|
ปิดฉาก"ซาร์เศรษฐกิจเมืองไทย"
ผู้จัดการรายวัน(20 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปิดตำนานซาร์เศรษฐกิจของเมืองไทย "บุญชู โรจนเสถียร" ด้วยวัย 86 ปี มะเร็งในเส้นเลือดพรากชีวิต ญาติเตรียมนำศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่ประจวบคีรีขันธ์ เผยบริจาคร่างกายให้ รพ.รามาธิบดี
วานนี้ (19 มี.ค.) เวลา 06.00 น. นายบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหัวหน้าพรรคกิจประชาคม วัย 86 ปี ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในเส้นเลือดที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หลังจากที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยโรคมะเร็งในเส้นเลือด เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยญาติได้เคลื่อนศพไปไว้ที่วัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในเวลา 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และจะมีการสวดพระอภิธรรมในเวลา 19.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มีนาคม แต่ยังไม่ฌาปนกิจ เนื่องจากนายบุญชู ได้บริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี
นายบุญชูเกิดเมื่อ 20 มกราคม 2465 เป็นลูกชายคนโตที่มีพี่น้อง 5 คน พ่อเชื้อสายจีนไหหลำ เดินทางเข้ามาหาอาชีพในเมืองไทยทำงานเป็นช่างไม้ และแม่เป็นคนไทย เกิดที่ จ.ชลบุรี ต่อมาครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพ ช่วงวัยเด็กนายบุญชูแบกรับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างสูง ต้องดูแลน้องแทนพ่อและแม่อยู่บ่อยครั้ง เข้าเรียนหนังสือชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนจีนสองแห่งคือ กว่องสิวและซินหมิน ที่บ่มเพราะให้เรียนรู้ถึงวิถีทางประชาธิปไตย แต่ก็ถูกปิดด้วยแรงกดดันทางทางการเมือง ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม จึงต้องหันเหมาเรียนด้านพาณิชยการ ที่มีหลักสูตรสอนด้านการค้าและภาษาจีน
เข้าเรียนต่อชั้นอุดมศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่ออายุ 18 ปี มีความอุตสาหะพยายาม ทุ่มเทการศึกษา หลังเรียนจบการศึกษาจากธรรมศาสตร์ ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบบัญชีประจำสำนักตรวจบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และต่อมาลาออกตั้ง สำนักงานบัญชีกิจ รับตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ ได้ฉายา “ซาร์เศรษฐกิจ” เพราะมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจของไทย
นายบุญชูลาออกจากธนาคารกรุงเทพลงเล่นการเมือง สังกัดพรรคกิจสังคมที่มี พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ช่วงที่เล่นการเมืองนั้น นายบุญชูเคยรับตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเริ่มจากลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ได้เป็น ส.ส.ชลบุรี พรรคกิจสังคม ในปี 2518 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปี 2518 เป็นที่มาของนโยบายประชานิยม หรือเงินผัน สมัยรัฐบาล พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่นำเงินคงคลังจ่ายทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 2,500 บาท และรักษาโรคฟรี และความที่เป็นเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังอย่างหาตัวจับยาก แม้ในช่วงที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล ยังเป็นกรรมาธิการการเงิน จนได้รับการขนานนามว่าอาจารย์ใหญ่ เคยเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ปี 2536 และรองนายกรัฐมนตรี (26 ก.ย.2535) และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จากนั้นเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2541
ช่วงท้ายของชีวิตการเมืองนายบุญชู ย้ายสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของนายชวน หลีกภัย ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2536
นายบุญชูชอบพูดว่า "อนาคตพรรคการเมืองอยู่ได้ด้วยแนวความคิดเท่านั้น แนวความคิดล้าหลังใช้ไม่ได้ก็ต้องสูญสลายไป" ที่ต้องไม่ลืมก็คือ นายบุญชูคือซาร์แห่งเศรษฐกิจและการเมืองไทยตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมคนหนึ่ง
ธนาคารกรุงเทพให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายบุญชูได้เข้ามาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพในปี 2495 สมัยที่นายชิน โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ช่วงนั้นธนาคารกรุงเทพ มีช่องโหว่เรื่องของระบบัญชี นายบุญชูซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญเข้ามาทำงานในธนาคารครั้งแรกได้รับผิดชอบด้านการเงิน สามารถดูแลระบบบัญชีต่างๆ จนประสบความสำเร็จ โดยผลงานที่เห็นได้ชัดในช่วงแรกตือ การเข้ามาทำงานกับธนาคารเพียง 3 ปี ธนาคารได้เพิ่มทุนจดทะเบียน
ในปี 2518 ได้ลาออกจากธนาคารฯ เพื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองระยะหนึ่ง ก่อนได้กลับเข้ามาทำงานที่ธนาคารอีกครั้งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพ บริหารธนาคารประสบความสำเร็จ ยกระดับธนาคารให้เป็นธนาคารอันดับหนึ่ง เทียบชั้นธนาคารระดับเอเชีย จนกระทั้งในปี 2523 ได้ลาออกจากธนาคารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งรองนายกฯ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นายชิน โสภณพนิช เคยกล่าวถึงนายบุญชูว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และไว้วางใจได้มากที่สุดในการบริหารงานตลอดระยะเวลา 27 ปี ถือเป็นผู้ที่สร้างความเจริญรุงเรืองให้กับธนาคารกรุงเทพเป็นอย่างมาก.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|