|
ธปท.ปล่อยอ้อโอนเงิน ส่งซิกลดดอกเบี้ย 0.5%
ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บาทยังวิกฤต ล่าสุดแข็งค่ามาอยู่ที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ "อัจนา" อ้างเหตุผลเดิม ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ โชว์ฉลาด บอกเป็นโอกาสทองของผู้นำเข้า สั่งคลัง-รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบและก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ สศค.เผยวันนี้จะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กรรมการขับเคลื่อน "ธาริษา" งัวเงียส่งสัญญาณ กนง.พร้อมลดดอกเบี้ยรวดเดียว 0.5% เผยอนุญาตให้หญิงอ้อขน 400 ล้านออกแล้ว ขณะที่ ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจ เอกชนถอดใจ คาดจีดีพีลดเหลือเพียง 3-3.5%
ค่าเงินบาทวานนี้ (19 มี.ค.) นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปิดตลาดที่ 34.83/85 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาด 34.89/90 บาท/ดอลลาร์ ในระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 34.83 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 34.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าลงจาก 117.20 เยน/ดอลลาร์ ในช่วงเช้ามาเป็น 117.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงจาก 1.3300 ดอลลาร์/ยูโร มาเป็น 1.3285 ดอลลาร์/ยูโร ทั้งนี้ วันที่ 20 มี.ค.ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการประชุม คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม 0.5% เนื่องจากผู้ว่าการของ BOJ ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"วันนี้ (20 มี.ค.) คาดว่า ค่าเงินบาทจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 34.75-34.90 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าเงินบาทจะยังแข็งค่าขึ้น เนื่องจากไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงนี้"
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเหมาะสำหรับนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขยายกำลังการผลิตภาคธุรกิจให้มากขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีมากนัก ขณะเดียวกันแม้กำลังการผลิตจะสูงในปัจจุบัน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้เหมาะสำหรับลงทุนให้เกิดขึ้นทันที อีกทั้งปัจจัยจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศจีนด้วย
ดังนั้น ขณะที่นโยบายการเงินที่ ธปท.ดูแลมีการผ่อนคลายมากขึ้น ภาครัฐจึงควรมีนโยบายการลงทุนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายการคลังควรมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและรัฐบาลควรเร่งก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ภาครัฐควรกระตุ้นออกมาให้มาก
นางอัจนากล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ เพราะผู้ส่งออกมีการเทขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นรายได้จากการค้าขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้ ธปท.คงจะเข้าไปห้ามผู้ส่งออกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเชิงธุรกิจของผู้ส่งออกแต่ละรายเอง แต่ ธปท.ก็ได้กำชับให้ดูให้ดี เพราะการใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเต็มจำนวน (fully hedge) ไม่ได้แตกต่างกับวิธีกันสำรอง30% และผลของมาตรการนี้ก็ช่วยดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ส่งออกจะมีความเข้าใจและทำการหยุดการซื้อขายเอง เพราะมันมีกลไกของมันอยู่ เช่น มีการนำเงินตราต่างประเทศไปชำระหนี้ต่างประเทศ ถือเป็นการหักล้างกันได้
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของไทยเทียบกับประเทศคู่ค้าทั้ง 21 ประเทศ พบว่า การที่ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงตาม โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ซึ่งแสดงถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเทียบกับปัจจุบัน ปรากฏว่า ดัชนีค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 77.36 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 72.02 หรือหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินบาทอยู่ที่ 7.41%ขณะที่ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ซึ่งมีการนำระดับราคาสินค้าในแต่ละประเทศมาเข้ามาพิจารณาด้วย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยเทียบกับ 21 ประเทศ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 88.92 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 81.40 ถือว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินที่แท้จริงอยู่ที่ 9.24%
คลังเด้งรับเข้าทาง "อัจนา"
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.กำลังศึกษาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจโดยรวม พิจารณาในวันนี้ (20 มี.ค.) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การบริโภคและการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นมาตรการนอกเหนือจากการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งของรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ
ธปท.ส่งซิกยอมลดดอกเบี้ย
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษ อย่างไรก็ตาม การพิจาณาปรับอัตราดอกเบี้ยก็เหมือนกับที่นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่ควรให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่
“หากเราเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์คณะกรรมการอิสระ ซึ่งมีคณะกรรมการบางคนที่ได้เชิญบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ในทีมด้วย ถือเป็นการก้าวก่ายการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดนี้ การประชุมคณะกรรมการ กนง.ไม่เคยมีการล็อบบี้กันมาก่อน ฉะนั้นจะลดหรือขึ้นดอกเบี้ย กนง.จะดูข้อมูลแล้วพิจารณาตามดุลพินิจของแต่ละคนเป็นสำคัญ”
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท.เคยปรับขึ้นและลดลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.5% มาแล้ว ดังนั้น เป็นไปได้หมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อมูลตัวเลขด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ อย่างไรก็ตามในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลงเรื่อยๆ
ยอมหญิงอ้อโอนเงินออกนอก
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.ได้อนุมัติให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สามารถขนเงินออกนอกประเทศจำนวนประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เรียบร้อยแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องผ่านธนาคารพาณิชย์มาขออนุญาต ธปท.
