จับตาหุ้นเด่น รับอานิสงค์หวนคืนรังสนามบินดอนเมือง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สายการบินในประเทศย้ายกลับ ทำดอนเมืองคึกอีกรอบ คาดหลายธุรกิจบจ.ได้อานิสงค์เรียงตัวตั้งแต่ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี, บมจ.เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ, บมจ.การบินไทย, บมจ.ท่าอากาศยานไทย ปัจจัยช่วยกระตุ้นยอดปี 2550 มีผลประกอบการที่ดีขึ้น

หลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ย้ายสายการบินภายในประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากสนามบินสุวรรณภูมิ กลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เหมือนเดิม ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมเป็นต้นไป เพื่อให้การซ่อมแซมสนามบินสุวรรณภูมิเป็นไปอย่างคล่องตัว และเสร็จเรียบร้อยเร็วที่สุด ไม่เป็นปัญหากับการเดินทางของประชาชน

ในเบื้องต้นมีสายการบินที่จะย้ายกลับมา 4 สายการบิน คือ นกแอร์ วันทูโก พีบีแอร์ และการบินไทยบางส่วน รวมประมาณ 80 เที่ยวบินทั้งหมดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณวันละ 2 หมื่นคน โดยจะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารภายในประเทศอาคาร 1 ขณะที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจะใช้รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำทั้งหมด

ดร.ภักดี มานะเวศ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (BAFS) กล่าวถึง กรณีการย้ายสายการบินภายในประเทศกลับมาสนามบินดอนเมืองว่าจะผลดีต่อ BAFS ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมารายได้ส่วนสนามบินดอนเมือง มาจากเครื่องบินเช่าเหมาลำเป็นหลัก และที่สำคัญคือไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเพราะ BAFS มีความพร้อมอยู่แล้ว

คาดว่าปี 2550 BAFS จะสามารถทำรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าบริการจากการให้บริการคลังน้ำมันอากาศยานและค่าบริการเติมน้ำมันอากาศยานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,445 ล้านบาท และค่าบริการส่งน้ำมันอากาศยานผ่านท่อใต้ลานจอดประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเดือนตุลาคม 2549 มีปริมาณทั้งสิ้น 1 ล้านลิตร และอัตราค่าบริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะปรับขึ้นจาก 2.74 เซนต์ต่อแกลลอนเป็น 6 เซนต์ต่อแกลลอน

โดย บล.กิมเอ็ง ประเมินว่า BAFS มีความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ อยู่แล้ว ขาดเพียงบุคลากรที่อาจจะต้องมีการจ้างเพิ่มบ้าง การกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองนั้นมีผลบวกในแง่ที่ว่าการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจะได้มีความสะดวกและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นได้ทั้ง 2 สนามบิน นอกจากนั้นที่สนามบินดอนเมืองก็จะไม่ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ประมาณ 40-50 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับส่วนต่างระหว่างค่าเสื่อมราคาที่เหลือของสนามบินกับการประเมินมูลค่ากระแสเงินสดคิดลดที่เหลือในอนาคตของสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม BAFS อาจพบปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงินบาท เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ชำระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 10.90 บาท

ด้านผลกระทบต่อ บมจ.โรงพยาบาล วิภาวดี (VIBHA) ภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส มองว่า VIBHA จะได้รับผลดีจากการเปิดใช้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติอีกครั้งซึ่งจะทำให้สัดส่วนผู้ที่จะเข้ามารับบริการเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าห้องพักและเตรียมเปิดศูนย์มะเร็งเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปีนี้ จะผลักดันผลการดำเนินให้เติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ประมาณการณ์ผลการดำเนินงานในปี 2550 คาดว่าจะมีรายได้ 1,070 ล้านบาท กำไรสุทธิ 109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2549 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 810 ล้านบาท กำไรสุทธิ 88 ล้านบาท โดยกลยุทธ์การลงทุนยังคงแนะนำ "ซื้อ" โดยให้ราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 3.90 บาท

นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยของ บล.เอเชียพลัส ได้ระบุว่า การกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองนอกจากเป็นการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ของ AOT ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังทำให้ประหยัดเงินลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Terminal) มูลค่า 1.4 พันล้านบาทด้วย ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะมีสายการบินต้นทุนต่ำซึ่งให้บริการผู้โดยสารอยู่ประมาณ 4 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่ย้ายกลับไปทั้งหมดยกเว้น แอร์เอเชีย ซึ่งให้บริการผู้โดยสารเพียง 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำทั้งหมด ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์อีกรายคือ บมจ.การบินไทย (THAI) เพราะหากปล่อยให้แอร์เอเชียสามารถย้ายกลับมาใช้ฐานการให้บริการที่สนามบินดอนเมืองได้ ซึ่งอาจทำให้ THAI ต้องสูญเสียลูกค้าให้แอร์เอเชีย และจะกระเทือนถึงประสิทธิภาพการทำกำไรในอนาคตได้

แม้ว่าการย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่สามารถชดเชยด้วยรายได้ที่จะเกิดจากการให้บริการสายการบิน เบื้องต้นประเมินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สนามบินดอนเมืองไว้ที่ 1.65 พันล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ถ้าแอร์เอเชียไม่ย้ายกลับไปใช้ฐานที่สนามบินดอนเมืองจะมีการปรับมูลค่าพื้นฐานของ THAI ขึ้น ให้ราคาเหมาะสมใหม่ในปี 2550 ที่ 53.30 บาท ซึ่ง ณ ระดับดังกล่าวถือว่ายังเป็นระดับที่สมเหตุสมผลเนื่องเทียบได้กับ P/BV ที่ 1.2 เท่า จึงปรับคำแนะนำจาก"ถือ"เป็น"ซื้อ"

ขณะที่ บล.ซิกโก้ กลับมองว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการกลับมาใช้ สนามบินดอนเมือง แต่อาจจะไม่สามารถสร้างรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) ได้ เนื่องจากมีการย้ายเฉพาะเที่ยวบินในประเทศแบบจุดต่อจุด ซึ่งมีปริมาณการจราจรเพียง7-8%ของสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตามผลกระทบตรงนี้คาดว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมของ AOT มากนัก จึงแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเหมาะสม 70 บาท คิดเป็น Prospective PER ที่ 45.6 เท่า จากมุมมอง ศักยภาพการเติบโตในระยะยาว รวมทั้งเชื่อว่าปัจจัยลบต่างๆก่อนหน้านี้ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของ AOT มากนัก

ส่วนผลกระทบต่อ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) นั้น บล.สินเอเซีย มองว่าการย้ายสายการบินบางสายกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองจะทำให้ปริมาณการใช้ทางด่วนใน sector D ลดลง 10% ของยอดที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงประมาณ 4,000 คัน/วัน นั้น แต่ก็คาดว่าการลดลงของปริมาณการใช้ทางด่วนจะส่งผลกระทบกับรายได้ของ BECL เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ทางด่วนต่อวันที่เกือบ 1 ล้านคัน และเป็นไปได้ที่ยอดการใช้ทางในส่วนต่อขยาย D จะถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของยอดการใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 เพื่อจะเดินทางไปสนามบินดอนเมืองแทนจึงให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 30.50 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.