บัตรเครดิตกสิกรไทยอัจฉริยะ หรือ TFB SMART CARD เป็นบัตรที่ใช้ระบบอิเลคทรอนิคส์ในรูปของไมโครชิปบรรจุข้อมูล
และรหัสของบัตรแทนการใช้แถบแม่เหล็กที่ติดบนบัตรเครดิตทั่วไป
ไมโครชิปจะถูกฝังอยู่มุมซ้ายของบัตร มีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1.5
คูณ 1.5 เซนติเมตร ไมโครชิปสีเหลืองทองหนึ่งชิ้นบรรจุหน่วยความจำถึง 8 KB
หรือประมาณ 5,000 ตัวอักษร
ความสามารถในการบันทึกข้อมูลทำให้ทีเอฟบี สมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียวมีประสิทธิภาพเท่ากับบัตรพลาสติก
3 ประเภทรวมอยู่ในบัตรใบเดียว คือ เป็นเดบิทการ์ด หรือบัตรเงินสดทันใจ หรือที่เรียกกันว่า
บัตรเอทีเอ็ม ใช้ถอนเงินจากเครื่องฝาก-ถอนอัตโนมัติหรือตู้เอทีเอ็ม เป็นเครดิตการ์ดใช้เซ็นจ่ายเงินล่วงหน้าได้ตามวงเงินสินเชื่อ
และสุดท้ายเป็นสมาร์ทแคช เสมือนหนึ่งมีเงินสดพกติดตัว ใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าโดยไม่ต้องใช้ธนบัตร
"สมาร์ทการ์ดจะมีประโยชน์มากในอนาคต นอกจากจะสะดวกไม่ต้องพกบัตรหลายใบแล้ว
ยังช่วยให้ไม่ต้องเก็บเหรียญสตางค์ให้ตุงกระเป๋าอย่างเช่น ซื้อสบู่ 35.5
บาทเราใช้สมาร์ทแคชซื้อได้เลยทางร้านค้าก็จะมีบัตรอีกใบ และมีเครื่องสำหรับดูดเงินจากบัตรลูกค้า
35.50 บาทเป็นตัวเลขอยู่ในบัตรของร้าน ถ้าตลอดทั้งวันมีคนซื้อของเป็นเงิน
52,000 บาท เงินทั้งหมดก็จะอยู่ในบัตรใบเดียว และทางร้านสามารถส่งเข้าเครื่องไปที่บัญชีธนาคารได้เลย
โดยไม่ต้องเสียเวลานับเงินสดอีกครั้ง" วรภัทร โตธนเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยเล่าให้ฟังถึงความคล่องตัวเมื่อใช้สมาร์ทการ์ด
นอกเหนือจากความสะดวกในการใช้จ่ายและรับเงินแล้ว ยังมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ถือบัตร
อาทิโรคประจำตัว กรุ๊ปเลือด ประวัติการแพ้ยา ยาที่ใช้เป็นประจำ กีฬาที่เล่นประจำ
เป็นต้นสำหรับเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการรักษากรณีฉุกเฉิน
อีกทั้งเป็นสมาร์ทไอดีใช้บันทึกรหัสลับของผู้ถือบัตรและมีโปรแกรมทำลายหน่วยความจำทั้งหมด
เมื่อมีผู้อื่นนำบัตรไปใช้และใส่รหัสผิด หรือพยายามจะถอดรหัส
จากความสามารถป้องกันตัวได้เองของสมาร์ทการ์ดทำให้ทางธนาคารกสิกรไทยมั่นใจว่าการปลอมแปลงบัตรจะเป็นไปไม่ได้เลย
จึงกล้าอนุมัติการเบิกเงินสดได้ตามวงเงินจริงในบัญชี จากเดิมที่เมื่อใช้บัตรเครดิตจะจำกัดการเบิกจ่ายวันละ
20,000 บาทเท่านั้น และยังให้ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดแทนการใช้สมุดคู่ฝาก
