|

จับตา 'โอกาสธุรกิจ' แฟชั่นไทยผ่าน 'บางกอกฯ แฟชั่น วีค 2007'
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ติดตามความพยายาม "ดิ้นรน" ของภาคเอกชนในธุรกิจแฟชั่น หลังภาครัฐ "หยุด" ต่อยอดโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
เชื่อหรือไม่ว่า "โอกาสธุรกิจ" แฟชั่นไทยยังมีแววส่อประกายในตลาดโลก?
ทำไมแฟชั่นโชว์จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจแฟชั่นที่ไทยต้องเดินตาม?
พิสูจน์ความสำเร็จ "สยามพารากอน" จับมือพันธมิตร "Nokia-BMW-L’Oreal-K Bank-เมืองไทยประกันชีวิต" กับดีไซเนอร์แฟชั่นแบรนด์ดังของไทย จุดกระแสใหม่กระตุ้นภาพลักษณ์เมืองแฟชั่น
แม้ว่าโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นจะไม่ได้รับการสนับสนุนให้ทุ่มงบประมาณของรัฐลงไป แต่เอกชนโดย 4 ศูนย์การค้าในกลุ่มเดียวกัน คือ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ ดิ เอ็มโพเรียม และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ยังคงประกาศชัดเจนว่าจะจับมือผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่น โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกันจัด "โครงการบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่น วีค 2007" เพื่อต่อยอดโครงการบางกอก แฟชั่น วีค ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการย่อย 11 โครงการของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
เกรียงศักดิ์ ตันติภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวถึง โอกาสของธุรกิจแฟชั่นไทยว่าจะอยู่รอดได้นั้น ถ้าต้องการแนวทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว การเดินตามสูตรสำเร็จของเมืองแฟชั่น คือการสร้าง "Country Immage" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้คนอยากมา และผลพวงที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความเชื่อมั่นที่ได้จากทั่วโลก แต่จะทำให้เกิดการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้อำนาจการต่อรอง และในที่สุดคือความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
การพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะฉะนั้น โครงการบางกอกอินเตอร์ เนชั่นแนล แฟชั่น วีค 2007 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 15-18 มีนาคมนี้ ที่สยามพารากอน โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการบางกอก แฟชั่น วีค ที่ทำไปแล้วทั้ง 2 ครั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้วงการแฟชั่นไทยตื่นตัวและพัฒนาการ เป็นการสร้างกระแสให้เกิดภาพลักษณ์ด้านแฟชั่นด้วยการสร้างงานแฟชั่นโชว์และการประชาสัมพันธ์ไปในระดับโลก
โดยมี 13 แบรนด์ชั้นนำของไทย คือ ANR , Fly Now ,Gray Hound by Nokia, Inspireed by Inner Complexity , Kai , Theatre , Time’s End , Tippy & Matthew , Tube Gallery , Nude Color by L’Oreal Professional และYoswadee มาร่วม เปิดคอลเลคชั่นล่าสุด และรูปแบบการจัดงานแฟชั่นโชว์ที่ยิ่งใหญ่ โดยจะมีดีไซเนอร์ระดับอินเตอร์แบรนด์ เช่น Jimmy Choo จากลอนดอน มาร่วมงาน
"วันนี้ทั้ง 4 ศูนย์ฯ มีภาพลักษณ์ของผู้นำแฟชั่นอยู่แล้วอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักเรา สำหรับเรื่องภาพลักษณ์คือสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาอยู่แล้ว ซึ่งเราทำมาตลอด และดูแล้วว่าถ้าเราไม่ร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่น คือเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีมูลค่า 3-4 แสนล้านบาท และคนนับล้านจะกระทบไปถึงหลายอุตสาหกรรมและรายได้ของประเทศซึ่งเป็นภาพใหญ่ ในขณะที่ทั้งจีน เวียดนาม และมาเลเซีย กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยยิ่งต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะใน 2 ปีข้างหน้าเมื่อจีนสามารถเปิดเสรีได้ทั่วโลกอันตรายมากเราสู้ไม่ได้แน่
