|
จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ รุก CSR ผนึกกำลังพาร์ตเนอร์ทั่วโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำอย่างไรการบริหารงานเพื่อสังคมไม่จำกัดอยู่เพียงในประเทศแต่ขึ้นชั้นระดับโลก?
จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บริษัทเหล้ายักษ์ใหญ่ จับมือพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นแบ่งเขตการทำงานสู่เป้าหมาย
เปิดรหัสลับ CSR อย่างยั่งยืน "เน้นสร้างคนให้จับปลาไม่ใช่จับปลาให้เขากิน"
ปูพรมระดมสมองพนักงานกระตุ้นไอเดียขมีขมันเพื่อสิ่งแวดล้อม
ณ เวลานี้กลยุทธ์การบริหารเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) หลายองค์กรในประเทศเฝ้าบ่มเพาะเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในเร็ววัน
สัปดาห์นี้ B-SCHOOL จะพาทุกท่านมากะเทาะแก่นการทำงานเพื่อสังคมชั้นเวิลด์คลาสของค่ายน้ำเมาระดับโลก
"ดิอาจิโอ" CSR ไซส์บิ๊ก รุกสร้างเครือข่ายทั่วโลก
เจฟฟรีย์ บุช ประธานมูลนิธิดิอาจิโอ (Diageo Foundation) ในประเทศอังกฤษ บริษัท ดิอาจิโอ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อจอห์นนี วอล์กเกอร์, เบนมอร์, สเมอร์นอฟ ฯลฯ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลก (global brand) ส่งผลให้การทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ CSR เป็นกลยุทธ์ที่ต้องครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกมากที่สุดโดยบริษัทได้ทำงานผ่าน Diageo Foundation เพื่อประสานความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละท้องถิ่น
ขณะนี้มีมูลนิธิกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 100 แห่ง ซึ่งการบริหารจัดการมูลนิธิได้แบ่งลำดับความต้องการความช่วยเหลือเป็น 1.ทวีปแอฟริกา 2.ลาตินอเมริกา 3.ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปีนี้บริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญที่จะช่วยเหลือประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพิเศษเนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ สึนามิก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากจึงต้องเร่งช่วยเหลือระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมีแผนการที่จะเปิดศูนย์กลางของมูลนิธิดิอาจิโอ ให้เป็นศูนย์รวบรวมความรู้และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามรูปแบบกระบวนการทำงานเพื่อตอบแทนสังคมนอกกระบวนการผลิต (After Prosess)
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในภูมิภาคเอเชียปีนี้เน้นโครงการ "น้ำเพื่อชีวิต" เนื่องจากยังมีอีกหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ฯลฯ ที่ประชากรยังขาดแคลนน้ำดื่มซึ่งขณะนี้ได้ทำการเข้าไปช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์ในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในทีมวิจัยของมูลนิธิเพื่อให้เกิดโครงการนำร่องที่ยั่งยืน
ด้านโครงการที่ต้องสานต่อให้เป็นรูปธรรมในระยะยาวคือ การฝึกอาชีพไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบแอฟริกาใต้และอินเดียที่มีความยากจน ซึ่งบริษัทมุ่งหวังให้ประชากรสามารถเลี้ยงตนเองได้
สำหรับในปีนี้ครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งมูลนิธิ มีแผนการทำงานเพื่อสังคมครั้งใหญ่เพื่อระดมความคิดบุคคลากรที่ทำงานด้าน CSR ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกว่าปัญหาใดที่ต้องเร่งแก้ไขในภูมิภาคของตน รวมถึงกระตุ้นให้พนักงานต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามแบบที่ทุกคนในองค์กรต้องการ ซึ่งจะสามารถประสบผลสำเร็จได้ดีกว่าการบังคับให้พนักงานทำตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา
ตลอดจนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ้งกันและกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมความคิดด้านประสบการณ์ทำ CSR ของตนให้ประเทศอื่นเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับโครงการของตนจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขได้อย่างยั่งยืน
"การทำกิจกรรมเพื่อสังคมปีนี้เน้นทำงานในประเทศแถบเอเชียมากไม่ใช่เหตุผลจากการรีแบรนด์ดิ้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาของบริษัท แต่บริษัทต้องการจะสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและได้รับยกย่องจากพันธมิตรในการประกอบธุรกิจทุกส่วน ตลอดจนให้ผู้บริโภคได้รับรู้อันตรายจากการดื่มสุราที่ไม่ทำลายสุขภาพซึ่งบริษัทอยากให้ผู้บริโภคสินค้าที่เหมาะสมกับสุขภาพของตน"
โครงการในแต่ละพื้นที่จะร่วมทำงานกับผู้ร่วมทุนในประเทศนั้นๆ ซึ่งเริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจวิจัยความต้องการของประชากรในพื้นที่ ซึ่งแต่ละโครงการจะต้องสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดในชุมชน และต่อมาเป็นการเปิดโครงการนำร่องเก็บข้อมูลที่ผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ไขตลอดการดำเนินโครงการ โดยการเริ่มต้นโครงการในระยะแรกมูลนิธิฯ ในประเทศอังกฤษ จะมีการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอด 3 ปีที่ดำเนินงาน ซึ่งหลังจากนั้นพาร์ตเนอร์และองค์กรท้องถิ่นจะเป็นผู้สานต่อโครงการต่อไป
"บริษัทพยายามสอนคนในพื้นที่ซึ่งทำโครงการให้จับปลาไม่ใช่บริษัทจับปลามาให้เขาโดยไม่รู้จักวิธีการหากินเอง"
ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทจะตัดสินใจลงทุนกับพาร์ตเนอร์รายใหม่ต้องเน้นสร้างความเข้าใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละประเทศในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมจะต้องสำรวจการทำงานของบริษัทอื่น เพื่อที่จะสร้างความโดดเด่นในการทำงานและลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้อย่างชัดเจน เช่น ในประเทศอินเดียบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือการฝึกอาชีพที่เป็นความโดดเด่นส่งผลให้ผู้ประกอบการของอินเดียทั้งรายใหญ่และผู้ค้าปลีกต่างสนับสุนนผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดีเนื่องจากประชาชนเห็นถึงการทำงานที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
