ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทซาทชิ แอนด์ ซาทชิ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แม้โรเบิร์ต หลุยส์-เดรย์ฟัส จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
(ซีอีโอ) อีกต่อไปแล้ว แต่เขาก็นั่งอยู่ในแถวของคณะกรรมการบริษัท ในฐานะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก
โดยมีหมวกติดตรา "อาดิดาส" วางอย่างภูมิฐานตรงข้างหน้า
ถ้าเผื่อมีช่างภาพมารุมล้อมกันมาก ๆ อย่างที่เคยเป็นมาระหว่างการประชุมปีก่อน
ๆ เขาก็คงมีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์งานใหม่ล่าสุดของเขาบ้าง นั่นคือ การเข้าบริหารบริษัทรองเท้ากีฬาชื่อดังแต่ฐานะกำลังซวนเซแห่งนั้น
อนิจจา ไม่มีช่างภาพปรากฏตัวให้เห็นแม้แต่คนเดียว
เรื่องนี้ หลุยส์-เดรย์ฟัส ซึ่งปัจจุบันอายุ 47 มีแต่ต้องโทษตัวเอง เพราะที่สำคัญก็คือตัวเขาเองนั่นแหละ
ทำให้ซาทชิไม่ได้เป็นข่าวร้อนแรงของวงการธุรกิจโฆษณาและการเงินอีกต่อไปแล้ว
อันที่จริง ความเป็นไปในซาทชิเวลานี้ที่พอจะถือเป็นข่าวได้คือ บริษัทสามารถรอดชีวิตมาจัดการประชุมประจำปีคราวนี้ได้
ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณหลุยส์-เดรย์ฟัส เป็นสำคัญ
ระหว่างวาระพิจารณาเรื่องเงินค่าตอบแทน มอริซ กับ ชาร์ลส์ ซาทชิ สองพี่น้องผู้ก่อร่างสร้างบริษัทแห่งนี้ขึ้นมา
ซึ่งหลายคนเห็นกันว่า ตั้งเอาไว้สูงเกินสมควรนั้น ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งลุกขึ้นอภิปรายว่า
ในกรณีที่บริษัทจ่ายเงินเดือนแพงลิ่วให้ หลุยส์-เดรย์ฟัสนั้น เขาไม่ขอคัดค้านเลย
เพราะหลุยส์-เดรย์ฟัสเป็นเสมือนคุณหมอที่มารักษาคนไข้อาการหนักเจียนตาย ถ้าคุณหมอไม่มา
บริษัทก็อาจไม่อยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้
บุรุษผู้มีอำนาจดึงดูดใจคน และเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของตระกูลร่ำรวยในยุโรป
ก้าวเข้ามาช่วยชีวิตบริษัทขึ้นชื่อที่สุดเรื่องใช้จ่ายไม่บันยะบันยังในช่วงทศวรรษ
1980 เอาไว้ได้อย่างไรน่าจะเป็นหนึ่งในบทเรียนใหญ่ทางธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง
ๆ นี้ อันน่าติดตามอย่างยิ่ง
มอริซ ซาทชิ ได้พบปะกับ หลุยส์-เดรย์ฟัส ระหว่างการเจรจากับบุคคลจำนวนมากมายใน
ช่วงทศวรรษ 1980 ที่เขาเที่ยวไล่ล่าซื้อกิจการคนอื่นอย่างอึกทึก ตอนนั้นเขากำลังพยายามขอซื้อบริษัทของหลุยส์-เดรย์ฟัส
หลุยส์-เดรย์ฟัสตั้งราคาซึ่งทำให้กระทั่งพี่น้องซาทชิยังรู้สึกว่าแพงลิบลิ่ว
และด้วยเหตุนั้นไอเอ็มเอส อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านวิจัยตลาดเวชภัณฑ์ซึ่งหลุยส์-เดรย์ฟัส
เป็นซีอีโออยู่ จึงยังคงอยู่นอกวงโคจรของพี่น้องคู่นี้
แต่เมื่อซาทชิพบว่าตัวเองกำลังอยู่ตรงขอบเหวแห่งความหายนะในอีกไม่กี่ปีต่อมา
มอริซก็ระลึกได้ถึงชาวฝรั่งเศสท่าทางเฉลียวฉลาด และมีเสน่ห์ ผู้สร้างไอเอ็มเอส
ให้กลายเป็นบริษัทที่ต้องจับตามองในแวดวงธุรกิจของตน
มอริซไล่ติดตาม จนพบหลุยส์-เดรย์ฟัส ที่สวิตเซอร์แลนด์ และเสนอทั้งในนามของตัวเอง
กับชาร์ลส์ น้องชายผู้ไม่นิยมพบปะผู้คนของเขา ให้หลุยส์-เดรย์ฟัสเข้ามากอบกู้บริษัทของพี่น้องทั้งสอง
