|
แบงก์ชาติตี "ดาบ" ไร้ฤทธิ์เดช สิ้นแรงต้านอำนาจค่าบาทแข็ง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อมาตรการกันสำรอง 30% คือ "ดาบ" เล่มคมของ "แบงก์ชาติ" ที่ถูกตีขึ้นมาเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าบาท อันนำไปสู่เงินที่แข็งเกินปัจจัยแท้จริง ด้านหนึ่งแบงก์ชาติมั่นใจในความสำเร็จที่ทำให้สกุลเงินบาทไม่ผันผวนรุนแรงเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่อีกด้านมาตรการดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งเงินบาทที่แข็งค่า จนว่ากันว่าอาจเห็นเงินบาททะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ และกล่าวได้อีกว่ามาตรการกันสำรอง 30% ช่วยภาคส่งออกไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกันยังซ้ำเติมภาคลงทุนละความเชื่อมั่นผู้ประกอบการด้วย
เมื่อ "ดาบ" ไร้ความคมก็มิอาจต้านทานอำนาจของกระแสโลกได้ หนทางเดียวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย "แบงก์ชาติ" ทำได้คือการตีดาบเล่มใหม่ขึ้นมาทดแทน
ว่ากันตามจริง มาตรการกันสำรอง 30% ใช่ว่าจะไร้ผล แต่นักวิชาการ นายแบงก์ หรือบุคคลในวงเศรษฐกิจต่างเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการที่ดีกว่านี้ ไม่รุนแรงไม่หวือหวาจนสร้างความวิตกกังวลให้นักลงทุนลามไปถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
ดูเหมือนแบงก์ชาติจะรู้ตัวในเรื่องนี้ดี แต่ด้วยศักดิ์ศรีกอปรกับข้อมูลที่ประกอบว่า แท้จริงแล้วมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้มีแต่ผลเสียเพียงอย่างเดียว งานนี้แบงก์ชาติจึงยังไม่ยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวในทันที แม้จะทำให้หุ้นถล่มทลายมาแล้วก็ตาม แต่แบงก์ชาติกลับค่อยๆ ใช้วิธีการผ่อนปรนมาตรการ
ข้อมูลที่แบงก์ชาตินำมาชี้แจงโดย "ธาริษา วัฒนเกส" ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ก่อนออกมาตรการกันสำรอง 30% ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ปรับตัวแข็งค่าถึง 16.5% ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่าสูงกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค อยู่ราว ๆ 8%-9% เป็นความผิดปกติที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้น จนเป็นที่มาของการตัดสินใจออกมาตรการดังกล่าว
"หลังจากออกมาตรการก็มีเสียงท้วงติงอย่างหนักว่าสิ่งที่เราทำลงไปได้ผลแน่หรือ จึงยืนยันว่ามาตรการนี้ได้ผลตามที่ต้องการ เพราะค่าเงินบาทหลังมาตรการดังกล่าวได้เกาะกลุ่มวิ่งไปตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งไม่ได้แข็งค่าในทิศทางเดียว ดังนั้นหลังจากที่เราออกมาตรการไปช่วงสิ้นเดือน ก.พ.เทียบกับ 19 ธันวาคม 2549 ในภูมิภาคนี้ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าที่สุดคือฟิลิปปินส์ แข็งขึ้น 2.71% ส่วนไทยแข็งค่าประมาณ 1% ทั้งๆ ที่เมื่อปีกลายเราแข็งค่าถึง 17%"
ธาริษา บอกอีกว่า แบงก์ชาติไม่ได้ต้องการสกัดกั้นค่าบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับหรือตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ที่ต้องการคือให้ค่าบาทผันผวนไปตามกระแสค่าเงินสกุลภูมิภาคเพื่อช่วยผู้ประกอบการด้านส่งออกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค
ถึงวันนี้ความช่วยเหลือภาคส่งออกเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของแบงก์ชาติหรือไม่...? อาจเป็นไปได้ เพราะภาคส่งออกคือพระเอกตัวจริงที่มีสัดส่วนถึง 60% ของจีดีพี การทำอะไรที่กระเทือนต่อภาคการส่งออกย่อมหมายถึงกระทบต่อจีดีพี เมื่อจีดีพีหด สังคมก็ตีความหมายว่าเศรษฐกิจส่อแววป่วยหนัก...การลงทุน ความเชื่อมั่น การบริโภค ทุกอย่างหดตัวชะงักงัน...กลายเป็นเรื่องยุ่งๆ ให้รัฐบาลนั่งปวดหัวหาหนทางเยียวยาอีก ทั้ง ๆ ที่มองดูแล้วพื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็แข็งแรงมิใช่น้อย
