ในที่สุดกลุ่มเอ็มไทยก็ได้ฤกษ์ทำโครงการในที่ดินแปลงประวัติศาสตร์ บนถนนวิทยุใกล้กับสถานฑูตอเมริกาหลังจากรอคอยมาด้วยความอดทนเกือบ
4 ปีเต็มท่ามกลางคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายว่า ทำไมถึงได้ยอมประมูลที่ดินซึ่งราคาสูงเกือบ
2,000 ล้านบาท แล้วทิ้งไว้โดยไม่ลงมือทำอะไรเลยนานถึงขนาดนั้น ?
ที่ดินแปลงนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 22 ไร่ เดิมเป็นทรัพย์สินของธนาคารสแตนดาร์ด
ชาร์เตอร์ ซึ่งทางกลุ่มเอ็มไทยประมูลมาได้ในนามของบริษัทออลซีซั่น พร็อพเพอตี้
จำกัด ซึ่งมีกลุ่มเอ็มไทยและบริษัทไชน่ารีสอร์ท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อปี
2532 ในราคาตารางวาละ 250,000 บาท ในขณะที่ราคาประเมินของกรมที่ดินในขณะนั้นมีราคาเพียงตารางวาละ
70,000-80,000 บาทเท่านั้นทำให้กรมที่ดินรับค่าธรรมเนียมการโอนไปเหนาะๆ ประมาณ
50 ล้านบาท เล่นเอาทวี ชูทรัพย์ อธิบดีกรมที่ดินสมัยนั้นดีอกดีใจเป็นการใหญ่
และได้จัดพิธีการจดทะเบียนโอนเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการซื้อขายที่ดินที่แพงที่สุด
ในช่วงนั้น การก่อสร้างอาคารบนถนนวิทยุกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดสัดส่วนความสูงของอาคารต่อพื้นที่ว่างรอบๆ
อาคาร หรือเอฟ.เอ.อาร์ไว้ 6 ต่อ 1 ซึ่งทำให้ไม่คุ้มกับการพัฒนาโครงการบนที่ดินที่มีต้นทุนสูงลิบลิ่วแปลงนี้
เอ็มไทยเองรู้ว่าจะต้องมีการแก้ไขสัดส่วนเอฟ.เอ.อาร์นี้แน่ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
การคาดการณ์ไม่ผิดพลาด เมื่อต้นปี 2536 เอฟ.เอ.อาร์ของการก่อสร้างบริเวณนี้ได้เปลี่ยนเป็น
10 ต่อ 1 คราวนี้กลุ่มเอ็มไทยไม่รอช้าอีกต่อไปแล้ว ได้ยื่นขออนุญาตทันทีและมาถึงวันนี้ก็ได้เซ็นสัญญาตอกเสาเข็มกับบริษัท
เยนเนอรัลเอ็นจิเนียริ่ง (GEL) ไปแล้วในมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท และเตรียมเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
ภายใต้ชื่อ "ออลซีซัน เพลส"
สำหรับรูปแบบของโครงการที่จะก่อสร้างนั้นจะเป็นคอมเพล็กซ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในย่านนั้นโดยแบ่งออกเป็น
4 เฟส มีตึกขนาด 30-50 ชั้น 5 ตึก เฟสแรกจะเป็นคอนโดฯ ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศบิวดิ้งส่วนเฟสสุดท้ายจะเป็นโรงแรมและศูนย์การค้า
ซึ่งระยะเวลาของการก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 7 ปี
"เมื่อยังไม่ถึงเวลาทำเราก็รอ แต่วันนี้เราพร้อมที่จะทำเราก็จะเดินหน้าต่อไปไม่มีปัญหาในเมื่อก่อนที่จะประมูลที่ดินแปลงนี้มา
เราก็ได้บวกดอกเบี้ยเผื่อไว้แล้วประมาณ 5 ปี แต่นี่เพียงไม่ถึง 4 ปีเราก็ลงมือทำได้ตามแผนที่วางไว้"
ฉัตรชัย วีระเมธีกุลกรรมการบริหารคนหนึ่งของเอ็มไทยกรุ๊ปกล่าวยืนยัน