ในขณะนั้นหลุยส์-เดรย์ฟัสขายไอเอ็มเอสไปแล้ว โดยได้ราคาถึง 1,700 ล้านดอลลาร์มากกว่าตอนที่เสนอกับซาทชิเสียอีก
เขาตั้งใจบอกลาโลกธุรกิจ อย่างน้อยก็ชั่วคราว ด้วยการยกครอบครัวไปใช้ชีวิตพักผ่อนเล่นสกีอย่างสบายใจที่ดาโวส
หลุยส์-เดรย์ฟัสไม่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจโฆษณาเลย แต่นั่นกลับทำให้ข้อเสนอของซาทชิ
ดูน่าดึงดูดใจขึ้นไปอีกสำหรับบุรุษอย่างเขา ซึ่งปรารถนาแรงกล้า ที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า
สามารถประสบความสำเร็จในงานที่อยู่นอกเหนือธุรกิจของตระกูล ในแง่นี้ ซาทชิให้โอกาสเขายิ่งกว่า
ไอเอ็มเอสด้วยซ้ำ ดังนั้น หลุยส์-เดรย์ฟัสจึงตอบตกลง และในปี 1990 พี่น้องซาทชิก็มอบบริษัทให้อยู่ในกำมือของเขา
จนกระทั่งเมื่อเขามาถึงสำนักงานใหญ่อันหรูหรา ของซาทชิ ซึ่งมีทั้งลิฟท์แก้ว
"พูดได้" และผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมสะสมไว้ เขาจึงเริ่มตระหนักว่าตัวเองได้เข้ามาอยู่ท่ามกลางเรื่องยุ่งเหยิงสางลำบากขนาดไหน
เขาจะต้องใช้เวลาถึง 18 เดือนแรกที่รับตำแหน่งนี้เพื่อเก็บกวาดสิ่งที่สกปรกเลอะเทอะอยู่ให้เข้าที่เข้าทาง
ชาร์ลส์ สก็อตต์ ผู้บริหารคนหนึ่งของไอเอ็มเอส ซึ่งหลุยส์-เดรย์ฟัส ชวนมาซาทชิด้วย
โดยเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน และในที่สุดได้สืบต่อตำแหน่งซีอีโอ
จดจำช่วงเวลานั้นได้อย่างแม่นยำ
เขาเล่าว่า เขากับหลุยส์-เดรย์ฟัส รู้สึกเป็นห่วงที่สุดในเรื่องบริษัทจะอยู่ไม่รอด
พวกเขาต้องติดตามเรื่องเงินสดหมุนเวียนทุกบาททุกสตางค์รู้สึกหวั่นเกรงอยู่ตลอดเวลา
อาจจะเกิดอะไรที่ไม่คาดคิด โดยพวกเขาแก้ปัญหาไม่ได้
ในการทำความเข้าใจสภาพการณ์ภายในบริษัท ที่ทำให้ซาทชิยุ่งเหยิงยากสะสางถึงขนาดนี้
อาจจะเริ่มต้นที่งานเลี้ยงเนื่องในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท เมื่อเดือนมีนาคม
1988 มอริช ซาทชิ ผู้เปล่งปลั่งสดใส เชิญชวนผู้ถือหุ้นร่วมกันรับประทานเค้กก้อนเบ้อเริ่ม
เพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 18 ปีของบริษัท เขาเพิ่งประกาศว่าบริษัทมีกำไรสูงถึง
77% และได้ขึ้นเป็นหน้าปกนิตยสาร "นิวสวีก" ด้วย
คราวนั้นยังไม่มีใครตั้งคำถามว่า พี่น้องซาทชิได้ผลตอบแทนจากบริษัทมากไปหรือเปล่า
อันที่จริงบรรดาผู้ถือหุ้นต่างพูดทักทายยิ้มหัวอย่างมีมารยาทว่ามอริซตัวจริงรูปหล่อกว่าในภาพถ่าย
พวกเขายังหยอกเย้ากล่าวโทษชาร์ลส์ผู้น้องที่ไม่มาร่วมในงานมอริซตอบว่า
"วันนี้เขาต้องอยู่ทำงาน" อันเป็นคำแก้ตัวที่แทบทุกคนก็รู้ว่าไม่จริง
ชาร์ลส์เป็นคนขี้อายมาก จึงไม่อยากปรากฎตัวต่อสาธารณชนและไม่เคยมาร่วมการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นเลย
เมื่อรายงานผลประกอบการของปีนั้นออกมาบริษัทก็สามารถคุยโวได้กับตัวเลขที่น่าตื่นตะลึงบางตัวเช่น
เปรียบเทียบกับปี 1976 กำไรก่อนหักภาษีของซาทชิพุ่งขึ้นถึง 140,393% ส่วนราคาหุ้นก็ทะยานขึ้น
57,446%
แต่ขณะที่ธุรกิจเอเยนซีโฆษณาของพวกเขาเติบโตขึ้นนี้เอง พี่น้องซาทชิก็เริ่มมองหาธุรกิจบริการด้านอื่น
ๆ ที่จะเข้าพิชิต พวกเขาจัดการรวบรวมตั้งฝ่ายบริการให้คำปรึกษาขึ้นมา แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปมากมาย
