จีนรุกคุมสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จผุดสารพัดโปรเจกต์ทั้งเขตลาว-ไทย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จวกรัฐไทยใช้นโยบาย "ไม้หลักปักเลน" ทำแผนพัฒนาภาคเหนือตอนบนรองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพ "ปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง" ตลอดกว่า 1 ทศวรรษ ขณะที่กลุ่มทุน-รัฐวิสาหกิจจีน เปิดเกมรุกปักธงลงทุนตามแนวโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก-ทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผุด 6 โปรเจกยักษ์ยึดหัวหาดตลอดแนวถนน R3a - พื้นที่ริมฝั่งโขง เขต สปป.ลาว แถมพกด้วยเขตปลอดอากร-ท่าเรือคอนเทนเนอร์ชายแดนไทย ต่อจิ๊กซอว์ Logistic คุนหมิง-กรุงเทพฯ ด้วยโครงการลงทุนจุดพักรถที่แยกอินโดจีนมูลค่า 200 ล้าน

โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Economic Quadrangle Cooperation) คือ แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสี่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบนของไทย - มณฑลหยุนหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน - แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไชยะบุรี อุดมไชย และหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว) และรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 100 ล้านคนนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า เริ่มต้นผลักดันกันมานานกว่า 10 ปี แต่จนถึงขณะนี้การเตรียมการรับมือของไทยกลับไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หลายโครงการต้องปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง

พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานฝ่ายการค้าชายแดน ยอมรับว่า นโยบายของรัฐไทยในเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ดูเหมือนเป็นเพียงตัวหนังสือในหน้ากระดาษ ยังไม่มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง เช่น เขตเศรษฐกิจชายแดนเชียงราย ที่มีมติ ครม.ออกมาแล้ว จนถึงวันนี้ ก็ยังเป็นเพียงมติ ครม.เท่านั้น ไม่มีการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา, นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน เกิดแล้วดับ, ท่าเรือเชียงแสน 2 ที่ผลักดันขึ้นมานานหลายปี รองรับการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำโขงที่ขยายตัวสูงขึ้นจนท่าเรือเชียงแสน 1 ไม่สามารถรองรับได้ ล่าสุดในปีงบประมาณ 51 ไม่ได้รับงบสนับสนุน ปีงบฯ 52 ยังไม่แน่ใจว่า จะได้รับงบสนับสนุนหรือไม่, นิคมฯเชียงของ จ.เชียงราย ที่กำหนดพื้นที่ไว้รองรับห่างจากจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (บ้านดอนไข่นก อ.เชียงของ จ.เชียงราย) 5 กม. เนื้อที่ 1.6 หมื่นไร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก่อสร้างได้หรือไม่ และเมื่อไหร่

นอกจากนี้แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับโครงข่ายถนนจากคุนหมิง มณฑลหยุนหนาน ผ่านพม่า (R3b) / ลาว (R3a) - กรุงเทพฯ - แหลมฉบัง ที่น่าจะใช้การขนส่งระบบรางที่มีต้นทุนต่ำที่สุดมารองรับ ทุกวันนี้ก็ยังเป็น "วุ้น" อยู่ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟเด่นชัย - เชียงราย ที่ผลักดันกันข้ามทศวรรษ และแม้ว่า สนข.จะมีแผนพัฒนาต่อไปถึงแม่สาย / เชียงแสน / เชียงของ จ.เชียงราย แต่ยังตอบไม่ได้ว่า จะออกหัวหรือก้อย

อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีผลกระทบต่อแนวทางพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือรองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้ง ทำให้การดำเนินงานของไทยไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจนออกมาให้เห็น ผิดกับประเภทสมาชิก โดยเฉพาะ จีน ที่รัฐ - เอกชน ดำเนินงานร่วมกันอย่างได้ผล จนสามารถรุกเข้าครอบครองพื้นที่การลงทุน - ธุรกรรมการขนส่งระหว่างประเทศภาคีได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ

