|

โครงการอพาร์ตเมนต์ให้เช่าดิ้นปรับตัว สร้างความต่าง-หนีคอนโดฯกลางเมือง
ผู้จัดการรายวัน(21 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สองสำนักที่ปรึกษาบริษัทอสังหาฯชั้นำในไทย ชำแหละตลาดอพาร์ตเมนต์ยังมีแนวโน้มเติบโต "ซีบี ริชาร์ดฯ" ชี้ อพาร์ตเมนต์ดีไซน์สวยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในกรุงเทพมหานคร ด้านโจนส์ แลงฯ ระบุผู้เช่าชาวต่างชาติมีความต้องการสูง อัตราผู้เข้าใช้ห้องพักเฉลี่ยสูงกว่า 30% โซนสุขุมวิททำเลยอดฮิต ยอมรับคอนโดมิเนียมดูดลูกค้าเช่าอพาร์ตเมนต์
นายธีราธร ประพันธ์พงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายให้เช่าที่พักอาศัย ของซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยตลาดอพาร์ตเมนต์ของกรุงเทพฯครั้งล่าสุด พบว่า อพาร์ตเมนต์ใหม่ที่มีดีไซน์สวยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดให้เช่าที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ ถึงแม้ห้องพักใหม่ ๆจะมีขนาดห้องที่เล็กกว่าห้องแบบเก่าก็ตาม โดยอัตราการเข้าพักอาศัยของอาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงเทพฯอยู่ที่ระดับ 88.6% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราห้องว่างที่เพิ่มมากขึ้น มาจากอพาร์ตเมนต์ที่มิได้มีการปรับปรุงตกแต่งใหม่
ในขณะเดียวกัน ปริมาณคอนโดมิเนียมในย่านในกลางกรุงเทพฯเพิ่มสูงขึ้นเป็น 46,548 ยูนิตในปัจจุบัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 8.6% จากปีก่อน และมีอัตราการเข้าพักอาศัยโดยรวมทั้งตลาดอยู่ที่ระดับ 84.8% และประเมินว่า ไม่เกิน 40% ของคอนโดฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เจ้าของห้องชุดซื้อเพื่อนำมาลงทุนโดยการปล่อยเช่า ในส่วนของ ปริมาณอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ ณ สิ้นปี 2549 มีทั้งสิ้น 10,048 ยูนิต เพิ่มขึ้นใหม่ 337 ยูนิตจาก 9 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีบางโครงการได้ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยให้เป็นโครงการประเภทอื่น ส่งผลให้ปริมาณอพาร์ตเมนต์ในตลาดปรับขึ้นประมาณ 1%
นายธีราธร กล่าวคาดการณ์ว่า ในย่านใจกลางกรุงเทพฯจะมีอพาร์ตเมนต์ใหม่จำนวน 615 ยูนิต และคอนโดฯใหม่จำนวน 6,618 ยูนิต ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2550 นี้
" แนวโน้มที่กำลังเห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือ โครงการที่พักอาศัยประเภทให้เช่าซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และมีการออกแบบที่สวยงามกำลังมีสัดส่วนในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับค่าเช่าในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่ากว่า 70% ของอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระจุกตัวอยู่ในย่านสุขุมวิท โดยเฉพาะบริเวณระหว่างอโศกและพร้อมพงษ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่มีความต้องการเช่าจำนวนมาก" นายธีราธรกล่าว
ด้านนายแดน ตันติสุนทร หัวหน้าฝ่ายวิจัย โจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่าตลาดอพาร์ตเมนต์ในเขตกรุงเทพฯชั้นในที่จับกลุ่มเป้าหมายผู้เช่าชาวต่างชาติ กลุ่มนี้มีประมาณ 11,000 หน่วย มียอดการเช่าห้องพักเฉลี่ยสูงกว่า 90% ซึ่งความต้องการที่มีอยู่ในระดับสูง มาจากการที่จำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานและพักอาศัยในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พบว่า ในปีที่ผ่านมา มีการออกใบอนุญาตทำงานใหม่ให้กับชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ รวมกว่า 21,000 ใบ ในขณะที่จำนวนการออกใบอนุญาตใหม่เฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า 17,800 ใบต่อปี
"ปัจจัยที่ทำให้อพาร์ตเมนต์ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในไม่มีการขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการขยายตัวของตลาดคอนโดมิเนียม ส่วนหนึ่งคือ ต้องมีทำเลที่ตั้งที่ดี ประกอบกับ ที่ดินบนทำเลลักษณะนี้ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน นอกจากจะเหลืออยู่น้อยมากแล้ว โดยส่วนใหญ่ยังมีราคาที่สูงเกินกว่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่น่าดึงดูดใจสำหรับการพัฒนาโครงการอพาร์ตเมนต์ อีกทั้ง โครงการอพาร์ตเมนต์เป็นการลงทุนระยะยาว และเจ้าของโครงการต้องมีพันธะผูกพันกับการลงทุนที่ยาวนานกว่า" นายแดนกล่าวและประเมินว่า
ในระหว่างปี 2550 และ 2551 จะมีโครงการอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 300-350 หน่วย ในกรุงเทพฯชั้นใน ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนที่มากขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ
นางดาวนำ วีระพงษ์ หน้าฝ่ายบริการธุรกิจที่อยู่อาศัย โจนส์ แลงฯ กล่าวถึงอัตราการเช่าอพาร์ตเมนต์ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย (ไม่แบ่งเกรดและขนาด) ประมาณ 290 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งนี้ อาคารที่สร้างเสร็จใหม่ๆ มีค่าเช่าสูงกว่า คืออยู่ระหว่าง 380 บาทถึงกว่า 550 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของอพาร์ตเมนต์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|