การสร้างภาพลักษณ์คือการชี้ประเด็นหรือจ่อสปอตไลต์ไฮไลต์สิ่งที่เราเด่น เพราะ 2 ปีที่โครงการแฟชั่นทุ่มลงไปเรายังเดินไม่ถึงไหนเลย ประเด็นที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ เราต้องทำคือสร้างภาพลักษณ์ นอกจากนี้เราพร้อมเพราะเรามีอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงมีดีไซเนอร์เก่งแต่ไม่มีฐานด้านการผลิตและส่งออก แต่มีบางโรงงานที่ผลิตให้แบรนด์ดัง ทำไมคนเหล่านี้ไม่เคยเจอกัน เพราะฉะนั้นมูลค่าของสิ่งเหล่านี้คือแบรนดิ้ง เพื่อให้สามารถทำกำไรได้สูงพอ"
การจัดแฟชั่นโชว์เป็นการตลาดที่สำคัญของวงการแฟชั่น เพราะเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่หรือคอลเลคชั่นใหม่ เป็นการกระตุ้นการขาย ทำให้เกิดการขายได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างแบรนด์อิมเมจ และยกระดับของแบรนดดิ้ง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีการเชิญผู้ซื้อทั้งระดับประเทศและอินเตอร์ ผู้บริโภค และสื่อมวลชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงจรธุรกิจขับเคลื่อนและเติบโต
"เราเหมือนประตูสู่ความสำเร็จเป็นโอกาสสร้างยอดขายและกำไรให้ผู้ประกอบการได้เติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้ครบวงจร เราจึงเชิญดีไซเนอร์ไทยอีก 3 แบรนด์ เข้ามาอยู่ใน Dress Code เป็นดีไซเนอร์หน้าใหม่ เป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงสังคม เป็นคนที่เก่งอยู่แล้ว แต่เราเปิดโอกาสด้วยการให้พื้นที่ขาย ทำให้ยอกขายมากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์มากขึ้น ซึ่งในที่สุดเขาจะเติบโตเอง เป็นสิ่งที่เราทำอย่างครบวงจร เราสนับสนุนแฟชั่นอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผลักดันดีไซเนอร์ไทยเติบโตมาก่อนแล้ว
สิ่งที่เราทำได้คือเราผลักดันให้เขาผ่านประตูนี้ไป ส่วนที่เหลือเมื่อต้องไปเติบโตในต่างประเทศเขาต้องไปเองแล้ว แต่อย่างไรก็ตามประตูนี้เปิดตลอดเวลาเพื่อให้แบรนด์ใหม่เติบโตขึ้น รูปธรรมในการทำอย่างครบวงจรคือ ทำแฟชั่นโชว์ สร้างพื้นที่ขาย และสปอนเซอร์ที่เลือกเข้ามามีบทบาทและความสำคัญ สำหรับครั้งนี้คือธนาคารกสิกรไทยจะมาช่วยเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงิน เมืองประกันประกันชีวิตที่มาลดความเสี่ยงเรื่องการขนส่งสินค้า โนเกียซึ่งเป็นโกลบอลแบรนด์สามารถสร้างการรับรู้สู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับรถบีเอ็มดับเบิ้ลยู"
อย่างไรก็ตาม สำหรับความสำเร็จของผู้ประกอบการหรือดีไซเนอร์ ไม่ว่าจะ 13 แบรนด์ที่มาร่วมเดินแฟชั่นฯ ในงานนี้ หรือ 30 แบรนด์ใหม่ที่อยู่ใน Dress Code ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการที่แต่ละคนมีต่างกัน ความสำเร็จอยู่ในระดับที่ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การเปิดโอกาสให้แล้ว และจะทำต่อไป เพราะไม่ว่าจะอย่างไรต้องช่วยกันผลักดันเพื่อเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจแฟชั่นไทย
เกรียงศักดิ์ สรุปทิ้งท้ายว่า การผลักดันธุรกิจแฟชั่นไทยเช่นนี้เป็นการเป็นสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมให้แบรนด์ไทยมีโอกาสเปล่งประกายด้วยตัวเอง
'ฟลายนาว' โชว์สปิริต ย้ำทำเพื่อสร้างความเชื่อถือ
ชำนัญ ภักดีสุข ดีไซเนอร์ แบรนด์ Fly Now และบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น Harper’s Bazaar กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อจะบอกถึงความพยายามว่าวงการแฟชั่นพยายามพึ่งตนเอง และแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริง เพราะสำหรับการสร้างความเชื่อถือยิ่งในระดับอินเตอร์ต้องทำให้เห็นว่าชัดเจน ไม่ใช่หยุดๆ เดินๆ ซึ่งในส่วนของแบรนด์ฟลายนาวที่เติบโตมาได้มาจากความมุ่งมั่นด้วยตัวเองมาตลอด และจะทำต่อไป เพื่อเป็นกำลังใจหรือตัวอย่างให้คนที่เริ่มทำธุรกิจมีความพยายาม เพราะฟลายนาวสามารถไปเติบโตในต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับในปารีส อัมสเตอร์ดัม อิตาลี่ และสเปน ซึ่งเป็นเมืองแฟชั่น
