บาทแข็งลดมูลหนี้TPIPL ลั่นรีไฟแนนซ์เงินกู้หมื่นล.เสร็จปีนี้


ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีพีไอโพลีนตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 5% เชื่อตลาดซีเมนต์และเม็ดพลาสติกยังเติบโตอยู่ มั่นใจรีไฟแนนซ์หนี้ 1 หมื่นล้านบาทได้ภายในปี 50 โดยจะกู้ซินดิเคทแบงก์ไทย 4-5 ราย หลังจากนั้นจะยื่นออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ขณะที่บริษัทรับอานิสงส์เงินบาทแข็งค่าทำให้มูลหนี้ลดเหลือแค่ 9.9 พันล้านบาท ด้านเจ้าหนี้ไฟเขียวการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 36 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.2 พันล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 คงต้องรอไปจนกว่าความต้องการใช้ปูนจะเพิ่มขึ้น

นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 2.26 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มราคาปูนซีเมนต์จะปรับขึ้นเล็กน้อย 5% ขณะที่ความต้องการใช้ปูนขยายตัว 0-5% แต่ขึ้นอยู่กับราคาเม็ดพลาสติก LDPE/EVA จะผันผวนมากน้อยแค่ไหน

โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4-4.5% แม้ว่าช่วงต้นปีจะมีการชะลอตัวลง แต่หลังจากรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง จะช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จีดีพีในช่วงปลายปี 2550 ดีขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจะช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมาก

"ช่วงนี้ความต้องการใช้ปูนลดลง แต่เชื่อว่าปลายปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งดอกเบี้ยลดลง ทำให้ปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ปูนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 0-5% ขณะที่ LDPE จะขยายตัว 4% ธุรกิจคอนกรีตโตขึ้นไม่เกิน 3% ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงจะมีมากในปีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้องบังคับผังเมือง"

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะส่งออกปูนไปต่างประเทศประมาณ 10% ของยอดขาย ลดลงจากปีที่แล้วที่ส่งออกไป 12% ซึ่งราคาขายปูนในประเทศจะสูงกว่าราคาส่งออก ปัจจุบันทีพีไอโพลีนผลิตปูนซีเมนต์เต็มกำลังผลิตที่ 9 ล้านตัน ส่วนเม็ดพลาสติกLDPE คาดว่าจะมีส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (สเปรด) ประมาณ 200 เหรียญสหรัฐต่อตันใกล้เคียงปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทจะพยายามรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับปีที่แล้วประมาณ 23%

ส่วนความคืบหน้าการรีไฟแนนซ์หนี้เดิม 1.01 หมื่นล้านบาทว่า บริษัทต้องการรีไฟแนนซ์หนี้เป็นสกุลเงินบาททั้งหมด โดยจะมีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไทย 4-5 รายแบบซินดิเคทโลน เทอมชำระเงินกู้ 7 ปี ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ 2 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยสินเชื่อดังกล่าว บริษัทเชื่อว่าจะรีไฟแนนซ์หนี้ได้ภายในปีนี้ ส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงประมาณ 1% เป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวอ้างอิง MLR

"จากบริษัทรีไฟแนนซ์หนี้แล้วเสร็จ บริษัทจะดำเนินการยื่นขอออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีสุดท้าย หากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลฯจะพิจารณาให้บริษัทออกจากการฟื้นฟูหรือมีคำสั่งให้ล้มละลาย แต่เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์รวม 4.9 หมื่นล้านบาท และหนี้สิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โอกาสถูกสั่งให้ล้มละลายเป็นไปได้ยาก ซึ่งตนเชื่อว่าทีพีไอโพลีนจะรีไฟแนนซ์หนี้ได้สำเร็จ"

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการรีไฟแนนซ์หนี้ได้ ก็จะออกบอนด์มาชำระหนี้ แต่เชื่อว่าการรีไฟแนนซ์หนี้ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งการออกบอนด์นั้นบริษัทจะพิจารณาเพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนสร้างโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 4

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทมีโครงการนำความร้อนจากเตาเผามาผลิตไฟฟ้า 36 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการ 1.2 พันล้านบาท แต่ปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาทมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งเจ้าหนี้ได้อนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว

โครงการนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงปีละ 360-500 ล้านบาท ซึ่งจะปรากฏในงบการเงินทีพีไอโพลีนในปี 2552

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ซึ่งบริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 75 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 พันล้านบาทนั้น คงต้องเลื่อนออกไปจนกว่าบริษัทฯจะดำเนินรีไฟแนนซ์หนี้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งการเลื่อนโครงการนี้ไปก่อนไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนในประเทศยังไม่โตเท่าที่ควร จึงนำเงินมาลงทุนโครงการอื่นแทน

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทรอคำสั่งจากศาลฎีกาในคดีการซื้อหนี้คืนแบบมีส่วนลดที่เจ้าหนี้ 10 รายได้ยื่นคำร้อง โดยไม่ยอมรับเงินที่บริษัทวางไว้ที่ศาลล้มละลายกลางจำนวน 3 พันกว่าล้านบาท หากศาลฯมีคำสั่งให้บริษัทชนะคดี ก็จะมีการบันทึกกำไรจากการซื้อลดหนี้ดังกล่าวจำนวน 2,245 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2549 บริษัทฯมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1.01 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ทำให้หนี้ปรับลดลงเหลือ 9.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ 120.52 ล้านเหรียญ หนี้สกุลยูโร 43.94 ล้านยูโร สกุลเยน 401.40 ล้านเยน และสกุลเงินบาท 3.56 พันล้านบาท โดยเจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือKFW แบงก์กรุงเทพ และแบงก์กรุงไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.