"มีการคาดการณ์ไว้ว่าในทศวรรษ 1990 ก่อนถึง ค.ศ.2000 จะเริ่มนิยมใช้สมาร์ทการ์ดกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หลังจากผ่านช่วงการทดลองใช้ในบางประเทศ และยังไม่ประสบความสำเร็จนักในระยะ
19-20 ปีที่ผ่านมา ทางกสิกรไทยจึงโดดเข้ามาในช่วงเวลานี้ ซึ่งคิดว่าเป็นจังหวะเหมาะสมที่สุด"
วรภัทรกล่าว
นอกจากประสิทธิภาพที่เกิดจากสมองอิเล็กทรอนิคส์ของสมาร์ทการ์ดแล้ว ทางกสิกรไทยได้สร้างค่าสมาร์ทการ์ดให้เป็นตัวเงินขึ้นมา
ด้วยการทำบันทึกยอดใช้บัตรซื้อสินค้าและบริการ เพื่อนำมาเป็นส่วนลดหรือแลกของกำนัลตามระดับยอดคะแนนสะสม
จากห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารภัตตาคาร ตลอดจนบริษัทที่ร่วมกับทางธนาคารจัดรายการสมนาคุณผู้ใช้บัตร
ซึ่งในขั้นต้นจะมีประมาณ 10 แห่ง
ก่อนที่ ทีเอฟบี สมาร์ทการ์ดจะเปิดตัวด้วยความร่วมมือของสี่บริษัทใหญ่
ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัทล็อกซบิทซึ่งอยู่ในเครือบริษัทล็อกซเล่ย์เป็นบริษัทซัพพลายเออร์ไมโครชิป
บริษัทเจมพลัส เทคโนโลยี เอเชีย และบริษัท เวอริโฟน (สิงคโปร์)
ธนาคารไทยพาณิชย์เคยหยั่งเชิงสมาร์ทการ์ดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2530 โดยมีโปรแกรมบันทึกข้อมูลส่วนตัวมากกว่าทีเอฟบี
สมาร์ทการ์ด อาทิ ข้อมูลบัตรภาษี บัตรประชาชน ข้อมูลพาสปอร์ต เป็นต้นแต่ไม่เป็นที่นิยมจนต้องพับเก็บเข้าแฟ้มตามเดิม
เพราะในระยะนั้นคนไทยใช้บัตรเอทีเอ็มมากที่สุด และกำลังหันมาสนใจใช้บัตรเครดิตมากขึ้น
ในขณะที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มตื่นตัวขึ้นรวมทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย และคาดว่าคงมีการออกสมาร์ทการ์ดในระยะเวลาใกล้เคียง
กับของธนาคารกสิกรไทยที่กำหนดเปิดรับสมาชิกกลางเดือนตุลาคมและให้บริการในเดือนธันวาคม
ปีนี้
ทางธนาคารกสิกรไทยถือว่าสมาร์ทการ์ดเป็นบัตรเครดิตสำหรับลูกค้าเกรดเอที่สามารถมีวงเงินสินเชื่อตั้งแต่
50,000 บาทขึ้นไป เท่ากับเป็นการสกรีนลูกค้าชั้นแรกเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง
และในขณะเดียวกันก็เป็นการจำกัดวงการใช้บัตรทางอ้อมเช่นกัน ซึ่งในอนาคตเมื่อการแข่งขันสูงขึ้น
เพดานวงเงินสินเชื่อของสมาร์ทการ์ดอาจจะกลายเป็นกลยุทธ์เรียกลูกค้าวิธีหนึ่ง
ดังเช่นที่บัตรเครดิตใช้อยู่ปัจจุบัน และเมื่อถึงวันนั้นสมาร์ทการ์ดอาจเข้ามาแทนที่บัตรเครดิตตามที่หลายๆ
คนคาดหวัง