สำนักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าหรือในชื่อย่อว่า สจฟ. เป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าฝ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยขึ้นตรงต่อคณะอนุกรรมการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
ซึ่งมีสมบูรณ์ มณีนาวา ผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ เป็นประธาน
"ภารกิจเดิมของกฟผ.ก็คือ การสร้างและผลิตไฟฟ้าแต่ตอนนี้เรามีหน้าที่ใหม่เพิ่มขึ้นมาคือ
รณรงค์ในเรื่องของการประหยัดไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ"
สุวิทย์ ศิริสุวรรณชน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) พูดถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้
ตัวเลขของการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น กฟผ.ระบุว่าหากการใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังอยู่ในระดับปัจจุบัน
ปริมาณของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งหมายความว่า
กฟผ.จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับขนาดของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะประมาณปีละ
3-4 โรง
ฟังๆ ดูแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องเล็ก ๆ เลย เพราะการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงในปัจจุบัน
เป็นเรื่องยากมาก เพราะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อเพลิงหรือด้านสิ่งแวดล้อม
ที่เป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน
"เราเชื่อว่านโยบายของสำนักงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) จะทำให้มีการประหยัดไฟฟ้าได้ถึงประมาณ
300 เมกะวัตต์" สุวิทย์กล่าวถึงตัวเลขเป้าหมาย
นั่นหมายความว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่สจฟ.วาดเอาไว้แล้ว ในปี
2541 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า กฟผ.จะประหยัดเงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 10,000
ล้านบาทประหยัดค่าเชื้อเพลิงประมาณ 640 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าได้ประมาณ
1 ล้านตัน !!!
ที่สำคัญก็คือ การไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มนั้นเป็นการลดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในหลายๆ
เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อต้านการสร้างเขื่อนหรือการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับมาตรการประหยัดไฟนโยบายแรกที่สจฟ.เริ่มก็คือโครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า
ซึ่งได้มีการลงนามทำข้อตกลงระหว่าง กฟผ.กับผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศ
5 รายคือ ไทยโตชิบาไลท์ติ้ง ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) สยามทรีนิตี้อินเตอร์เทรด
เอเซียอุตสาหกรรมหลอดไฟฟ้าและล.กิจเจริญแสง ในการที่ทั้ง 5 บริษัทนี้จะเลิกผลิตหลอดไฟฟ้าแบบเดิมซึ่งกินไฟขนาด
20 และ 40 วัตต์ หลังจากวันที่ 19 ธันวาคม 2539 และหันมาผลิตเฉพาะหลอดไฟฟ้าประหยัดไฟขนาด
18 และ 36 วัตต์ ซึ่งกินไฟน้อยลงแต่ให้ความสว่างเท่าเดิมแทนโดยที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ
อมก.ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของหลอดไฟฟ้าใหม่ ด้วยการออกเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม
หรือมาตรฐาน อมก. ให้กับหลอดไฟฟ้าแบบประหยัดไฟนี้ และยกเลิก อมก.ที่ให้กับหลอดแบบเดิมเสีย
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้หลอดประหยัดไฟนี้แทน
"เป็นการนำการตลาดมาช่วยในการรณรงค์การประหยัดไฟ" สุวิทย์พูดถึงกลยุทธ์หลักในการรณรงค์ครั้งนี้
ซึ่งถือว่าเป็นโครงการด้านการประหยัดไฟชิ้นแรกที่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และน่าจะมีผลในทางปฏิบัติ
เพราะว่าสามารถดึงผู้ผลิตที่ครอบครองตลาดในประเทศเกือบทั้งหมดเข้ามาร่วมได้
ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย อยู่ในจุดที่มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยประมาณหน่วยละ
1.80 บาท ซึ่งหากเพิ่มการผลิตจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าเดิม อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทุกอย่างสูงขึ้นหากการใช้ไฟฟ้าไม่เป็นไปอย่างระมัดระวัง
"เรื่องค่าไฟนี่เป็นรื่องสำคัญของการลงทุนอุตสาหกรรม" สุวิทย์กล่าว
พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น ในการหาเงิน 1 ดอลล่าร์
อเมริกาจะใช้เชื้อเพลิงสูงกว่าญี่ปุ่นถึง 2 เท่าตัว
ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวในประเทศ กฟผ.จึงต้องลงมาทำกิจกรรมนี้
หลังจากจบการรณรงค์ใช้หลอดไฟฟ้า โครงการรณรงค์ประหยัดไฟต่อไปก็จะหันมาแนะนำในเรื่องการใช้เครื่องไฟฟ้าตัวอื่น
คือตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับต่อไป
การดำเนินโครงการให้มีการประหยัดไฟของกฟผ.โดยผ่านบทบาทของสำนักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในครั้งนี้
คือความพยายามสร้างภาพพจน์ใหม่ของการไฟฟ้าฯ ให้เห็นว่า ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
จนจะทำอะไรแต่ละทีก็ถูกจับตาดูจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่าจะทำลายสมดุลทางนิเวศวิทยากันอีกแล้วหรือ