3 เดือน ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกวดราคาเดือน ต.ค.ปี 2550 ก่อสร้างเดือนเม.ย. 2551 สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เสนอ ครม.อนุมัติผลศึกษาร่วมทุนเดือนเม.ย. ประกวดราคาเดือน พ.ค. และเริ่มก่อสร้างเดือนธ.ค .2550 ขณะที่สีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค เดือนเม.ย. เสนอ ครม. พิจารณาผลการศึกษาร่วมทุน ประกวดราคาเดือนก.ย. 2550 ก่อสร้างเดือนเม.ย. ปี 2551 ส่วนสายสีเขียวใน เดือนมิ.ย. จะเสนอ ครม.ผลศึกษาร่วมทุนและ เดือนธ.ค.ประกวดราคา และเริ่มก่อสร้างเดือนมิ.ย. ปี 2551

สำหรับรถไฟฟ้าสายที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก่อนสายอื่นๆ คือสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต เพราะไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะใช้พื้นที่ของ ร.ฟ.ท. ขณะที่สายอื่นๆ ต้องเข้า พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ และมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะต้องออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินก่อน จากนั้นจึงประกวดราคา คาดว่าเร็วที่สุดน่าจะเป็นสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ แม้จะต้องศึกษาการร่วมทุน แต่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน และเริ่มสำรวจการเวนคืนที่ดินแล้ว

ด้านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)โดยเกรียง วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานคณะดำเนินงานศึกษาโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง กล่าวว่า ได้เตรียมเสนอรัฐบาลให้ก่อสร้างสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-พญาไทก่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันหรือทำควบคู่กันไป เนื่องจากช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-พญาไท จะเป็นการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่จะไปสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจราจรได้ถึง 20-30% อีกทั้งยังช่วยลดค่าก่อสร้างได้อีกกว่า 10,000 ล้านบาท หรือราว ๆ 20% ของงบก่อสร้างเดิม หากเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าบนดินแทนการก่อสร้างแบบยกระดับ

นอกจากนี้ จะเสนอให้รัฐบาลลงทุนก่อสร้างทั้งหมด 100% เพื่อให้ควบคุมค่าโดยสารและการบริหารจัดการได้เอง เพราะหากให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยจะควบคุมค่าโดยสารได้ยาก

สำหรับการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่และซอยแบริ่ง-สำโรง รัฐบาลจะคำนึงถึงประโยชน์และความสะดวกของประชาชน เช่น ค่าโดยสารและค่าตอบแทนคืนแก่รัฐต้องเป็นธรรม

นอกจากนี้ การปรับกระบวนการจัดหาระบบรถไฟฟ้ากับระบบอาณัติสัญญาณจากการที่รัฐลงทุนเองมาให้เอกชนลงทุน 100% นั้น รัฐต้องจัดให้มีผู้กำกับเพื่อกำกับดูแลระบบและค่าโดยสารเพราะภาคเอกชนจะยึดสัญญาสัมปทานเป็นหลัก การคิดค่าโดยสารจะอิงตามข้อตกลงที่ผู้พันกับแหล่งทุนมากกว่าประโยชน์ทางสังคม ทำให้เกิดปัญหาการคิดค่าโดยสาร เช่นเดียวกับกรณีของรฟม.และบีทีเอสที่ขัดแย้งกับกทม.เรื่องการขึ้นค่าโดยสาร

ที่สำคัญ รัฐจะต้องนึกถึงผลประโยชน์ที่จะคืนสู่รัฐและเอกชนผู้ร่วมทุน ทั้งนี้ภาคเอกชนลงทุนเพียง 15% แต่กลับได้เป็นเจ้าของสัมปทานไปทั้งหมด และแบ่งรายได้มากกว่ารัฐ 4 เท่าตัว เป็นเวลานานถึง 25-30 ปี ทั้งที่รัฐเป็นผู้ลงทุนในระบบหลักถึง 85% แต่กลับรายได้ไม่ถึง 85% หรือคิดเป็น 1 ส่วนเท่านั้น

รฟม.แจงอาจล่าช้าจากแผนเดิม 1 เดือน

ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ และสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ จะล่าช้าไปจากแผนเดิม 1 เดือน โดยสายสีม่วง จะเปิดประกวดราคาได้เดือนมิ.ย. จากเดิมเดือนพ.ค. เพราะติดปัญหาการโอนงบประมาณว่าจ้างที่ปรึกษากว่า 277.3ล้านบาท ที่ใช้บริษัทที่ปรึกษารายเดิม เนื่องจากมีประสบการณ์ และผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว คือ บริษัท AEC เป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 53.9 ล้านบาท และอนุมัติให้จ้างกลุ่มบริษัท BMTC (บีเอ็มทีซี) เป็นที่ปรึกษาสายสีน้ำเงิน วงเงิน 223.4 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่คาดว่าจะเริ่มเป็นสายแรกนั้น มีการเลื่อนประกวดราคาออกไปอีก 2 เดือน จากเดิมที่จะเปิดประมูลในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อทำให้การประมูลโปร่งใสมากขึ้น โดยทางร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาประเมินราคากลางการลงทุนและจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชน ซึ่งทำให้ขั้นตอนช้าลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.