สุเมธ อินทามระ หากเป็นผู้อยู่ในแวดวงตลาดสุขภัณฑ์ในช่วง 10 ปีที่แล้ว
จะจำได้ถึงความเป็นขุนทัพของค่ายอเมริกันสแตนดาร์ดของบุรุษหนุ่มผู้นี้ที่ได้แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด
จนผลักดันให้ค่ายอเมริกันสแตนดาร์ด เป็นผู้นำในตลาดสินค้านี้อย่างสมบูรณ์แบบ
ด้วยความเป็นผู้ใฝ่รู้และศึกษากลยุทธ์แนวทางการตลาดอยู่ตลอดเวลา ผลงานครั้งอยู่ที่อเมริกันสแตนดาร์ด
ที่มีส่วนผลักดันให้มีการผลิตสุขภัณฑ์หลายๆ รูปแบบ รวมทั้งการบรรจุเทคโนโลยี่ชั้นสูงเข้าไปในสุขภัณฑ์บางรุ่นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า
เป็นรากฐานประการสำคัญในการค้นหาสูตรผสมที่ลงตัวในอาชีพของสุเมธในอนาคต
ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ครั้งอยู่ที่อเมริกันสแตนดาร์ดแห่งนี้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสุเมธในกาลต่อไปคือ
การมีส่วนร่วมในการวางแผนตอบโต้กลยุทธ์ของค่ายตรงจ้ามไม่ว่าจะเป็นค่ายปูนซิเมนต์ไทยหรือปูนซิเมนต์นครหลวงที่ใช้วิธี
"PACKAGING" หรือการขายครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นปูนซิเมนต์ เหล็กเส้น
กระเบื้อง หลังคา รวมถึงสุขภัณฑ์ เพื่อลดส่วนแบ่งของค่ายอเมริกันสแตนดาร์ดลง
ทางฝ่ายอเมริกันสแตนดาร์ดก็ใช้กลยุทธ์ตอบโต้โดยพยายามชูประเด็นเรื่องคุณภาพ
และภาพพจน์ของสินค้าผ่านสื่อโฆษณาทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศนือย่างเต็มที่
ทำให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้
แต่จากจุดนี้ไปก่อปฏิกริยาสำคัญที่ทำให้สุเมธได้คิดว่าเขาเริ่มไม่สนุกเสียแล้วกับสงครามการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงเช่นนี้
เมื่อได้รับการทาบทามจากกลุ่มธนัยพัฒน์ซึ่งกำลังพัฒนาโครงการธนิยะพลาซ่าและต้องการมือการตลาดเข้าไปช่วยบริหารงาน
สุเมธจึงหวังจะไปทดสอบประสบการณ์ที่สั่งสมมาในบรรยากาศอื่นดูบ้าง แต่การก้าวเข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของธนิยะพลาซ่าแห่งนี้
สุเมธทราบดีว่าไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ตนเองหวังเอาไว้ แต่จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้ตนเองค้นพบแก้วผลึกที่ตนเองค้นหามานานมากว่า
โดยกลุ่มธันยพัฒน์ได้เปิดโอกาสให้สุเมธได้ทำในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันมานาน
นั่นคือธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ระดับบน ที่สุเมธได้ใช้เวลาศึกษาและเข้าไปคลุกคลีกับตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั้งระดับบนและระดับกลางอยู่กว่า
3 ปี แม้ว่าจะจบมาทางด้านเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับการออกแบบภายใน
รวมถึงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วยมือหรือ HAND MADE นั้นว่าเขาทำกันอย่างไรก็ตาม
แต่สุเมธก็มีความรู้สึกเชื่อมั่นอีกว่า นี่แหละคือก้อนผลึกของอาชีพที่รอการตกบ่มมาเป็นเวลานานของเขา
ด้วยแนวความคิดทางด้านกลยุทธ์ สำหรับตลาดเฟอร์นิเจอร์ระดับสูงที่ผิดแผกไปจากตลาดสุขภัณฑ์ที่ไม่ต้องใช้วิธีส่งเสริมการขาย
และอัดฉีดโฆษณาอย่างบ้าระห่ำ แต่หันมาเน้นที่ตัวสินค้า ความพิถีพิถันในการหาเนื้อไม้ที่ดีที่สุดมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่ละชุด
หรือแม้แต่ความวิจิตรบรรจงที่จะสลักเสลาลวดลายลงไปในเนื้อไม้ เพื่อก่อให้เกิดงานศิลป์ที่มีคุณค่ามากกว่าคำว่า