บาที จุดสูงสุดแห่งความเห่อเหิมของพี่น้องคู่นี้เห็นจะได้แก่การที่พวกเขาตัดสินใจว่า
ต้องการกระโจนสู่ธุรกิจธนาคารในแบบกร่างเต็มที่ มอริซถึงขนาดยื่นข้อเสนอต่อธนาคารใหญ่ของอังกฤษ
2 แห่ง คือมิดแลนด์ แบงก์ กับ ฮิลล์ ซามูเอลส์ มีรายงานว่าเขาเตรียมเสนอซื้อมิดแลนด์ในราคา
6,000 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมา
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ พี่น้องทั้งสองเห็นว่าสมเหตุสมผล พวกเขาชอบพูดถึงการตั้ง
"ซุปเปอร์มาร์เก็ต" ของธุรกิจภาคบริการ ที่รวบรวมบริการทุกด้านซึ่งบริษัทใหญ่
ๆ ต้องใช้กัน ดังนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว การที่ธุรกิจโฆษณาจะมีกิจการในเครือเป็นบริษัทที่ปรึกษาและธนาคาร
จึงเป็นเรื่องถูกต้อง
วิสัยทัศน์ (vision) ในช่วงทศวรรษ 1970 ของซาทชิ ที่จะ "เป็นเอเยนซีโฆษณาซึ่งสร้างสรรค์ที่สุด"
ในทางเป็นจริงกำลังหลีกทางให้แก่ความปรารถนาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ พวกเขาไม่เพียงต้องการเป็นเอเยนซีดีที่สุด
หากใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
พวกเขาเข้าใกล้เป้าหมายนั้นมากทีเดียว เมื่อซื้อเอเยนซีใหญ่ 2 แห่ง คือ
แดนเซอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ แซมเพิล กับแบคเกอร์ แอนด์ สปีลโวเกล ในต้นปี 1986
ทำให้ซาทชิเกือบโตเท่ากับ อินเตอร์พับลิก กรุ๊ป ออฟ คอมปานีส์ กลุ่มเอเยนซีใหญ่ที่สุดเวลานั้น
ครั้นแล้วก็เกิดรายการฟ้าผ่าในเดือนเมษายน 1986 เมื่อบีบีดีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล,
โดยัล เดนเบิร์นแบช, และนีดแฮม ฮาร์เปอร์ เวิร์ลด์ไวด์รวมตัวกันตั้งบริษัทโฮลดิ้ง
คอมปานีใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า ออมนิคอม กรุ๊ป ซึ่งกลายเป็นราชันย์องค์ใหม่ของโลกโฆษณาไป
พี่น้องซาทชิทนเรื่องเช่นนี้ไม่ได้ พวกเขาทราบว่า โรเบิร์ต จาโคบี ประธานของเท็ด
เบตส์ เวิร์ลด์ไวด์ กำลังต้องการขายเอเยนซีแห่งนั้น ซาทชิต้องซื้อมาให้ได้
อดีตคนวงในซาทชิคนหนึ่งลงความเห็นว่ากรณีเท็ด แบตส์ นี้เองคือจุดผันเปลี่ยนสำหรับซาทชิในตอนนั้นพี่น้องคู่นี้คิดอยู่แต่ว่า
นี่เป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง
ในฐานะที่เป็นเอเยนซีโฆษณาแห่งแรกของอังกฤษ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
พี่น้องซาทชิจึงหาเงินก้อนมหึมาใช้ซื้อบริษัทต่าง ๆ โดยคิดค้นกลเม็ดเสนอขายสิทธิต่าง
ๆ อันผูกพันกับหุ้นแทนที่จะใช้วิธีก่อนหนี้ พวกเขายังกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินในภายภาคหน้า
โดยเชื่อมโยงกับรายได้ในอนาคตซึ่งจะมาจากกิจการที่เข้าซื้อด้วย
ทว่าเพื่อครอบครองเท็ด เบตส์ ให้ได้ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ซาทชิได้กลายเป็นกลุ่มเอเยนซีโฆษณาใหญ่ที่สุดในโลกสมใจอยาก
พี่น้องซาทชิยอมทำลายหลักเกณฑ์ของตัวเอง โดยไปวิ่งเต้นกู้ยืมเงินและนำมาจ่ายกันสด
ๆ ข้อตกลงคราวนั้น ซึ่งมีรายงานว่ามูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ แต่เชื่อกันว่าน่าจะสูงถึง