ขนส่งผ่านน้ำโขงในเงื้อมจีนเบ็ดเสร็จ

อนันต์ บอกว่า ถึงวันนี้ต้องยอมรับแล้วว่า การขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจากเชียงรุ้ง - อ.เชียงของ จ.เชียงราย เรือทุกลำล้วนเป็นของจีนหมด อาจจะมีเพียง 1-2 ลำเท่านั้น ที่ระยะหลังนักลงทุนไทยเข้าไปเช่ามาดำเนินการ แต่ก็ต้องใช้บุคลากรจีนทั้งสิ้น ไม่รวมถึงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขง ที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ รวม 3 เขื่อน และมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 8-9 เขื่อน ทำให้จีนสามารถควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน

พัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ นายด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย เพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมทุนกับภาคเอกชนไทย เตรียมลงทุนพัฒนาห้างสรรพสินค้าห้าเชียงพลาซ่า ของนายวัฒนา อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ขึ้นมาใหม่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ รองรับการขนส่งคอนเทนเนอร์ผ่านแม่น้ำโขง โดยใช้เรือขนาด 300-500 ตัน รองรับจำนวน 2 ลำ สามารถขนสินค้าได้ครั้งละ 12 ตู้ต่อลำ พร้อมกับขอเปิดเป็นเขตปลอดอากร ตามกฎหมายศุลกากรด้วย มีกำหนดเปิดตัวภายใน 1-2 เดือนต่อจากนี้

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพัฒนาที่ดิน - เขตอุตสาหกรรมจากจีน กำลังเจรจากับผู้ร่วมทุนฝ่ายไทย ลงทุนพัฒนาที่ดินประมาณ 300-500 ไร่ ติดถนนสายแม่จัน - เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อลงทุนทำเขตอุตสาหกรรม SME ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมปลอดมลพิษเป็นหลัก คาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนต่อจากนี้

ทุนมังกรผุดนิคมฯ-รัฐวิสาหกิจจีนปั้นเขตเศรษฐกิจชายแดน

นอกจากนี้ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ยังอธิบายถึงความเคลื่อนไหวในการลงทุนจีนในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจขณะนี้อีกว่า การลงทุนจากภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจจีนในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย พม่า ลาว จีน เป็นไปอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะการลงทุนตามแนวถนน R3a จีน - ลาว - ไทย ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 50-51 เชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงรายนั้น จนถึงขณะนี้กลุ่มทุนจีนวางแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 6 โครงการหลัก ๆ คือ เขตเศรษฐกิจที่เชียงรุ้ง ขนาด 26 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีกลุ่มทุนสิงคโปร์เข้าร่วมดำเนินการด้วย, เขตเศรษฐกิจชายแดน Mo han (ชายแดนจีน-ลาว) รัฐบาลปักกิ่งได้อนุมติให้พัฒนาเขตเศรษฐกิจแห่งนี้เมื่อปลายปี 49 ที่ผ่านมา มี Mr.Yang Zie เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาด 22 ตารางกิโลเมตร ล่าสุดเริ่มลงมือถมที่-ทำถนน คืบหน้าไปกว่า 10% แล้ว รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามมากับถนน R3a

นอกจากนี้กลุ่มทุนจีน ได้รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจคู่แฝด Mo han ที่ชายแดน บ่อเต็น (ตรงข้ามกับ Mo han) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจีนเครือคุนหมิง สตีล ได้เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานรีดเหล็กที่หลวงน้ำทา ในนามบริษัท Laos GN steels , โครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และเขตนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านต้นผึ้ง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย) เนื้อที่นับหมื่นไร่ โดยขณะนี้กลุ่มบริษัท Hong yu จำกัด จากจีน ได้เสนอขอสัมปทานเช่าพื้นที่จาก สปป.ลาวแล้ว เพื่อลงทุนทำนิคมฯ-เขตปลอดภาษีขึ้น