"เฟอร์นิเจอร์" นั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเป็นอย่างมากสำหรับการรอคอยครั้งนี้
และแล้ว "ลาคาซ่า" บริษัทผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ระดับสูงจากต่างประเทศก็ได้ฤกษ์เกิดขึ้นที่ชั้นล่างของอาคารธนิยะพลาซ่า
และเร็วๆ นี้ก็จะได้ขยับขยายไปเปิดสาขาอีกแห่งที่ถนนศรีนครินทร์
"ความท้าทายของตลาดเฟอร์นิเจอร์ระดับบนนั้นไม่ใช่เกิดจากความมุ่งหวังที่จะทำยอดขายให้มาก
ๆ แต่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของผมที่จะผสมผสานความใฝ่ฝัน ที่จะทำอาชีพเกี่ยวกับการเพิ่มคุณค่าของชีวิตที่คิดมานานแล้วกับประสบการณ์ทางด้านตลาดที่สั่งสมมานานพอสมควร
นั่นก็คือ ผมอยากจะเข้าไปทำตลาดที่ไม่ต้องมีการแข่งขันที่สูงมาก และสามารถเข้าไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าทางด้านงานศิลป์
และยกระดับชีวิตของผู้ใช้ไปในตัวด้วย"
ด้วยเหตุที่เพิ่งจะเข้ามาจับตลาดสินค้าประเภทนี้เป็นครั้งแรก การลองผิดลองถูกเพื่อจะเข้าไปนั่งในใจของลูกค้า
จึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยสุเมธต้องลงไปคอยต้อนรับไต่ถามความต้องการของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
และเพื่อสนองตอบความต้องการดังกล่าวจึงต้องไปตลุยเสาะหาแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับบนทั่วโลกที่มีคุณภาพดีเยี่ยม
และก็ค้นพบว่า อิตาลี เสปน เป็นแห่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับบนที่เหมาะสมที่สุด
เพราะความสามารถของช่างศิลป์ผู้สร้างสรรค์งานเฟอร์นิเจอร์ ยังดำรงวิธีการผลิตดั้งเดิมด้วยมืออย่างเหนียวแน่น
"แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่าเราเข้าใจวิธีการทำตลาดและส่งเสริมการขายเฟอร์นิเจอร์ระดับบนเช่นนี้หรือไม่
เพราะตลาดสินค้าประเภทนี้จะต้องอาศัยวิธีส่งเสริมการขายด้วยวิธีปากต่อปาก
และค่อยๆ สร้างเสริมภาพพจน์สินค้าขึ้นไปเรื่อยๆ " สุเมธกล่าว
ดังนั้นเป้าหมายในการทำตลาดเฟอร์นิเจอร์ระดับบนในช่วง แรกๆ หลังจากเปิดกิจการมาได้กว่าปีจึงไม่ใช่เรื่องที่สุเมธใส่ใจมากนัก
อย่างไรก็ตามด้วยตัวเลขลูกค้าช่วงแรกๆ ซึ่งมีเพียง 4-5 รายต่อเดือนจนกระทั่งมาเป็นกว่า
10 รายในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทำให้สุเมธมีความหวังว่าตลาดนี้ยังไปได้อีกไกล
แม้ว่าจะมีมูลค่าตลาดเพียง 1% ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั้งระบบเท่านั้น
ความใฝ่ฝันของสุเมธ ที่จะหาสูตรผสมของตนเองนั้น ณ วันนี้เป็นเพียงครึ่งทางเท่านั้น
เพราะความใฝ่ฝันของเขายังหวังต่อไปว่า จะผลักดันให้ช่างศิลป์ของไทยสามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับสูงเช่นนี้
ออกไปให้คนทั่วโลกได้ดูบ้าง
นอกจากนั้นแล้ว ความคิดที่จะเข้าไปตลาดสินค้าที่จะเพิ่มคุณค่าชีวิตตัวอื่น
ก็ยังคงหลั่งไหลออกมาตลอดเวลาเพียงรอดูจังหวะ และโอกาสว่าจะลงไปทำตลาดในตัวใดดีเท่านั้น
"ผมเชื่อมั่นว่าชีวิตของคนไทยในช่วงอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างมีฐานะดีนั้น
จะเป็น FAMILYMAN กันมากขึ้น เพราะการงานที่ต้องแข่งขันสูงขึ้น ความเครียดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเนื่องจากการจราจรที่ติดขัดเหล่านี้จะทำให้คนระดับนี้ต้องไขว่คว้าหาซื้อสิ่งต่างๆ
มาปรนเปรอความสุขภายในบ้านเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานศิลป์ด้วยน่าจะเป็นทางออกที่ลงตัวได้"
สุเมธกล่าวในที่สุด