500 ล้านดอลลาร์ทีเดียว จัดเป็นข้อตกลงซื้อขายราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการโฆษณาสมัยนั้นทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากลูกค้าของเท็ด เบตส์มีบางส่วนเป็นคู่แข่งกับลูกค้าเดิมของซาทชิ
การซื้อเท็ดเบตส์มา จึงทำให้ซาทชิโดยรวมต้องสูญเสียงานไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ
450 ล้านดอลลาร์ การตกลงครั้งนี้เริ่มแสดงผลในทางลบออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม งานสร้างอาณาจักรของพี่น้องซาทชิยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่บัดนี้บริษัทแม่ต้องใช้วิธีกู้ยืมเงินมาชำระกิจการที่ซื้อใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกที
ในเมื่อตลาดหลักทรัพย์เกิดมาซวนเซ อีกทั้งวงการเงินก็เริ่มข้องใจในความเฉียบแหลมของพี่น้องคู่นี้
ขณะที่ราคาหุ้นของซาทชิ ตกลงไป บริษัทก็ยังต้องเผชิญกับภาระหนี้สินที่กำหนดต้องชำระคืนคืบคลานใกล้เข้ามา
ในปี 1987 ซาทชิหาเงิน 320 ล้านดอลลาร์ด้วยการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ทั้งนี้
ตามเงื่อนไขเมื่อตอนเริ่มแรก หากถึงกำหนดไถ่ถอนแปลงสภาพในเดือนกรกฎาคม 1993
ถ้าหุ้นสามัญของซาทชิราคาต่ำกว่า 519 เพนซ์ นักลงทุนมีสิทธิเลือกเรียกชำระเป็นเงินสด
แทนที่จะรับเป็นหุ้นสามัญก็ได้ ในปี 1990 นั้น ซึ่งราคาหุ้นตกฮวบลงต่ำสุด
เหลือเพียง 52 เพนซ์เท่านั้น โอกาสที่จะต้องจ่ายเงินสดมหาศาลจึงมีมากเหลือเกิน
โดยที่ซาทชิเองไม่รู้เลยว่าจะดิ้นรนไปหาจากไหนมาจ่าย
ราวกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดยังไม่เพียงพอ ในต้นปี 1989 อังกฤษประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซา
มอริซ ซาทชิ ถึงกับต้องออกหนังสือเตือนของบริษัทเป็นหนแรกว่า ผลกำไรอาจจะต่ำกว่าที่คาดหมายเอาไว้มาก
พร้อมกันนั้นเขาก็เริ่มมองหาผู้ที่จะมาช่วยไถ่บาปชุบชีวิตบริษัท
โรเบิร์ต หลุยส์-เดรย์ฟัส อยู่ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่แท้จริงคนแรกของซาทชิโดยแท้
เพราะโดยตำแหน่งแล้ว มอริซเป็นประธาน บริษัท ขณะที่ชาร์ลส์ไม่เคยมีตำแหน่งอะไรเป็นทางการด้วยซ้ำ
คนหน้าใหม่อย่างเขาต้องนำเอาการบริหารชนิดใหม่เข้ามาใช้ในซาทชิแอนด์ซาทชิ
เมื่อเขาตรวจดูฐานะทางการเงินของบริษัท เขาก็เริ่มซาบซึ้งถึงความหนักหน่วงของปัญหาที่ซาทชิเผชิญอยู่
ทั้งหนี้สิน และข้อผูกพันที่ต้องชำระสืบเนื่องจากการซื้อบริษัทต่าง ๆ ในอดีต
เป็นตัวเลขมหาศาลที่เข้าแถวยาวเหยียดรออยู่ในอนาคตหลาย ๆ ปี รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า
645 ล้านดอลลาร์
มองย้อนไปในตอนนั้น หลุยส์-เดรย์ฟัสบอกว่าเขาไม่คิดว่าพี่น้องซาทชิตั้งใจหลอกลวงเขาเกี่ยวกับฐานะอันย่ำแย่ของบริษัท
โดยพื้นฐานแล้ว เป็นด้วยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแบบนอกเหนือการควบคุมในขณะที่รายรับกลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายโดยเฉพาะรายรับจากกิจการที่ปรึกษา
หลุยส์-เดรย์ฟัส ยังงงงวยอยู่พักใหญ่กับคำเตือนของบรรดาเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่
