|
คลังแฉ ธปท.ทุ่มสู้บาทล้านล้าน
ผู้จัดการรายวัน(22 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
รมช.คลังแฉแบงก์ชาติใช้เงินพยุงค่าบาทด้วยการซื้อดอลลาร์ถึง 1 ล้านล้านบาท เผยต่างชาติส่งดอลลาร์เข้ามาให้บริษัทลูกในไทยทำกำไรอื้อ "ฉลองภพ" ยังปล่อยชะตากรรมประเทศไว้ในมือแบงก์ชาติ อ.จุฬาฯ สับเละ "ธาริษา" อ่อนหัดแทรกแซงบาทจนเจ๊ง ทำโครงสร้างตลาดเงินพัง แฉผลงานโบดำ ‘หม่อมอุ๋ย’ ฝากเอาไว้ช่วงนั่งขุนคลังอนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ให้แบงก์ชาติไว้ต่อสู้ค่าเงินจนบานปลาย จับตาเตรียมผลักภาระขาดทุนให้ประชาชนรับกรรม ไม่ต่างกับสมัย ‘เริงชัย’
วานนี้ (21 มี.ค.) นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมาว่า ใช้เงินไปแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการใช้เงินโดยการเข้าไปซื้อดอลลาร์เพียงอย่างเดียว ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติเนื่องจากปกติการแทรกแซงค่าเงินบาทจะมีทั้งซื้อและขาย
"เฉพาะในระยะนี้ ธปท.เข้ารับซื้อดอลลาร์ที่ผู้ส่งออกได้ขายฟอร์เวิร์ดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ส่งออกมีความกังวลว่าหากไม่ขายตอนนี้แล้วเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่า 34 บาท/ดอลลาร์ หรือไหลไปถึง 32 บาท/ดอลลาร์ ก็จะทำให้ขาดทุนอย่างมาก" นายสมหมายกล่าวและว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ เกิดจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเงินที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ ส่งมาให้บริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อหวังกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
วันเดียวกัน ที่ ธปท. มีการประชุมคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานฯ กล่าวสั้นๆ ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการรายงานเกี่ยวกับค่าเงินบาทด้วย แต่การดูแลค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
"หากกระทรวงการคลังและ ธปท.ประสานงานร่วมกันในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจก็น่าจะช่วยให้การดูแลปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ สามารถทำได้อย่างดี" รมว.คลังกล่าว
**แบงก์ชาติยันความเป็นอิสระ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการทุนรักษาระดับฯ ว่า เป็นธรรมเนียมปกติที่เมื่อมีรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะประชุมเพื่อสรุปให้ฟังว่าหน้าที่ของทุนรักษาระดับมีอะไรบ้าง เนื่องจากตามหลักกฎหมายแล้วขณะนี้ทุนรักษาระดับยังไม่ได้ยกเลิกไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้วหลังจากที่ ธปท.ประกาศใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวเมื่อปี 2540 ระดับของค่าเงินบาทก็เปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาดและ ธปท.เป็นผู้ดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนทำให้คณะกรรมการทุนรักษาระดับไม่ต้องทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหมือนเดิมแล้ว อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ สามารถเรียกประชุมจนกว่าจะผ่านขั้นตอนสภาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันที่ 20 มีนาคมที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคถือว่าแข็งค่าที่สุด
**แฉโบดำหม่อมอุ๋ย
แหล่งข่าวจากอดีตกรรมการกนง.เปิดเผยว่า การใช้เงินต่อสู้ค่าเงินบาทครั้งนี้ของแบงก์ชาติเมื่อเทียบกับปี48 ทั้งปีมีการแทรกแซงใช้เงินไปแค่ 20,000 ล้านบาท แต่นับแต่ปี 2549 ในสมัยของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการธปท. ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท ใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆกระทั่งเปลี่ยนมานางธาริษาใช้ไปแล้ว 1 ล้านล้านบาทดังกล่าว
“สาเหตุที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าตกใจประการหนึ่งที่ไม่มีใครรู้คือ หม่อมอุ๋ยตอนที่นั่งเป็นรมว.คลังรู้ว่าสู้กับนักเก็งกำไรแล้วขาดทุนก็เพิ่มเพดานเงินกู้บาทให้แบงก์ชาตินำไปซื้อดอลลาร์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเงียบๆโดยอ้างว่าเพื่อรักษาสภาพคล่อง” แหล่งข่าวกล่าว
การซื้อขายหรือแทรกแซงค่าเงินเป็นอิสระของแบงก์ชาติก็จริงแต่การจะใช้เงินกู้บาทเป็นอำนาจของรมว.คลังโดยตรง นายฉลองภพจะปฎิเสธไม่รับทราบตรงนี้ไม่ได้ หากเปิดเผยบัญชีเงินคงค้างเงินกู้ส่วนนี้ของแบงก์ชาติออกมาก็จะปรากฏเป็นหลักฐานได้ชัด
**ตกเป็นเบี้ยล่างแบงก์พาณิชย์
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คำถามที่ทุกคนสงสัยคือในเมื่อแบงก์ชาติบอกว่ามาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยกันสำรอง30% ได้ผลทำไมเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ก็เพราะความอ่อนหัดของแบงก์ชาติเอง ปกติแล้วประเทศไหนๆเช่น จีน ญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์ก็ทำแต่เขาไม่ขาดทุน แล้วสามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินของเขาไว้ได้ แต่นี่แข็งค่าขึ้นเรื่อยโดยอ้างผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วมีผู้มีผสมโรงเช่นธนาคารพาณิชย์ร่วมด้วยโดยธนาคารพาณิชย์ทำกำไรโดยการซื้อขายกับแบงก์ชาติวันละหลายรอบ
