"เคแบงก์" ต่อยอดสินเชื่อด่วน SME ลดความเสี่ยงกระจุกตัวพอร์ตรายใหญ่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในภาวะที่ความเชื่อมั่นลด การบริโภคหดตัว "แบงก์กสิกรไทย" มิได้หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงข้ามยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดต่อยอดบริการเงินกู้ให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่มิอาจปฏิเสธได้ว่ามีความเสี่ยงสูง และอาจทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลของ แบงก์แห่งนี้เพิ่มขึ้นด้วย แต่แล้วดูเหมือนว่างานนี้ "กสิกรไทย" จะมิได้วิตกกับเรื่องดังกล่าวมากนัก

เหมือนสัจธรรม นายแบงก์มักกล่าวว่า ไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดบนโลกที่ปล่อยสินเชื่อแล้วจะไม่เกิดเอ็นพีแอล คำพูดดังกล่าวไม่ได้แปลว่าการเกิดเอ็นพีแอลเป็นเรื่องดี แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สถาบันการเงินต้องเผชิญหน้าทุกยุคทุกสมัย

ถึงแม้สถานการณ์จะไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ แต่การปล่อยสินเชื่อก็คือธุรกิจที่เป็นรายได้หลัก แม้ต้องเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะตัวเลขเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากแรงเหวี่ยงของสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ

บุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า สิ่งที่กังวลในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเอ็นพีแอล นั่นเพราะระบบและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารมีประสิทธิภาพ ทำให้สิ่งที่กังวลสำหรับธนาคารกลายเป็นเรื่องของงานบริการมากกว่า

แม้ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงสูง "กสิกรไทย" ก็มิได้หวั่นกับการเจาะเข้าหาลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวบริการสินเชื่อรูปแบบใหม่ K- SME Credit...นับครบ 10 วัน รับ 10 ล้านได้ทันที ซึ่งเป็นแคมเปญที่ต่อยอดจากอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีใน 3 วัน

บุญทักษ์ อธิบายถึงการเข้ามาลุยฐานเอสเอ็มอีว่า เพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้สินเชื่อไปกระจุกที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดวิกฤติ ธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ต้องใช้วงเงินสินเชื่อสูง ดังนั้นการกระจายไปสู่เอสเอ็มอีที่วงเงินสินเชื่อต่ำกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์บริหารความเสี่ยง

"ยอมรับว่าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดและได้รับผลกระทบมากสุดถ้าเกิดวิกฤติ แต่ความรุนแรงนั้นน้อยกว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งด่านแรกที่จะได้ รับผลกระทบ หลังจากนั้นก็จะลงมาสู่ภาคเอสเอ็มอีที่เป็นด่านท้ายสุดที่รับผลกระทบ"

บุญทักษ์ เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ด้วยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแท้จริงนั้นแข็งแกร่ง หากแต่ขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถามว่าภาคธุรกิจยังต้องการสินเชื่อหรือไม่นั้น คำตอบคือยังมีความต้องการอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอี ได้กลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่หลายแบงก์จ้องตะครุบ ด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่มีสูงกว่า 2 ล้านราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีจำนวนลูกค้าอีกมากที่ต้องการสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกรายที่แบงก์พร้อมจะให้สินเชื่อ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณา

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา หรือตายจากไปก็มี แต่นั้นต้องมีสาเหตุ เป็นต้นว่า ความไม่รู้ในวิธีบริหารจัดการ ความไม่ตั้งใจจริงที่จะดำเนินธุรกิจ ตรงจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่าทำไมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงล้มลง

"สำหรับความไม่รู้และเข้าใจในธุรกิจที่แท้จริง เราสามารถช่วยได้ เพราะเรามี เอสเอ็มอี แคร์ ให้คำปรึกษาประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างตลอดลองฝั่ง ซึ่งนั่นคือหนึ่งบริการสำคัญที่แบงก์มีให้"

ปกรณ์ บอกอีกว่า ส่วนของบริการใหม่ที่ต่อยอดจากแคมเปญอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีใน 3 วัน จะทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์และวางแผนการเงินทางธุรกิจได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกำหนดเวลาในการรับสินเชื่อได้แน่นอนภายหลัง 10 วันทำการ และยังนับเป็นการอนุมัติสินเชื่อพร้อมรับเงินที่เร็วที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยกันแต่ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าวจะจัดให้เฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขายต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท

ถึงแม้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้สถาบันการเงินมีเอ็นพีแอลเพิ่ม แต่ด้วยวงเงินที่กู้ไม่สูงมากเท่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ทำให้การเพิ่มตัวเลขเอ็นพีแอลไม่น่าหวาดผวาเท่าใดนักเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดยักษ์ใหญ่ต้องล้ม

ด้วยเหตุผลนี้ไม่เพียง "กสิกรไทย"เท่านั้นที่ยินดีเปิดประตูบ้านต้อนรับลูกค้าเอสเอ็มอี แต่ยังรวมถึงธนาคารพาณิชรายอื่นด้วย นับเป็นผลดีต่อภาคเอสเอ็มอี เพราะการแย่งตลาดเอสเอ็มอีทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องบริการอันนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.