ซึ่งยืนยันว่า เอเยนซีโฆษณานั้นไม่เหมือนธุรกิจอื่น จะดำเนินงานเหมือนกิจการธรรมดาไม่ได้
แต่ในเวลาต่อมาเขาก็ยืนยันว่าเสียงกล่าวอ้างเช่นนี้ช่างไร้สาระสิ้นดี
อันที่จริงหลุยส์-เดรย์ฟัส กับ สก็อตต์ ที่เขาหอบหิ้วมาด้วย เป็นคู่หูที่บุคลิกไม่เหมือนกันเลยหลุยส์-เดรย์ฟัสนั้นเป็นคนประเภทฉับไวใจกล้าไม่กลัวอันตราย
ผู้ซึ่งเล่าเรื่องถูกฝังจมถึงไหล่อยู่ในกองหิมะเมื่อปีที่แล้ว ขณะเล่นสกีไปตามเส้นทางที่ไม่มีใครไปกันมาก่อนหน้าตาเฉย
ส่วนสก็อตต์แม้ท่าทางมีมิตรไมตรี แต่ก็เป็นนักบัญชีผู้สุขุมซึ่งชอบสวมสูทสีมืด
ๆ และคอยเตือนคนอื่นไม่ให้นั่งรถของหลุยส์-เดรย์ฟัสซึ่งเขาบอกว่าชอบขับรถเสี่ยงอันตราย
หนึ่งในการตัดสินใจแรก ๆ ของหลุยส์-เดรย์ฟัสเมื่อเข้าบริหารซาทชิ คือ ย้ายที่ทำการบริษัทโฮลดิ้งคอมปานีของกลุ่มซาทชิออกจากสำนักงานหรูหราที่เพิ่งอยู่มาได้ปีเดียว
แล้วให้คนอื่นเช่าต่อ แต่เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดตกต่ำมาก ทำให้ดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้
ในที่สุด เขาจึงใช้วิธีย้ายตัวเองและสตาฟฟ์ส่วนใหญ่ออกไปที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสำนักงานของซาทชิ
แอนด์ ซาทชิ แอดเวอร์ไทซิ่ง บนถนนชาร์ล็อตต์ อาคารดังกล่าวราคาพื้นที่ถูกกว่าและเป็นของบริษัทอยู่แล้ว
ส่วนพี่น้องซาทชิพร้อมเลขานุการ ยังคงอยู่ที่อาคารเดิมอันหรูหราฟูฟ่าตรงจัตุรัสเบิร์กเลย์
ซึ่งบริษัทพยายามหาผู้เช่าต่อไป
หลุยส์-เดรย์ฟัส ยังจับประดาธุรกิจด้านที่ปรึกษามารวมเสนอขายเป็นกลุ่ม
ด้วยราคาลดหั่นแหลก เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครสนใจเลย
ทั้งหลุยส์-เดรย์ฟัส กับ สก็อตต์ ยังกระโจนเข้าตัดค่าใช้จ่ายอย่างไร้ความปรานี
พวกเขาสั่งยุบตำแหน่งระดับบริหารกันแบบยกกะบิ
หลุยส์-เดรย์ฟัส กับ สก็อตต์ ซึ่งมีรายงานว่า ตกอกตกใจกับเงินเดือนแพงลิ่วที่จ่ายให้คนในวงการโฆษณามาก
ยังเริ่มจัดให้พวกผู้บริหารที่เหลืออยู่ เข้าสู่แผนการให้ผลตอบแทนแผนใหม่ซึ่งพวกเขาจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายได้และผลกำไรที่ทำให้บริษัท
บริษัทประกาศว่า จำนวนพนักงานทั่วโลกในปี 1991 ได้ลดลงจากปี 1989 ถึง 27%
และในที่สุดราว 30% ของค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องจ่าย จะขึ้นลงเปลี่ยนผันไปตามผลประกอบการ
สำหรับตัวเอง หลุยส์-เดรย์ฟัส ก็ตัดเงินตอบแทนลง 40% เหลือปีละ 450,000
ดอลลาร์ในปี 1990 ส่วนเงินเดือนของพี่น้องซาทชิลดจากคนละ 938,000 ดอลลาร์ต่อปีในปี
1989 เหลือ 656,000 ดอลลาร์ในปี 1990 และ 469,000 ดอลลาร์ในปี 1991
ฝ่ายบริหารสูงสุดในบรรดาบริษัทลูกของซาทชิโดยเฉพาะกิจการที่เป็นเอเยนซีโฆษณาต่างสนอกสนใจและระแวงระวัง
"คนใหม่" ผู้ก้าวเข้ามากอบกู้ซาทชิ
ข่าวคราวความย่ำแยของบริษัทแม่ที่แพร่กระจายไปในวงกว้าง ทำให้เอเยนซีเหล่านี้ประสบความลำบากในการดำเนินงาน
อดีตผู้บริหารของซาทชิผู้หนึ่งเล่าถึงความหลังครั้งที่ไปเสนองานกับบริษัทซึ่งมุ่งหวังดึงมาเป็นลูกค้า
แล้วต้องตอบคำถามมากมายเพราะพวกเอเยนซีคู่แข่งไปบอกกับบริษัทนั้นว่าซาทชิกำลังจะเจ๊ง
เครือข่าย ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ แอดเวอร์ไทซิง เวิร์ลด์ไวด์ ดูจะประสบปัญหามากที่สุด
