เพิ่มมูลค่า 'โบ๊เบ๊' รุกเดินเครื่อง สร้างเทรนด์ใหม่ 'street fashion'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ความเคลื่อนไหวอีกมิติหนึ่งของผู้ประกอบการในธุรกิจการ์เม้นท์ โดยมีกลุ่มค้าส่งโบ๊เบ๊เป็นแกนนำ หลังจากโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นถูกล้มไป คือการผนึกกำลังกันของกลุ่มผู้ประกอบการย่านโบ๊เบ๊ สำเพ็ง ประตูน้ำ จตุจักร และสยามสแควร์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้ภาครัฐเห็นว่าสมควรจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

คมสรรค์ วิจิตรวิกรม ประธานศูนย์บริการส่งออกโบ๊เบ๊ กล่าวถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจการ์เม้นท์ ณ วันนี้ผู้ประกอบการโบ๊เบ๊จะต้องคิดมากขึ้นถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และการสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อยกระดับสินค้าโบ๊เบ๊ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ซึ่งต่อไปจะสร้าง street fashion ให้เห็นชัดขึ้น และสร้างเทรนด์ในอนาคต โดยให้ผู้ประกอบการมีการเรียนรู้และเพิ่มวิสัยทัศน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ดูจากนิตยสารแล้วก๊อปปี้ขาย

"ผู้ประกอบการในกลุ่ม street fashion แม้จะไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นดีไซเนอร์ แต่สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีการออกแบบและติดตราสินค้า ถือเป็นประเภท ODM กับOBM โดยใช้โนว์ฮาวและเทคนิคของตนเองทั้งหมด แล้วมาเปิดหน้าร้านเพื่อขายของ เมื่อลูกค้ามาเห็นก็สั่งซื้อ แต่ไม่มีการรับจ้างผลิต เพราะการกำหนดทิศทางมาจากผู้ประกอบการไม่ใช่ลูกค้า"

สินค้า street fashion นั้นเกิดมาหลังจากผู้ประกอบการโบ๊เบ๊ขยายธุรกิจโดยการเปิดหน้าร้านไปในหลายๆ ทำเล ไม่ว่าจะเป็นประตูน้ำ จตุจักร และสยามสแควร์ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตั้งเป็นศูนย์บริการส่งออก ทำให้เกิดความคิดที่จะพัฒนาด้านการตลาดให้สินค้า โดยสรุปถึงเทรนด์แฟชั่นในอนาคตว่าจะไปในแนวทางของการสวมใส่เสื้อผ้าแบบง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก เป็นรูปแบบแฟชั่นไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไป จึงใช้คำว่า street fashion

สินค้ากลุ่มนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยพาหนะที่เป็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 ล้านคน ใน 5 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะมีไลฟ์สไตล์ของตนเอง ไม่ใช้ของที่แพงเกินไป และสวมใส่สบาย

สำหรับโครงการ Street Fashion Runway ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนมีนาคม ที่แพลตทินัมแฟชั่นมอลล์ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 1 ปี

ในฐานะประธานดำเนินการ โครงการ Street Fashion Runway คมสรรค์ กล่าวว่า แนวทางที่จะสร้างความสำเร็จประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ 1.สินค้าไม่แพง คุณภาพดี 2.ต้องสร้างประสิทธิภาพด้านการผลิต ลดต้นทุนให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนที่สุด 3.ต้องสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้สินค้า และมีการสร้างแบรนด์ 4.ต้องมีการดีไซน์ และ 5.การตลาดและการขาย

"ผู้ประกอบการยังต้องเพิ่มความสามารถอีกมาก อย่างเช่น บางคนเก่งขาย แต่ไม่เก่งผลิต หรือเก่งดีไซน์ แต่ไม่เก่งขาย เพราะฉะนั้น โครงการนี้จะหล่อหลอมคนและความคิด แต่ข้อได้เปรียบคือผู้ประกอบการพวกนี้เป็นคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาเพิ่มการเรียนรู้เพื่อต่อยอดให้มีศักยภาพครบ ไม่ใช่คนที่ไม่รู้จักการทำธุรกิจเลย

ทุกวันนี้ เมื่อบอกว่ากลัวเมืองจีน กลุ่มอื่นกลับใช้วิธีรับจ้างผลิต แต่เราผลิตเพื่อขาย ไม่รับจ้างผลิต ไปตลาดค้าส่งที่เมืองจีนมาเห็นแล้วว่าราคาไม่ได้ถูกกว่าของเราเท่าไหร่"

ขั้นต่อไปจากนี้ จะมีการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยมีคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิมาเลือก 60 ราย แล้วจะถูกหล่อหลอมให้มีศักยภาพ และจะมีการคัดเลือก 20 ราย เป็นโชว์เคสในตอนท้ายของโครงการฯ โดยกรมส่งเสริมการส่งออกจะเชิญผู้ซื้อเพื่อเป็นการช่วยต่อยอดด้านการขาย นอกจากนี้ จะมีการสร้างแบรนด์ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อก้าวสู่การค้าแบบพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ (e-commerce) ในอนาคต

"โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องเพื่อคัดคนที่มีแววว่าจะพัฒนาได้ดี ซึ่งที่ผ่านมาดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอด อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เรามาช่วยทำให้เขาเติบโตได้เร็วขึ้น และเราคิดว่าถ้าปั้นจากดีไซเนอร์ที่เพิ่งตั้งไข่ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะฉะนั้น วันนี้เรากำลังนำดีไซเนอร์บวกกับความเป็นธุรกิจในตัวคนกลุ่มนี้อย่างละครึ่งมาปั้น ไม่ใช่ดีไซน์สุดโต่งหรือมองแค่การค้าสุดโต่ง โดยจะมีผู้ประกอบการที่เก่งแต่ละแนวทางมาแนะนำ เช่น บางคนเก่งส่งออก บางคนเก่งในประเทศ

ตอนนี้ต้องเร่งสปีดมากเพราะการแข่งขันจากต่างประเทศสูงขึ้นตลอด ยอดขายรวมของ clothing ในประเทศ 3 แสนกว่าล้านบาท แบ่ง 50% เป็นของสินค้าจากตลาดค้าส่งหรือตลาดบาร์ซาร์ และอีก 50% เป็นของตลาดโมเดิร์นเทรด สำหรับมูลค่าการส่งออกประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดว่าประมาณ 30% เป็นสินค้าจากกลุ่มตลาดบาร์ซาร์หรือสตรีทแฟชั่น ซึ่งมาจากลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชีย ส่วนอีก 70% เป็นสินค้าจากกลุ่มผู้รับจ้างผลิต"

คมสรรค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสถานการณ์โดยภาพรวมในขณะนี้ของเสื้อผ้าประเภท street fashion แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ลดน้อยลง แต่เนื่องจากมีแรงซื้อจากกลุ่มลูกค้าที่เคยช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์ดังราคาสูง หันมาช้อปปิ้งสินค้าราคาประหยัดแทน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการ street fashion จะเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.