แน่นอนว่าในช่วงที่กำลังรอนั้น ได้มีผู้เข้ามาติดต่อขอเสนอซื้อที่ดินแปลงนี้อีกหลายรายโดยเฉพาะกลุ่มของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งกำลังตบเท้าเข้ามาทำโครงการในเมืองไทยอย่างคึกคัก เพราะคิดว่าเอ็มไทยคงไม่มีความพร้อมในการพัฒนา
และที่ดินแปลงใหญ่ใจกลางเมืองหลวงเช่นนี้ย่อมเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกล
โดยเฉพาะกลุ่มทางด้านธุรกิจโรงแรมจากญี่ปุ่นและฮ่องกง แต่เอ็มไทยก็ได้ปฏิเสธไปอย่างใจแข็งและเฝ้ารอช่วงจังหวะในการพัฒนาอย่างอดทน
เป็นการรอคอยที่แสนคุ้มเพราะราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดินตรงบริเวณนั้น
ณ. วันนี้ต่อตารางวาก็พุ่งสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.2 แสนบาทถึง 2.4 แสนบาท แต่ราคาซื้อขายกระโดดไปไกลกว่านั้นมากและถ้าหากลุ่มเอ็มไทยใจร้อนที่อยากจะก่อสร้างมีผลงานในช่วงที่ได้ที่ดินมาใหม่ๆ
ตามข้อกำหนดเอฟ.เอ.อาร์ 6 ต่อ 1 นั้น แน่นอนว่าพื้นที่ขายจะได้น้อยกว่านี้กำไรก็จะต้องลดลง
ในขณะเดียวกันยังต้องมาเผชิญกับสงครามทางด้านการตลาดที่กำลังแข่งขันกันหนักหน่วงในช่วงเวลานี้อีกด้วย
"ตามรูปแบบเดิม 1 ต่อ 6 นั้นได้วางรูปแบบการก่อสร้างไว้เพียง 2 ตึก
ในขณะที่ของใหม่สร้างได้ถึง 5 ตึก ก็นับว่ากลุ่มเอ็มไทยคิดถูกแล้วที่ใจเย็นพอที่จะรอถึงวันนี้
และที่สำคัญกลุ่มนี้มีสายป่านทางการเงินที่ยาว เงินกู้ที่นำมาซื้อที่ดินก็เป็นเงินกู้ต่างประเทศที่คำนวณดอกเบี้ยแล้วยังต่ำกว่าราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมาก"
แหล่งข่าวในวงการพัฒนาที่ดินอรรถาธิบายให้ผู้จัดการฟัง
สำหรับ "ออลซีซั่นเพลส" กลุ่มเอ็มไทยได้ส่งนครินทร์น้องชายของฉัตรชัย
เข้ามาดูแลในขณะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกขั้วหนึ่งทางด้านบริษัทเอ็มไทยพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นมีฉัตรชัยรับผิดชอบเพื่อทำโครงการ
"ซิตี้พาร์ค บางนา" และกำลังมีแผนการที่จะเปิดเฟสที่ 3 ในปลายปีนี้ซึ่งประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า
โรงภาพยนตร์ เพื่อบริการให้แก่ชุมชนในโครงการและชุมชนใกล้เคียง และเตรียมที่จะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยระดับเกรดซีบวกถึงบีอีกหลายโครงการในย่านบางนาตราดในต้นปีหน้า
พร้อมๆ กับวางแผนปรับปรุงโครงสร้างบริษัทใหม่เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
และที่สำคัญได้มอบหมายให้บริษัทเจเอฟธนาคมเป็นผู้วางแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลาไม่เกิน
2 ปีนี้
และวันใดที่เอ็มไทยกรุ๊ปพัฒนาที่ดินที่มีรากฐานมาจากอุตสาหกรรมเคมีสามารถเข้าไปผงาดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้
ก็จะเป็นวันแห่งการรอคอยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของกลุ่มนี้ !!