เนื่องจากใช้ชื่อเดียวกับตัวบริษัทโฮลดิ้ง คอมปานี ทำให้เกิดความสับสน มีอยู่ระยะหนึ่ง
บริษัทถึงกับต้องเสนอให้ลูกค้าดูบัญชีแสดงฐานะการเงินของกลุ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่าซาทชิยังสามารถอยู่ต่อไปได้แน่
ๆ อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง
พวกผู้บริหารบริษัทลูกเหล่านี้ต่างพากันข้องใจว่าการมาของหลุยส์-เดรย์ฟัส
หมายถึงพวกเขาจะถูกเรียกร้องรีดเงินมากขึ้น เพื่อช่วยกอบกู้บริษัทแม่หรือเปล่า
เรื่องการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น สำหรับลูกค้าบางคนแล้ว
"เรื่องใหญ่ที่สุดที่เป็นห่วงกันไม่ใช่ว่าเราจะล้มละลายไหม แต่เป็นเรื่องที่ในเมื่อผมต้องหัวหมุนถึงขนาดนี้แล้ว
ผมจะไม่สามารถให้บริการอย่างที่พวกเขาต้องการได้ต่างหาก" เอด แวกซ์ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาทชิ
แอนด์ ซาทชิ แอดเวอร์ไทซิง เวิร์ลด์ไวด์ เล่า
แต่หนแรกที่เขาได้พบกับหลุยส์-เดรย์ฟัสนั้นแวกซ์บอกว่า "คำพูดคำแรกที่หลุดออกจากปากของเขาคือ
"ผมจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้คุณทำงานดีขึ้น"
สำหรับผู้บริหารที่เป็นชาวอเมริกันของซาทชิแล้วหลุยส์-เดรย์ฟัสเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่น่าต้อนรับ
ก่อนหน้านั้น แวกซ์เล่าว่า ในบริษัทมีแต่การพูดร่ายยาวและการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนแต่สำหรับหลุยส์-เดรย์ฟัส
ไม่มีการเล็กเชอร์ มีแต่การชั่งน้ำหนักประเด็นและปัญหาต่าง ๆ อย่างซื่อตรงและเขาจะทำทุกอย่างที่สามารถเพื่อให้งานเดินไปได้เขาเรียกร้องให้มุ่งความสนใจไปที่ลูกค้าเป็นสำคัญ
ความตรงไปตรงมาของหลุยส์-เดรย์ฟัส ก็ใช้ได้ดีเช่นกันในโลกการเงินของลอนดอน
ซึ่งไม่ถือว่าซาทชิเป็นหุ้นน่าดึงดูดใจอีกต่อไปแล้ว อันที่จริงตลาดหุ้นลอนดอนไม่ไว้ใจซาทชิเสียด้วยซ้ำ
เนื่องจากพวกนักวิเคราะห์ไม่สามารถเดาใจพี่น้องซาทชิได้ถูกว่าพวกเขาจะทำอะไรต่อไป
อีกทั้งไม่เชื่อถือสิ่งล่อใจที่พวกเขาพยายามนำมาใช้ปกปิดปัญหาต่างๆ
จอห์น เปอร์ริสส์ ประธานและซีอีโอของเซนิธ มีเดีย เวิร์ลด์ไวด์ หน่วยงานซื้อสื่อของซาทชิเล่าว่า
เขาเคยเห็นพวกนักวิเคราะห์ขี้สงสัยบางคนถึงกับตะลึงไปเลย เมื่อถามหลุยส์-เดรย์ฟัสว่า
"คุณไม่คิดหรือว่าเป็นเรื่องโง่มากที่ไปซื้อบริษัทอย่างนั้น" แล้วได้รับคำตอบตรง
ๆ ว่า "ครับ"
ในบรรดากลุ่มที่เขาต้องติดต่อทำธุรกิจด้วยพวกนายแบงก์เป็นกลุ่มที่ทำเอาหลุยส์-เดรย์ฟัส
ย่ำแย่ที่สุด เขาถึงกับพูดว่า ข้อผิดพลาดใหญ่ที่สุดของเขาในเวลาอยู่กับซาทชิก็คือ
ไม่ติดต่อให้บรรดาธนาคารยืนยันความสนับสนุนเสียก่อนที่จะยอมเข้าไปรับตำแหน่ง
เขาจะได้อาศัยการขู่ว่าจะไม่เข้ากอบกู้ซาทชิเป็นเครื่องต่อรองให้มีการปรับโครงสร้างหนี้สิน
เนื่องจากเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น ผลคือการเจรจาต่อรองอย่างถึงพริกถึงขิงกับพวกนายแบงก์ดำเนินไปกว่าปี
โดยระหว่างนั้น กำหนดเวลาต้องไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพก็ใกล้เข้าทุกขณะหลุยส์-เดรย์ฟัส
