"อรนุช พณิชากิจ กับมนตรีทรานสปอร์ต ยักษ์ใหญ่รับ-ส่งนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากศูนย์" อรนุช พณิชากิจ ประธานบริษัทมนตรีทรานสปอร์ต ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทรับส่งนักเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ปัจจุบันเป็นปีที่ 23 ของการดำเนินงานของมนตรีทรานสปอร์ต ซึ่งดูจะเป็นบริษัท ยักษ์ใหญ่การให้บริการด้านการรับส่งนักเรียนโรงเรียนนานาชาติไปเสียแล้ว ไม่เฉพาะโรงเรียนนานาชาติ ดั้งเดิมอย่างร่วมฤดีวิเทศศึกษา สถานศึกษานานาชาติ (ไอเอสบี) หรือสมาคมไทย-ญี่ปุ่นที่ใช้บริการมาโดยตลอด โรงเรียนมานาชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งได้อย่างเสรีตั้งแต่ปี 2534 ก็ยังคงเรียกใช้บริการของมนตรีทรานสปอร์ตเช่นกัน ทั้งๆ ที่อัตราค่าบริการสูงกว่าบริษัทอื่นเกือบสามเท่าตัว

อัตราค่าบริการของมนตรีทรานสปอร์ต จะขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกลระหว่างบ้านและโรงเรียน เช่นที่ไอเอสบีซึ่งย้ายไปอยู่ที่ถนนสามัคคี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีจะเก็บค่ารถระหว่างอัตราต่ำสุดปีละ 27,000 บาท ถึงอัตราสูงสุด 41,400 บาท ขณะที่โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาซึ่งย้ายไปอยู่มีนบุรี ก็จะใช้ระบบการเหมาจ่ายค่ารถ คือคิดค่ารับ-ส่งถึงบ้าน 12,000 บาท แต่ถ้ารับ-ส่งเฉพาะสถานีเก็บ 10,000 บาทต่อปี ส่วนอัตราค่ารถรับ-ส่งนักเรียนของนานาชาติเซนต์จอนห์จะเก็บเทอมละ 7,000 บาทต่อปี แต่ที่ไอเอสทีหรือนานาชาติใหม่ที่อยู่สุขุมวิทซอย 15 จะเก็บค่ารถรับ-ส่งเป็นรายวันๆ ละ 150 บาท

แน่นอนว่าประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 20 ปี ตลอดจนมาตรฐานระบบความปลอดภัยที่ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดขายที่สำคัญของมนตรีทรานสปอร์ต ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งทุกที่นั่ง หรือระบบวิทยุสื่อสารบนรถที่ผู้ปกครองสามารถติดต่อกับบุตรหลานได้ตลอดเวลา

"ทั้งเข็มขัดนิรภัยและวิทยุสื่อสารนั้นเราติดตั้งนานแล้ว…ก่อนที่ทางรัฐบาลจะประกาศบังคับใช้อีก" อรนุช กล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องให้ทางการบังคับแล้วถึงลงมือทำเหมือนกับบริษัทอื่นๆ ในปัจจุบัน

ชีวิตที่พลิกผันของอรนุช เริ่มขึ้นภายหลังจากจบการศึกษาในระดับ ม.ศ. 5 ความต้องการเรียนต่อด้านเลขานุการต้องมลายไป เนื่องจากครอบครัวประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ อรนุชในฐานะพี่สาวคนโตของน้องอีก 3 คน จึงต้องออกหางานทำด้วยเหตุผลที่ว่า

"ตอนนั้นคุณพ่อตกงาน…น้องทั้ง 3 คน ก็กำลังเรียนกันหมด เราจึงคิดให้น้องเรียนจบก่อนแล้วเราค่อยเรียนทีหลัง"

จริง ๆ แล้วอรนุชเป็นคนที่ 4 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน แต่เนื่องจากพี่สาวทั้ง 3 คนได้แต่งงานไปหมดแล้ว อรนุชจึงเปรียบเหมือนพี่สาวคนโตของน้องชาย 1 คนคือ ณรงค์ พณิชากิจ และน้องสาว 2 คนคือ กนกวรรณ เล็กศิวิไล และอุไร พณิชากิจ

ด้วยวัยเพียง 18 ปี อรนุชได้เริ่มงานครั้งแรกในแผนกซักรีดที่แกรนด์โฮเต็ล แถวสุขุมวิท ซึ่งเป็นโรงแรมที่ตั้งขึ้นเฉพาะทหารอเมริกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดสงครามเวียดนามในปี 2507-2517 และประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน

อรนุชต้องทนเหม็นกลิ่นเหงื่อจากเสื้อทหารอเมริกันนานนับปี ก่อนที่จะย้ายไปอยู่แผนก RECEPTIONIST ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการต้อนรับ แต่ยังรวมถึงเป็นพนักงานรับโทรศัพท์และแคชเชียร์ด้วย ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่ทำให้อรนุชมีโอกาสทำธุรกิจติดต่องานในแวดวงทหารอเมริกันอันเป็นจุดเริ่มต้นของ "มนตรีทรานสปอร์ต"

