|
ธปท.ใช้มาสเตอร์แพลน2สิ้นปี
ผู้จัดการรายวัน(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 ช่วยพัฒนาธุรกิจไทยรองรับการค้าขายยุคไร้พรหมแดน เชื่อผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน รับแผนฉบับนี้มีอุปสรรคบ้าง เหตุต้องพิจารณาให้ละเอียดหวั่นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยวิกฤตปี 40 มั่นใจเสร็จทันออกมาใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้แน่ ส่วนการใช้ IAS 39 มั่นใจช่วยสร้างความมั่นคงให้สถาบันการเงิน ป้องกันเงินออมในระบบที่มีอยู่ 7 ล้านล้านของประชาชน
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ว่า ขณะนี้การทำแผนมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 อยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาและสำรวจการตลาดของสถาบันการเงิน ซึ่งมีการนำวิธีการเศรษฐศาสตร์และตัวเลขสถิติต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในวิเคราะห์ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ธปท.ได้ส่งทีมสำรวจความคิดเห็นสถาบันการเงินมาแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถประกาศใช้แผนมาสเตอร์แพลนฉบับนี้ได้ทัน
ทั้งนี้ การทำมาสเตอร์แพลนฉบับ 2 ก็เป็นความต่อเนื่องจากแผนมาสเตอร์แพลนฉบับแรกที่ต้องการสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยให้มีมากขึ้น ขณะที่แผนมาสเตอร์แพลนฉบับนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีมากขึ้น โดยจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติในยุคโลกาภิวัตน์ที่การค้าขายย่อมไม่มีพรมแดน แต่ธปท.ก็ต้องดูแลไม่ให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบจากแผนดังกล่าว จึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อลดปัญหาในอนาคตอย่างประสบการณ์ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ผ่านมา
"ถ้าเราให้คนอื่น(นักลงทุนต่างชาติ)เข้ามาหากินในบ้านเมืองเรา แต่คนไทยก็ยังทำมาหากินในบ้านเมืองตัวเองได้ ถือเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่ลับหูลับตาเปิดให้เขาตักตวงทรัพยากรไปจากไทยได้ ดังนั้น เราในฐานะผู้ดูแลก็ต้องค่อยๆ เปิดให้เขาเข้ามาค้าขายได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรอจังหวะที่เหมาะสมด้วย คือ ให้สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งแล้ว ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้เขาเข้ามาช่วยพัฒนาทรัพยากรต่างๆ ของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้พอสมควร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศต่อไปในอนาคต”นายเกริกกล่าว
สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าในระบบสถาบันการเงินไทยมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่ยังมีปัญหาฐานะทางการเงิน หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจทำให้เสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้ เมื่อมีการนำแผนมาสเตอร์แพลน ฉบับ 2 มาใช้นั้น นายเกริก กล่าวว่า ธปท.ต้องดูความมั่นคงของระบบเป็นหลัก ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาก็ต้องปรับตัวเองให้ทันต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันด้วย และธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ก็มีจำนวนน้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ในระบบ ถือว่าน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ในระบบของไทยส่วนใหญ่ก็มีความแข็งแกร่งดี เห็นได้จากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส) เฉลี่ยในระบบอยู่ที่ประมาณ 13% ถือว่าสูงกว่าที่ธปท.กำหนดไว้มาก
"ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าแบงก์พาณิชย์ไทยส่วนใหญ่มีความแข็งแกร่ง คือ ในช่วงที่แบงก์แต่ละแห่งตั้งสำรองหนี้ตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS39) เป็นมาตรฐานทางบัญชีใหม่ ซึ่งแบงก์ชาติให้แบงก์ทยอยกันสำรองได้ถึง 3 ครั้ง แต่แบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะกันสำรองเพียงครั้งเดียว เพราะเขามองว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงจะไม่เป็นภาระแบงก์ในอนาคต นอกจากนี้เชื่อว่าการนำ IAS39 มาใช้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อความมั่นคงของแบงก์เหล่านั้น โดยเฉพาะจะช่วยคุ้มครองเงินฝากของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีเงินฝากในระบบประมาณ 7 ล้านล้านบาท เพราะเงินออมเหล่านี้จะเป็นเงินที่ไว้ใช้จ่ายหรือลงทุนในอนาคต ดังนั้นการนำ IAS 39 มาใช้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชย์ส่วนรวมแน่นอน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธปท.ได้ทยอยให้สถาบันการเงินที่มีลูกหนี้ในกลุ่มต่างๆ เริ่มทยอยกันเงินสำรองแล้ว โดยลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือยู่ระหว่างบังคับคดี และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้กันสำรอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระรวมกัน 3 เดือนต้องเริ่มกันสำรองได้ตั้งแต่งวดการบัญชีหลังของปี 49 เป็นต้นไป ขณะที่ลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญและชั้นสงสัยให้กันสำรอง ซึ่งส่วนใหญ่จะค้างชำระหนี้รวมกัน 6 เดือนให้ทยอยกันสำรองตั้งแต่งวดการบัญชีแรกของปี 50 เป็นต้นไป สำหรับลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้รวมกัน 12 เดือน และถือเป็นลูกหนี้ที่มีมากที่สุดในระบบในปัจจุบัน จะเริ่มกันสำรองตั้งแต่งวดการบัญชีหลังของปี 50 เป็นต้นไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|