ยอมรับว่า เป็นจริงตามที่เล่าลือกัน ช่วงนั้นซาทชิถึงจุดจวนเจียนจะหาเงินมาหมุนไม่ได้
หลายครั้งเขากับสก็อตต์ต้องหากู้เงินระยะสั้นแค่ 48 ชั่วโมงก็เอา ขณะที่พยายามผลักดันหาทางออกระยะยาว
แม้โดยบุคลิกภายนอกจะเป็นคนปล่อยวางแต่การต่อรองอันยืดเยื้อส่งผลต่อตัวเขามากทีเดียว
เขาเล่าว่าระหว่างปีแรกที่ทำงานนี้เขานอนไม่ค่อยหลับเพราะหวาดผวาตลอดเวลา
น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้น 25 ปอนด์ เนื่องจากกระวนกระวายจึงทำให้รับประทานมากเกินไป
หลุยส์-เดรย์ฟัส กับ สก็อตต์ ไม่เหมือนกันผู้บริหารซาทชิที่ติดต่อกับพวกนายแบงก์ในอดีต
โดยเป็นรายแรกที่ยืนยันกับธนาคารว่าต้องการแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพียงจะหาเงินหมุนระยะสั้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่แบงก์ก็ไม่ต้องการเสี่ยงอีกแล้ว "เราโชคดีที่เราตระหนักอย่างรวดเร็วว่า
เราจำเป็นต้องหาทางแก้ที่ถาวร" สก็อตต์บอก พร้อมกับเสริมด้วยความถ่อมตนตามนิสัยว่า
ในฐานะเป็นคนนอกทำให้ง่ายที่จะมองซาทชิอย่างที่มันเป็นจริง
ในที่สุด เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน 1991 บริษัทกับพวกนายแบงก์ก็สามารถตกลงแผนการปรับโครงสร้างหนี้กันได้
โดยธนาคารตกลงปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นแปลงสภาพยอมที่จะนำไปแปลงเป็นหุ้นสามัญแทนที่จะเรียกเอาเงินสด
ถึงตอนนี้ ซาทชิ นับว่ารอดพ้นภาวะล้มละลายแล้ว
มีการคาดเดากันอย่างกว้างขวาง กระทั่งหนังสือพิมพ์ในภาษาอังกฤษก็เสนอข่าวว่า
เขากับพี่น้องซาทชิขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องที่เขาทำไป แต่หลุยส์-เดรย์ฟัสกลับยืนยันว่า
ไม่ได้เป็นเช่นนั้นทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นกว่าที่ผู้คนคิด
"นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่หัวเสียที่ผมไม่ปรึกษาพวกเขาหรือผมไม่หัวเสียเรื่องที่พวกเขาชอบปล่อยข่าวรั่วถึงหนังสือพิมพ์
แต่มันเป็นแค่รอยขีดข่วนมากกว่าจะเป็นปัญหาจริง ๆ" เขาบอก
เรื่องใหญ่ที่สุดที่เขาไม่ลงรอยกับพี่น้องซาทชิหลุยส์-เดรย์ฟัส เล่าว่า
คือเรื่องการเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ ตัวเขาและแวกซ์ตลอดจนผู้บริหารอื่นของซาทชิ
แอนด์ ซาทชิ แอดเวอร์ไทซิง ต่างต้องการให้โฮลดิ้งคอมปานี เปลี่ยนชื่อจากซาทชิไปเป็น
"อะไรก็ได้" เพื่อลดความสับสนระหว่างบริษัทแม่กับลูกคู่นี้ และเพื่อบ่งบอกให้ชัดว่าบริษัทแม่เป็นอะไรมากกว่าแค่เครือข่ายเอเยนซีโฆษณา
ทว่าพี่น้องซาทชิยืนกรานไม่ยอมเปลี่ยน
บุคคลวงในบางคนบอกด้วยว่า มีคนในซาทชิจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้หลุยส์-เดรย์ฟัส
กำจัดพี่น้องซาทชิออกไป โดยที่พวกธนาคารเจ้าหนี้ยินดีสนับสนุน แต่ตัวเขาเองกล่าวว่า
ไม่เคยพิจารณาข้อเสนอนี้เลย
ในที่สุดการปรับโครงสร้างหนี้ก็เสร็จสมบูรณ์เป็นครั้งแรกที่หลุยส์-เดรย์ฟัส
สามารถหันไปให้ความสนใจเต็มที่กับการบริหารบริษัท ความเคลื่อนไหวอย่างแรก
ๆ ที่เขาทำในตอนนั้นคือแต่งตั้งสก็อตต์ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
(ซีอีโอ) ในเดือนกรกฎาคม 1991 ซึ่งเท่ากับวางตัวให้เป็นทายาทคนต่อไป