แต่ภาพรวมของวงการแฟชั่นไทยนั้น ยังมีจุดอ่อนในด้านการบริหารจัดการ เพราะการทำงานของคนไทยมีวิธีการมองธุรกิจที่เป็นอุปสรรคในการเติบโต ไม่เข้าใจธุรกิจแฟชั่นเพียงพอ เช่น การทำเสื้อโชว์เป้าหมายต่างกับเสื้อขาย ซึ่งในต่างประเทศเสื้อโชว์ผลกำไรได้จากการประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ส่วนผลกำไรเป็นเงินได้จากเสื้อขาย
"สำหรับงานนี้ความจริงไม่ตรงกับช่วงที่เราออกคอลเล็กชั่น แต่เราก็มาช่วยเพราะเรามองว่าเมื่อคนจัดตั้งใจทำแล้ว เราต้องตั้งใจช่วยอย่างเต็มที่"
ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ต่อยอดอนาคตแฟชั่นไทย
ศรุดา นิ่มพิทักษ์พงศ์ เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ KUNITAR , 8E88 และ Triple 8 กล่าวถึงงานบางกอกแฟชั่นวีคซึ่งมีการจัดขึ้น 2 ครั้ง นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้แบรนด์ KUNITAR กับ 8E88 มีโอกาสเติบโตในต่างประเทศ คือที่นิวยอร์คและไต้หวัน และเร็วๆ นี้กำลังจะเจรจากับแฟชั่นเฮ้าส์ซึ่งมีศักยภาพที่ดูไบ และที่มาเก๊า เนื่องจากลูกค้าเห็นผลงานผ่านนิตยสารต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานและมาสัมภาษณ์ เพราะฉะนั้น จึงได้นำแบรนด์ใหม่ คือ Triple 8 by 8E88 ซึ่งจะวางจำหน่ายในโซน Dress Code ในสยามพารากอน เข้าร่วมในการจัดงานแฟชั่นโชว์ครั้งนี้
ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ กล่าวอีกว่า จุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบนอกจากงานที่มีคุณภาพและดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังทำออกมาเพียงตัวเดียว แม้จะอยู่ในคอลเล็กชั่นเดียวกัน โดยมีลูกค้าในกลุ่มดารากับเซเรบริตี้เป็นจำนวนมาก
สำหรับความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์ความก้าวหน้าในวงการแฟชั่นมีอยู่มากมาย เพราะล่าสุด ซึ่งได้รับเลือกเป็นตัวแทนของดีไซเนอร์ไทยในงาน "Cross Couture" ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็มีความหมาย มีดีไซเนอร์อีก 3 ชาติคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และมาดากัสการ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน จะมาอยู่ร่วมกัน 10 กว่าวัน เพื่อคิดคอลเลกชั่นใหม่ออกมา เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เป็นตัวแทนจากไทย จึงนำผ้าไหมจากจิม ทอมสัน ซึ่งมีทั้งคุณภาพและชื่อเสียงเท่ากับเป็นการร่วมส่งเสริมสิ่งดีๆ ของไทย
นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นที่ปรึกษาของรายการ U Channel ซึ่งมีรายการเกี่ยวกับแฟชั่นและออกอากาศในมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงคิดขอโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนด้านแฟชั่นมามีประสบการณ์ร่วมมากขึ้น ส่วนแรกเปิดคัดเลือกเพื่อให้มาเป็นลูกมือของดีไซเนอร์ ซึ่งดีไซเนอร์ต่างชาติที่มาร่วมก็คิดที่จะหาคนที่มีฝีมือไปร่วมงานเท่ากับเพิ่มโอกาสให้กับเด็กไทยไปทำงานระดับโลก กับอีกส่วนเปิดให้นักศึกษาประมาณ 100 คนเข้ามานั่งชมการทำงานของดีไซเนอร์
"ทั้งแบรนด์ใหม่ที่ทำออกมาเรื่อยๆ รวมทั้ง งานนี้คือผ้าไหมซึ่งไม่ได้เก่งเลย แต่เมื่อต้องทำเพราะเป็นตัวแทนประเทศ ตอนนี้ก็เริ่มฝึกแล้ว เพราะอยากเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ดูว่าถ้าคิดจะทำก็สามารถทำได้ไม่ยาก สิ่งที่เราทำคือเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดเวลา เหมือนกับแฟชั่นซึ่งก้าวไปทุกวันไม่มีหยุด เพราะฉะนั้นเราจึงวิ่งอยู่ตลอดเวลา และเป็นตัวของตัวเอง และคิดเสมอว่าไม่มีใครนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันได้เหมือนกัน อย่าอยากนั่งท่าเดียวกับเขา แต่ให้นั่งในท่าที่เราสบายที่สุด เราใช้เวลา 5 ปีในงานเสื้อผ้า แต่ใช้เวลาสร้างแบรนด์ 2 ปี และคาดว่าอีก 5 ปีน่าจะก้าวสู่แบรนด์ระดับอินเตอร์ฯ เราต้องตั้งเป้าหมายไว้ ส่วนจะได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพยายาม"