"เพื่อนๆ ที่อยู่จัสแม็ก (JUSMAG) เขามาถามว่าสนใจไหมธุรกิจนี้ เพราะทหารอเมริกันกำลังจะกลับประเทศเขาแล้ว จะให้เราไปสวมรอยต่อ…เราก็โอเค ทำก็ทำ" อรนุชเล่าถึงความเป็นมาของบริษัทที่ให้บริการรับส่งนักเรียนโรงเรียนร่วมฤดี ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย แทนทหารอเมริกันที่อยู่ในช่วงถอนกำลังเนื่องจากเป็นช่วงปลาย สงครามเวียดนามหรือราวปี 2513

คงไม่ผิดหากกล่าวว่า อรนุชเป็นตัวอย่างของผู้หญิงทำงานคนหนึ่งที่สามารถสร้างธุรกิจขึ้นจากภาวะสงครามเวียดนาม ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากธุรกิจผับ-บาร์ หรือวัฒนธรรมการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบตะวันตกที่เริ่มเข้ามาแพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าว

แม้อรนุชจะไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจบริการรับส่งนักเรียนด้วยใจรัก แต่ความตั้งใจจริงในการทำงาน ตลอดจนการขยายตัวของจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2534 ที่รัฐบาลมีนโยบายให้เปิดโรงเรียนนานาชาติได้โดยเสรีและเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าศึกษาได้ ส่งผลให้กิจการของมนตรีทรานสปอร์ตขยายตัวแบบก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเด่นชัด

รายได้ที่หมุนเวียนเข้าบริษัท เพิ่มขึ้นจากระดับไม่เกิน 10 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 2534 เป็น 35.9 ล้านบาท และ 62.6 ล้านบาท ในปี 2534 และ 2535 ตามลำดับ หรือจำนวนรายได้ภายหลังปี 2535 เพิ่มขึ้นกว่า 300%-400% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ขณะที่กำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 40 บาทในช่วงก่อนปี 2534 เป็น 99 บาท และ 97.85 บาทในปี 2534 และ 2535 ตามลำดับ

ปัจจุบันมนตรีทรานสปอร์ตรับส่งนักเรียนโรงเรียนนานาชาติจำนวน 7 แห่ง คือ ร่วมฤดีวิเทศศึกษา สถานศึกษานานาชาติหรือที่รู้จักกันดีในนามของ "ไอเอสบี" ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด สมาคมไทย-ญี่ปุ่น เซนต์จอห์น สถานศึกษานานาชาติแห่งใหม่ สวิส และไอซีเอฟขณะที่บางกอกพัฒนาเพิ่งยกเลิกใช้บริการในเดือนกันยายน 2535 ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ใช้บริการมานาน เกือบ 20 ปี เพราะคณะกรรมการชุดใหม่ของโรงเรียนเห็นว่าราคาสูงเกินไปโดยทางโรงเรียนจัดให้บริการเอง

หลังจากบริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น อรนุชก็เริ่มวางมือในราวปี 2533 โดยทำหน้าที่ประธานของบริษัทที่คอยให้คำปรึกษาเท่านั้น โดยให้น้องเข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นณรงค์ พณิชากิจ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ กนกวรรณ เล็กศิวิไล เป็นรองผู้อำนวยการ

กล่าวได้ว่าทั้งณรงค์และกนกวรรณเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงแม้ทั้งคู่จะสำเร็จการศึกษาทางด้านเภสัช แต่ณรงค์ก็มีประสบการณ์ด้านการบริหารจากการทำงานที่บริษัทเบอร์ลินอยู่หลายปี รวมทั้งเข้าเรียนในหลักสูตร เอ็กซ์-เอ็มบีเอที่ธรรมศาสตร์ ขณะที่กนกวรรณจบการศึกษาด้านเภสัชเช่นกัน แต่เข้าเรียนในหลักสูตรเอ็มไอเอ็มที่ธรรมศาสตร์

อรนุชค่อนข้างเชื่อมั่นในฝีมือการบริหารของน้องทั้ง 2 คนเป็นอย่างดี ดังคำกล่าวที่ว่า "ทั้งสองคนช่วยให้การทำงานของบริษัทมีความเป็นระบบมากขึ้น…ทุกๆ วันเสาร์เราจะมีการประชุมพนักงาน และจะมีการออกตรวจงานหรือพบลูกน้องตามโรงเรียนต่างๆ ด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศใกล้ชิดและความเป็นกันเอง"

ไม่เฉพาะด้านธุรกิจที่อรนุชไม่เคยปล่อยโอกาสให้ผ่านไปการศึกษาก็เช่นกัน อรนุชเข้าศึกษาต่อทางด้านการบริหารในหลักสูตรมินิเอ็มบีเอที่ธรรมศาสตร์จนจบเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ปัจจุบันกำลังเรียนทางด้านนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและออกช่วยทำงานที่เกี่ยวกับสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประธานโครงการรักสิ่งแวดล้อมเขตบึงกุ่ม หรือที่ปรึกษาของ พอ.วินัย สมพงษ์ รมต.ว่าการคมนาคมในปัจจุบัน

"มันเป็นสิ่งที่เราวางไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อธุรกิจเราเริ่มอยู่ตัว…เราจะทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น" อรนุชกล่าวทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.