ฤดูร้อนปีนั้น เขายังออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่สำคัญมากอีกฉบับหนึ่ง
คือให้แวกซ์ กับริชาร์ด ฮัมฟรีย์ เป็นซีอีโอร่วมของ ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ แอดเวอร์ไทซิง
เวิร์ลด์ไวด์ ตอนนั้นแวกซ์รับผิดชอบงานด้านสหรัฐฯ ของเอเยนซีอยู่ ขณะที่ฮัมฟรีย์
ดูแลส่วนที่เหลือ การแต่งตั้งแบบนี้ก็เหมือนกับให้คนทั้งสองแข่งขันกัน ฮัมฟรีย์ดูจะเปิดตัวในการต่อสู้มากกว่า
ด้วยการปล่อยข่าวว่าจะออก ถ้าแวกซ์ได้ตำแหน่งสูงสุดไป ถึงเดือนมกราคม 1992
หลุยส์-เดรย์ฟัส ก็เลยยื่นซองขาวให้แก่ฮัมฟรีย์เสียเลย
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นที่ชมเชยกันมาก คือ ขยายการดำเนินงานของเซนิธ
มีเดีย ซึ่งทำหน้าที่ซื้อสื่อในยุโรปให้แก่เครือข่ายเอเยนซีโฆษณาของซาทชิทั้ง
3 เครือ
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วหลุยส์-เดรย์ฟัสซึ่งยอมรับตัวเองว่าเป็นคนประเภทอยู่กับที่ไม่ค่อยได้
ก็เริ่มคิดว่าจะหาอะไรทำต่อไปดี เขารู้สึกว่าได้มอบหมายซาทชิให้กับมือดี
ๆ อย่างสก็อตต์และผู้บริหารคนอื่น ๆ แล้ว
แรกทีเดียว เขาวางแผนจะบอกลาโลกธุรกิจสักสองสามปี เพื่อใช้เวลากับครอบครัว
และทำงานให้ "สวิส ฟาวเดชั่น" องค์การกุศลจัดฝึกงานให้ผู้เลิกยาเสพติดให้มากขึ้นด้วย
ครั้นแล้ว เขาก็ได้รับข้อเสนอให้ไปทำงานเป็นประธานกรรมการบริหารอาดิดาส
ก่อนที่เขาจะออกจากตำแหน่งซีอีโอของซาทชิเมื่อเดือนมีนาคม หลุยส์-เดรย์ฟัสต้องทำรายงานลดมูลค่าทรัพย์สินของซาทชิลงไปถึง
864 ล้านดอลลาร์เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบัญชีอังกฤษ ที่ให้ลดมูลค่าของบริษัทที่ถือครองลงตามความเป็นจริง
การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชีทั้งที่มองด้านการดำเนินงาน ซาทชิกลับฟื้นมามีกำไรขึ้นบ้างแล้ว
บรรดานักวิเคราะห์คาดหมายว่าในระยะใกล้ซาทชิคงจะปรับปรุงดีขึ้นไม่มากนัก
โดยช่วงสองสามปีต่อไปนี้ ผลประกอบการของบริษัทน่าจะใช้ได้ทว่าไม่มีอะไรตื่นเต้น
บางเสียงวิจารณ์ว่า หลุยส์-เดรย์ฟัสจากไปโดยไม่ได้ช่วยบริษัทกำหนดวิสัยทัศน์หรือยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตขึ้นมา
แต่เรื่องนี้พวกที่สนับสนุนเขาตอบโต้ว่า ที่จริงซาทชิมีวิสัยทัศน์ นั่นคือการเป็นเอเยนซีโฆษณาที่ดีที่สุดและสร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นวิสัยทัศน์แรกสุดของบริษัทนั่นเอง
หลุยส์-เดรย์ฟัสบอกว่า พี่น้องซาทชิ ซึ่งเวลานี้มีหุ้นของบริษัทเหลืออยู่เพียง
1% ต่างยอมรับวิสัยทัศน์นี้โดยดุษฎี และไม่คิดจะเอาแต่ผลักดันให้ซาทชิโตอย่างเดียวดังแต่ก่อน
ถึงแม้เวลานี้ซาทชิจะกลายเป็นกลุ่มเอเยนซีโฆษณาใหญ่อันดับ 4 รองจากดับเบิลยูพีพี
กรุ๊ป, อินเตอร์พับลิก, และออมนิคอม
สก็อตตซึ่งนั่งบริหารซาทชิสืบต่อจากหลุยส์-เดรย์ฟัส ยอมรับว่า ตอนที่หลุยส์-เดรย์ฟัสออกจากบริษัทไป
ผลการดำเนินงานยังไม่ได้ดีถึงขนาดที่ตั้งความหวังไว้ตอนที่เขาเริ่มเข้า อาจจะเนื่องจากไม่ได้คิดกันว่า
ภาวะเศรษฐกิจซบเซายืดเยื้อถึงขนาดนี้
แต่สก็อตต์ก็เสริมว่า "คุณต้องมองภาพรวม ถ้าโรเบิร์ต (หลุยส์-เดรย์ฟัส)
ไม่ยอมรับงานนี้ ผมคิดว่าบริษัทคงไม่อยู่รอดจนถึงเดี๋ยวนี้"