กระนั้นความช่วยเหลือด้านเงินทุนที่จะมาสานต่อโครงการตอบแทนเพื่อสังคมทั่วโลกได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ประเทศอังกฤษเป็นเงิน 1% จากผลกำไรโดยรวมของบริษัททั่วโลกเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งจะถูกหักเงิน 3 ล้านปอนด์ เข้ากองทุนมูลนิธิฯ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเหตุการณ์ประสบพิบัติภัยต่างๆ จะได้นำเงินส่วนดังกล่าวไปช่วยเหลือได้ทันที อย่างไรก็ตามหากผลกำไรมีเพิ่มขึ้น เงินช่วยเหลือก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่จะไม่มีการลดเงินช่วยเหลือให้ต่ำกว่า 1% ของแต่ละปี
ความรวดเร็วในการช่วยเหลือของมูลนิธิเห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่จากคลื่นยักษ์สึนามิ ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2548 บริษัทได้กำชับให้ผู้จัดการในพื้นที่ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย ศรีลังกา ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านทุนทรัพย์ภายใน 2 ชั่วโมง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือโครงการในระยะยาวของแต่ละพื้นที่โดยตั้งกองทุน คีฟ วอล์คกิ้ง ไทยแลนด์ สึนามิ ฟันด์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้มีความยั่งยืน
ด้านที่การทำงาน CSR ในกระบวนการผลิต (In-Process) ปีนี้บริษัทมุ่งเน้นทำโครงการเพื่อไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจะลดให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด ตลอดจนการประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ด้านการบำบัดน้ำเสียมีโครงการลดก๊าซคาบอนไดออกไซน์ ตลอดจนลดขยะจากบรรจุภัณฑ์โดยนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด ซึ่งทุก 3 ปี บริษัทจะมีการประเมินผลกระทบด้านการผลิตเพื่อวางนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงาน
"สำหรับพนักงานบริษัทได้สำรวจความต้องการทำงานเพื่อสังคมในแต่ละที่ว่าต้องการทำกิจกรรมใดเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพนักงานและสังคมมากที่สุด และมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมในโรงงานผลิต เช่นกลุ่มจัดการขยะ และควบคุมมลพิษในการปฏิบัติงาน หรือในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิบริษัทจะให้เงินทุนพนักงานเพื่อสร้างบ้านใหม่ให้กับผู้ประสบภัย
CSR น้ำเมาที่ไม่เมา ไทยชู 3 นโยบายหลัก
วรเทพ รางชัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีการวางแผนดำเนินงานเพื่อสังคมที่ยังคงเน้น 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1. การให้ความรู้แอลกอฮอล์ศึกษา(Alcohol Education) อาทิ การวิจัยพฤติกรรมและปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมิชอบ รวมถึงการผลิตสื่อความรู้พื้นฐานเพื่อสร้างค่านิยม "คิดก่อนดื่ม" 2.การรณรงค์โครงการรับผิดชอบต่อสังคม "เด็กไม่ดื่ม" และ "ดื่มไม่ขับ" อย่างสม่ำเสมอ (Alcohol-related Social Campaign) 3. การสร้างพันธมิตรกำหนดนโยบายแอลกอฮอล์ (Alcohol Policy) เพื่อลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมิชอบอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมเกี่ยวข้องกับภัยจากแอลกอฮอล์และมุ่งการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงการดำเนินกิจกรรมบนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และความรู้จากกรณีศึกษาที่พิสูจน์ได้ในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์
"บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจ และปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรม "คิดก่อนดื่ม" ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย" นายวรเทพกล่าว
สำหรับกิจกรรมในระยะสั้นและระยะยาวบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือเงินกว่า 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการจัดหาแหล่งน้ำและระบบประปาบาดาลช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ 6 แห่ง ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนในการสำรวจหาแหล่งน้ำจืดพร้อมทั้งวางระบบท่อเพื่อให้แต่ละแห่งมีน้ำใช้ทั้งหมด 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ ซึ่งสามารถช่วยนักเรียนและประชาชนในชุมชนรวม 4,231 คน 876 ครัวเรือน
ในปีที่ผ่านมาบริษัทเป็นหนึ่งในสมาชิกของ "สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ" เพื่อสร้างทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้บริโภค ตลอดจนสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้บริษัทฯ พร้อมมุ่งให้การศึกษาและความรู้เรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบผ่าน "ชมรมรักกันเตือนกัน" ในมูลนิธิธรรมศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาจาก 80 สถาบัน
โดย ผลงานสำคัญคือ ร่วมกับชุมชนรอบสถาบันการศึกษา ทั้งองค์การบริหารนักศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาในการจัดระเบียบผู้ประกอบการเพื่อสร้างค่านิยมที่ดีและให้ความรู้แก่เยาวชนให้รู้เท่าทันแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันเยาวชนจากภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การทำงานเพื่อสังคมเสมือนก่อกองไฟที่ต้องสุมฟืนอยู่เสมอเนื่องจากการทำงานที่ไม่ต่อเนื่องเมื่อกองไฟมอดลงจะเหลือเพียงเถ้าธุลี....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|