เขายังบอกอีกว่า นอกจากนี้จีนยังดำเนินการพัฒนาเส้นทางจากเชียงรุ้ง - Mo han ให้เป็นถนนสี่เลนตลอดสาย ลดความลาดชันในหลาย ๆ จุดด้วยการเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือไม่เกินปี 2551 รองรับการถนน R3a ที่ขณะนี้มีเฉพาะช่วงเมืองห้วยทราย - เวียงภูคาเท่านั้น ที่ยังอยู่ในระยะการบดอัดเตรียมลาดยาง

รุกคืบกุม Logistic คุนหมิง-กรุงเทพฯ

ในระหว่างที่โครงข่ายถนนสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจกำลังเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปีต่อจากนี้ (R3a ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงของ - R3b ผ่านพม่า เข้าไทยที่ อ.แม่สาย) นี้นั้น ประเด็นที่นักธุรกิจท้องถิ่นภาคเหนือของไทยกำลังวิตกกังวลว่า จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ สุดท้ายกลุ่มทุนจีนจะเข้ามายึดกุมธุรกรรมการขนส่งทางบกผ่านเส้นทางเหล่านี้เหมือนกับการขนส่งผ่านแม่น้ำโขง

พัฒนา บอกว่า หากดูทิศทางนโยบายของจีนแล้วจะเห็นว่า ทุ่มงบประมาณลงพัฒนาถนนจากเชียงรุ้ง - Mo han เป็นถนน 4 เลน ลดความลาดชันในเขตภูเขาด้วยการเจาะเป็นอุโมงค์ เชื่อมกับ R3a ต่อเนื่องถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว - อ.เชียงของ จ.เชียงราย - กรุงเทพฯ แหลมฉบัง และความเคลื่อนไหวกลุ่มทุนขนส่งขนาดใหญ่ของมณฑลหยุนหนาน ที่เคยหารือด้วยได้เตรียมบุคลากรไว้รองรับธุรกิจการขนส่งสินค้าภูมิภาคอินโดจีนจำนวนหลายพันคนแล้ว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลังจากถนนสายต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์ กลุ่มทุนขนส่งของจีนจะรุกเข้ามาลงทุนในด้านนี้อีกมาก

ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับ ซึ่งขณะนี้มาตรการรองรับการขนส่งระหว่างประเทศมีเพียงข้อตกลงใน GMS ที่เฉพาะไทย-พม่า มีโควตารถบรรทุกข้ามไปมาระหว่างกัน (แม่สอด กับแม่สาย) ประเทศละ 200 คัน ขณะที่จีนนอกจากจะมีโควตาของตนเองแล้วเชื่อว่า ยังสามารถเข้ามาสวมโควตาของ สปป.ลาว - พม่า ได้อย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุดทราบว่า ภายใต้ข้อตกลง GMS ไทยยังตกลงที่จะให้หัวลากของประเทศภาคีสามารถวิ่งข้ามประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้หัวลากจากจีนวิ่งทะลุถึงท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งใด ๆ ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันวิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวกลุ่มนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เตรียมกว้านซื้อที่ดินย่านสี่แยกร้องโพธิ์หรือสี่แยกอินโดจีนบริเวณริมถนนมิตรภาพ (สาย 12) เนื้อที่ 40-50 ไร่ จุดตัดระหว่างถนนคุนหมิง - กรุงเทพฯ กับเส้นทางสาย East-West Corridor ราคาประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านนอมินี เพื่อใช้เป็นสถานที่จอดและพักรถบรรทุกหัวลาก รองรับการขนสินค้ามาจากจีน - เชียงรายผ่านลงมาตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวติดภาวะจำนองกับธนาคารกรุงไทยอยู่

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ดูเหมือนจะบ่งชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจได้ชัดเจนว่า ก้าวเข้าไปอยู่ใต้อุ้งมือจีนแบบเบ็ดเสร็จทุกมิติมากขึ้นทุกขณะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.