“ถ้าทำเป็นแบงก์ชาติต้องรักษาสมดุลระหว่างซื้อและขาย มือขวาปั๊มเงินบาทคอยซื้อดอลลาร์ มือซ้ายก็ต้องทำหน้าที่ดูดกลับ แบงก์ชาติทำอยู่อย่างเดียวคือกู้เงินบาทแล้วซื้อดอลลาร์ก็เจ๊งกันที่เห็น” แหล่งข่าวกล่าว
**หดหู่สุรยุทธ-คลังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลเสียของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยการดูแลที่ไม่ได้ผลของแบงก์ชาติกำลังจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ผู้ส่งออกซึ่งจะมีห่วงลูกโซ่เป็นเกษตรกร รากแก้วของสังคมจะเดือดร้อน ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสาร จากความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้ในช่วงนี้ผู้ส่งออกรีรอการรับคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศ ชาวนาก็จะถูกกดราคารับซื้อลง
ขณะที่บรรดาผู้นำเข้าซึ่งเป็นทุนข้ามชาติ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือ ทุนการเมืองได้ประโยชน์ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ นายฉลองภพ ต่างไม่ทราบว่าตัวเองกำลังจะทำอะไร น่าหดหู่สำหรับเศรษฐกิจไทยมากในขณะนี้
“ในสมัยนายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นผู้ว่าการธปท.ประชาชนต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการต่อสู้ค่าเงินของแบงก์ชาติเป็นจำนวนเงินมหาศาล อนาคตอันใกล้นี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนอย่างเราจะต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการต่อสู้รอบใหม่” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แล้วว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพื่อความโปร่งใส นางธาริษาก็ต้องถูกสอบด้วยในฐานที่เอาเงินของประชาชนไปปกป้องค่าเงิน
**นักวิชาการจวกบิ๊ก ธปท.ทำเจ๊ง
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธปท.ควรลดนโยบายแทรกแซงค่าบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเฉพาะหน้าเพื่อหวังช่วยเหลือภาคส่งออกเพียงด้านเดียว เพราะจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจระยะยาว ที่สำคัญ ธปท.ควรศึกษาข้อมูลทิศทางค่าเงินในอนาคตให้ชัดเจนมากขึ้นก่อนจะแทรกแซงแต่ละครั้ง เนื่องจากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธปท.ดำเนินนโยบายผิดพลาดมาโดยตลอดที่นำเงินออมประชาชนจำนวนมากไปแทรกแซงให้อัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระดับ 40-41 บาท แต่ก็ตรึงไม่ไหว สุดท้ายค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ในระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์
"การแทรกแซงค่าบาทต้องดูจังหวะความเหมาะสม รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับกลไกตลาดมากที่สุด หากหลับหูหลับตาเหมือนช่วงที่ผ่านมาที่รัฐบาลและ ธปท.เน้นตรึงค่าเงินให้อยู่ระดับ 40-41 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก สุดท้ายต้องเสียเงินออมจำนวนมากเพื่อตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในการแทรกแซง เพราะค่าเงินก็ยังแข็งค่ากว่า 35 บาท" นายตีรณกล่าวและว่า การช่วยเหลือภาคส่งออกไม่ใช่หน้าที่หลักของ ธปท. แต่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น ที่ร่วมกันพัฒนาความสามารถการแข่งขันและมาตรการรองรับความผันผวนเศรษฐกิจในตลาดโลก ทั้งราคาน้ำมัน และความผันผวนค่าเงิน
"รัฐบาลควรให้ความสำคัญนโยบายการคลังมากกว่าการเงิน เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เช่น การลดภาษีนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นแรงจูงใจผู้ประกอบการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ แม้ระยะแรกภาครัฐจะเสียรายได้บ้างแต่ระยะยาวจะเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า ขณะที่การลดดอกเบี้ยช่วยการลงทุนระยะยาวไม่มาก และที่สำคัญกระทบรายได้ของผู้ฝากเงินและกระทรวงการคลังควรผลักดันให้ธนาคารภาครัฐปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีโครงการคุณภาพ"
**ส่งออกยังไม่ทรุดมาก
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แจ้งว่า กลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของ สศค. คาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 2550 นี้จะขยายตัวอยู่ที่ 8.1% ลดลงจากปี 2549 โดยเป็นไปตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งการที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวการณ์ส่งออกประจำเดือนมกราคม 2550 ว่า มีมูลค่าการส่งออก 10,488 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.7% นั้น ถือว่าใกล้เคียงกับการคาดการณ์ที่ สศค. คาดไว้ที่ 18%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|