“เหตุผลที่แบงก์ชาติอนุมัติให้สามารถดำเนินการขนเงินจำนวน 400 ล้านบาทให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) รวมทั้งฝ่ายคดีของแบงก์ชาติก็ได้พิจารณาแล้วว่าไม่ติดข้อกฎหมายเช่นกัน จึงได้อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว”
สำหรับขั้นตอนต่อไป ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวกลางในการติดต่อเข้ามาจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เสนอขอนำเงินออกไปจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ที่ธนาคารพาณิชย์รายนั้นยังออกเอกสารให้ เพราะเชื่อว่ายังอยู่ในขั้นตอนดังกล่าวอยู่
สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าเกรงไหมว่าจะเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนภายหลัง เมื่อธปท.อนุมัติไปแล้ว ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้พิจารณาทุกด้านแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายก็ระบุว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าว โดยหลักการแล้วจะมีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน ฉะนั้น ธปท.ต้องทำตามกรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ด้วย
ภาคเอกชนทำใจเชื่อจีดีพีวูบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผลกระทบที่นักธุรกิจได้รับจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และเหตุการณ์ระเบิด ที่สำรวจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ 800 ราย ระหว่างวันที่ 7-16 มี.ค.2550 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.7% ระบุว่าการไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองจะกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นอันดับแรก ขณะที่ปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 คือ เหตุระเบิด ตามด้วยราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย แต่ปัจจัยที่กระทบต่อธุรกิจเป็นอันดับ 2 คือ ราคาน้ำมัน ตามด้วยอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และเหตุระเบิด
ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรก คือ เสถียรภาพทางการเมือง เพราะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และต่างชาติขาดความมั่นใจ ส่วนอันดับรองลงมา คือ แก้ไขราคาน้ำมัน เหตุระเบิด อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ปัญหา 5 ด้านจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งผู้ประกอบการ 58.3% ของกลุ่มสำรวจเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเหลือ 3-3.5 % ลดลงจากผลสำรวจในเดือนส.ค.2549 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 3.5-4% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ 35.9% เห็นว่า นโยบายด้านการเมืองของรัฐบาลไม่เหมาะสม 34.4% เห็นว่าเหมาะสมน้อย 24.2% เหมาะสมปานกลาง มีเพียง 5.5% ที่ว่าเหมาะสมมาก ขณะที่ 50.2% เห็นว่านโยบายด้านสังคมเหมาะสมปานกลาง 25.5% เห็นว่า เหมาะสมน้อย 13% เหมาะสมมาก และ 11.6% เห็นว่าไม่เหมาะสม ขณะที่มุมมองต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ 39.8% เห็นว่าเหมาะสมปานกลาง 33.6% เห็นว่า เหมาะสมน้อย 18.7% ไม่เหมาะสม และ 8% เหมาะสมมาก
“ธุรกิจส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ต้องการให้เปลี่ยนแนวทางใหม่ ซึ่งในด้านเศรษฐกิจ เสนอให้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจนผ่านนโยบายทางการเงิน และการคลัง โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ลดปัญหาค่าเงินบาทแข็ง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายภาคประชาชนไม่ให้ลดลงอีก รวมถึงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในเชิงประจักษ์มากขึ้น เพราะยังมีความไม่ชัดเจนและไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรอีกมาก ศูนย์เห็นว่า ในปี 2550 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวต่ำกว่า 4%” นายธนวรรธน์กล่าว
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำผลสำรวจทางเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหมาะสมควรลดลงจากปัจจุบันอีก 1% ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่นิ่งและค่าเงินบาทแข็งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายและกำไรลดลง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่รับได้อยู่ที่ 37.5 บาท/เหรียญ แต่ที่เหมาะสมคือ 37.9 บาท/เหรียญ.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|