แต่อุปสรรคด้านการเงินยังคงมีอยู่โดยเฉพาะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เท่าที่รู้มีหลายคนไม่มีทางออกที่ดี ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้และไม่มีทุนทรัพย์มากพอ ต้องหันไปเลือกกู้เงินนอกระบบ ทั้งๆ ที่มีฝีมือ ทำให้การเริ่มต้นเข้าสู่วงการนี้ต้องล้มเหลวอย่างที่ไม่ควรจะเป็น เท่ากับว่าวงการแฟชั่นเสียโอกาสพัฒนาและเติบโตอีกด้านหนึ่ง
พันธมิตรเปิดใจจับมือเพื่ออนาคต
"โนเกีย" ร่วมเปิดโอกาสเน้นดีไซเนอร์มือใหม่
อุณา ตัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นโยบายของโนเกียให้การสนับสนุนดีไซเนอร์เสมอ อยากให้ดีไซเนอร์ไทยมีโอกาสแสดงฝีมือ ซึ่งการร่วมเป็นสปอนเซอร์ของงานนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำ เพราะเป็นเวทีที่ดีให้ดีไซเนอร์ไทย เพราะโอกาสเป็นเรื่องสำคัญมาก ความสามารถอย่างเดียวไม่เพียงพอ นอกจากนี้ สำหรับ young designer หรือดีไซเนอร์รุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่โนเกียเน้นให้การสนับสนุน เพราะต้องการให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ และยังเห็นว่าด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยที่มีเอกลักษณ์เป็นพื้นฐานให้นำไปเป็นแนวความคิดในการออกแบบได้อย่างดีอีกด้วย
"BMW" ส่งซีรี่ส์ 7 จับคู่สร้างภาพลักษณ์
สำหรับ BMW ที่เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการร่วมสร้างภาพลักษณ์ซึ่งเหมาะสมกันระหว่างรถยนต์ BMW กับแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย และการจัดงานแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ ทำให้เห็นความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบรถที่สวยงามและโดดเด่น เช่นเดียวกับผลงานแฟชั่นที่ต้องประณีตและต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการนำ BMW ซีรี่ส์ 7 มาเป็นรถลิมูซีนเพื่อรับส่งดีไซเนอร์ชื่อดังจากต่างประเทศที่มาร่วมงานในครั้งนี้ และในส่วนของสยามพารากอนซึ่งเป็นศูนย์การค้าระดับหรูจะนำ BMW ซีรี่ส์ 7 มาเป็นรถลิมูซีนประจำไว้ให้บริการลูกค้า เพราะมีความคิดตรงกันว่ามีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีซึ่งกันและกัน เป็นการจับคู่ความหรูหราหรือความเป็นพรีเมี่ยม
"K Bank" แนะสร้างแบรนด์ ลดความเสี่ยงธุรกิจ
ทางด้านธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ของงานในครั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของธนาคารฯ ที่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยรวมอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจแฟชั่นเป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนไทยจะมีความคิดสร้างสรรค์ และคุณภาพงานที่ดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าไม่มีแบรนด์ของตนเอง แต่รับจ้างผลิตอย่างเดียวจะต้องปรับตัว เพราะการปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการนั้นธนาคารต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางธุรกิจ จึงต้องมองอนาคตของธุรกิจ เพราะฉะนั้น ถ้ารับจ้างผลิตอย่างเดียวจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตดีพอและสามารถแข่งขันได้ เพราะสิ่งที่เห็นอยู่คือประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเวียดนามกำลังเป็นคู่แข่งในเรื่องนี้ ในขณะที่ การสร้างแบรนด์เท่ากับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า จึงมีโอกาสที่จะแข่งขันได้มากกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|