มาตรการกันสำรอง 30% ไม่สามารถช่วยเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ ทุกวันนี้ค่าเงินยังคงวิ่งทะยานแข็งอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะหยุด โดยคาดกันด้วยว่าในไตรมาส 2 อาจวิ่งทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสวนทางความต้องการภาคส่งออกที่อยากให้ค่าบาทนิ่งในระดับ 36-38 บาทต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับที่เพียงพอต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย
อย่างไรก็ตามแต่การให้ความสำคัญกับภาคส่งออกมากเกินไปจนลืมมองถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ อย่างการลงทุน การบริโภค ที่เกิดจากความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงของแบงก์ชาติในการกำหนดนโยบายในครั้งต่อไป หลังจากพิษมาตรการกันสำรอง 30% เล่นงานตลาดทุนอ่วม จนนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
"แน่นอนว่าเราอาจยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ทันทีที่เห็นว่า มาตรการใหม่ Fully Hedge ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มีนาคมนี้ มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่จะยกเลิกเมื่อไรยังบอกไม่ได้ เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นดูว่าธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปฏิบัติได้ตามกฎเกณฑ์หรือไม่"
ธาริษา บอกว่า เนื่องจากมาตรการ Fully Hedge เป็นการกำหนดให้เงินทุนที่ไหลเข้าออกทุกประเภทต้องประกันความเสี่ยง กล่าวคือผู้นำเงินทุนต่างประเทศเข้ามาจะนำเงินทุนต่างประเทศเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ การทำแบบนี้เมื่อซื้อกลับก็จะไม่ทำให้ค่าเงินบาทกระเพื่อม และก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนได้
ยกตัวอย่างเช่น นายทุนนำเงินมา 1 ดอลลาร์ จะต้องนำเงินดังกล่าวมาเป็นหักประกันกับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอกู้เป็นเงินบาท ซึ่งถ้าค่าบาทอยู่ที่ 41 บาท เมื่อครบ 3 เดือนคืนเงินกู้ ก็ถือเงิน 41 บาทมาเอา 1 ดอลลาร์คืน วิธีดังกล่าวจึงไม่มีแรงกดดันกับค่าเงิน และก็เห็นว่าไม่ได้ต่างจากมาตรการกันสำรอง 30% ด้วย อีกทั้งฝ่ายเอกชนก็มีเสียงตอบรับในทางบวกด้วย
ธาริษา บอกอีกว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คือการปรับตัวเพื่อรับกับความผัวผวนต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการนักลงทุน นักธุรกิจ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมที่จะรับมือและปรับตัวใต้ความผันผวนที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ด้วยการมองปัญหาในระยะยาว และวิธีนี้ถึงจะทำให้ภาคธุรกิจอยู่รอดได้
ส่วนค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่ามากในขณะนี้ แบงก์ชาติจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่นั้น ธาริษาบอกว่าขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเร็วเกินไปจนกระทบภาคเศรษฐกิจ และเมื่อค่าบาทแข็งหรืออ่อนมากโดยไม่สะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ และการเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องเงินสกุลอื่นในภูมิภาค
"นอกเหนือจากปัจจัยที่ว่า แบงก์ชาติก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลแทรกแซงค่าบาททั้งทางตรงหรือทางอ้อม"
การดูแลแทรกแซงค่าเงินเป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศก็ทำเพื่อดำรงเสถียรภาพของค่าเงินไว้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เกือบประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่เคยแทรกแซงค่าเงินทั้งนั้น
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้น แบงก์ชาติได้ออกนโยบายด้านการเงินมาดูแลหลายต่อหลายครั้งแล้ว เช่นมาตรการกันสำรอง 30% ที่เปรียบเหมือนการให้ยาเกินขนาน มาตรการ Fully Hedgeที่คาดว่าจะมาใช้แทนของเก่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งหมดนี้คือคมดาบที่แบงก์ชาติงัดออกมาใช้ควรคุมเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้ผันผวนรุนแรง ส่วนได้ผลมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|