|
เจาะแก่นรางวัลธรรมาภิบาลสร้างผู้ประกอบการคุณภาพ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ในโลกโลกาภิวัตน์ที่การแข่งขันอย่างรุนแรงและหมุนเร็วอย่างเชี่ยวกรากดังเช่นปัจจุบัน คำถามที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยก็คือ ธุรกิจ SMEs มีความเป็นอยู่อย่างไรในสภาวะที่ว่านี้
คำตอบอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการของไทยจะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้านอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองทางหนึ่ง นอกเหนือจากที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ และธรรมาภิบาล (Good Governance) จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างวัคซีนในการแข่งขันได้ ดังนั้นความยั่งยืนของ SMEs ไทยจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะสร้างฐานของอนาคตประเทศได้
การมอบรางวัล "ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2550" จึงได้เกิดขึ้น และจัดต่อเนื่องมาจนกระทั่งเข้าปีที่ 5 ด้วยความร่วมมือของสามสถาบันหลัก ได้แก่ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมธนาคารไทย เพื่อจัดพิธีมอบรางวัล ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเผยแพร่และยกย่องแบบอย่างของธุรกิจขนาดย่อมที่ยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
ตามหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธที่ว่า กิจกรรมการผลิตที่ดี คือการยึดหลักการไม่เอาเปรียบ คือ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่เอาเปรียบแรงงาน ไม่เอาเปรียบสังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้น และขณะเดียวกันต้องไม่เอาเปรียบตนเองด้วย จึงจะเป็นการประกอบการที่ยั่งยืน แข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับอนาคต
ซึ่งแนวคิดในการพิจารณาดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ของฝั่งตะวันตกที่องค์กรธุรกิจใหญ่น้อยในเมืองไทยกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้
ข้อความตอนหนึ่งจาก ดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่า การจัดประกวดธุรกิจขนาดย่อมที่มีธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้สังคมประจักษ์ว่า ธุรกิจที่มีสินทรัพย์และบุคลากรน้อย ส่วนใหญ่เป็นกิจการครอบครัว ก็สามารถบริหารจัดการอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจขนาดย่อมรายอื่นซึ่งมีอยู่มากได้
หากธุรกิจได้พัฒนาธรรมาภิบาลและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องได้ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจก็คือ ความน่าเชื่อถือ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีให้กับธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค คู่ค้าที่อยากร่วมธุรกิจ พนักงานที่ทุ่มเทให้กับบริษัท และที่สุดแล้วสังคมภาพรวมก็อยากจะสนับสนุนธุรกิจนั้นๆ ตามไปด้วย
ในงานครั้งที่ 5 นี้จึงมีตัวอย่างบริษัทที่ได้รับรางวัลต่างๆ ดังต่อไปนี้ รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ปี 2549 ได้แก่ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด รางวัลธรรมาภิบาลด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภค บริษัทไคเนติคส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และรางวัลด้านการปฏิบัติต่อพนักงานงาน บริษัท บีโปรดักส์อินดัสตรี้ จำกัด
นอกจากรางวัลหลักทั้ง 3 รางวัลแล้ว ภายในงานยังมีการมอบเกียรติคุณบัตรแก่ผู้ประกอบการที่เข้ารอบสุดท้าย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดี เค อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ดับบลิว.โอ.เอ แอ๊ดเวอร์ไท้ซิ่ง จำกัด บริษัท บ้านสวาย โปรดักส์ฟู้ด จำกัด บริษัท สยามอุตสาหกรรมและการผลิต จำกัด บริษัท เอ็น.ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเท็มส์ จำกัด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|