เปิดโมเดลธุรกิจไร้ขีดจำกัด 'Smart Image Happy Shop'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

กฤษณะ เลิศชัยไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น เอช แอล เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของธุรกิจ Smart Image เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้เวลา 7 ปี หรือเริ่มต้นธุรกิจในปี 2543 พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ประยุกต์ภาพถ่ายให้เป็นชิ้นงานตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายรูปแบบ ในการคิดค้นเครื่องในการสร้างงานใน 6 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจพิมพ์ภาพลงบนผ้า 2.ธุรกิจทำตรายางระบบดิจิตอล 3.ธุรกิจทำเหรียญเข็มกลัด 4.ธุรกิจทำบัตรพลาสติก 5.ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพแฟชั่น และ 6.ธุรกิจถ่ายรูปด่วนติดบัตร

ล่าสุดได้พัฒนาธุรกิจด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ "Smart Image Happy Shop" เป็นการนำบริการทั้ง 6 ธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นบริการภายในร้านแฟรนไชส์ดังกล่าว โดยแบ่งระดับการลงทุนออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1. เงินลงทุน 7.9 แสนบาท ขนาดพื้นที่ 28 ตร.ม. 2.เงินลงทุน 9.9 สนบาท ขนาดพื้นที่ 40 ตร.ม. 3. เงินลงทุน 1.4 ล.บาท ขนาดพื้นที่ 55 ตร.ม. 4. เงินลงทุน 1.7 ล.บาท ขนาดพื้นที่ 60 ตร.ม. และ 5.เงินลงทุน 2.5 ล.บาท ขนาดพื้นที่ 100 ตร.ม.

ซึ่งความแตกต่างในแต่ละระดับนั้น คือความสามารถของเครื่องหรือระบบในการสร้างชิ้นงานหรือกำลังการผลิตของเครื่อง

กฤษณะ กล่าวว่า เริ่มแรกบริษัทจะเป็นผู้ผลิตเครื่องและขายเครื่อง เพื่อสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นทั้ง 6 ธุรกิจ แต่เนื่องจากความต้องการของผู้ลงทุนเพื่อสนองต่อผู้บริโภคให้ครบวงจรมากขึ้นจึงเกิดรูปแบบร้านแฟรนไชส์ที่บริการครบวงจรของงานภาพถ่าย

ซึ่งการขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์นั้น เพื่อการขยายสาขาและบริการครอบคลุมพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเข้ามาซัพพอร์ทระบบการส่งขนสินค้า เพราะปัจจุบันมีร้านค้ามีซื้อเครื่องหรือระบบย่อยเป็นรายธุรกิจถึง 2,000 ราย และเป็นตัวแทนจำหน่าย 20 รายเท่านั้น เมื่อเกิดเครือข่ายแฟรนไชส์ขึ้นจะสามารถเข้ามาสนับสนุนหรือสามารถสั่งสินค้าผ่านเครือข่ายร้านแฟรนไชส์ได้

สำหรับการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการสู่การเป็นแฟรนไชส์นั้น บริษัทได้ศึกษาตลาดมานานพอสมควรและการให้บริการของ Smart Image เป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถพัฒนาได้ กฤษณะ เล่าถึงหลักการสร้างธุรกิจอันดับแรกศึกษา Market size ขนาดตลาด พบว่า เป็นขนาดที่ใหญ่มาก เพราะลูกค้ามีตั้งแต่เด็กๆ จนถึงผู้สูงอายุ จนถึงหน่วยงานระดับองค์กรต่างๆ ในจุดนี้สามารถขยายการเติบโตของธุรกิจต่อไปในอนาคตได้

Market growth ธุรกิจมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจนมีการเติบโตกับอุตสาหกรรมหลักคือภาพดิจิตอลที่เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งวัตถุดิบในตลาดหรือภาพดิจิตอลต่อปีมีมากกว่า 4,800 ล้านภาพต่อปี เฉลี่ยการมีภาพดิจิตอลทุกช่วงอายุ 75 ภาพต่อคนต่อปี มูลค่าตลาด 5,000 ล้านบาทต่อปี ส่วน Market chare หรือส่วนแบ่งทางการตลาดนั้น สำหรับ Smart Image Happy Shop จะไม่มีคู่แข่งโดยตรงที่สามารถให้บริการที่ครบวงจรได้และด้วยความแตกต่างคือโนว์ฮาวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะ ด้านจุดแข็งทางธุรกิจคือเป็นผู้ผลิตเครื่อง ผู้สร้างระบบและทำการตลาดเอง

ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ทำการส่งเสริมการตลาดด้วยการจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายภายใต้ Smart EQ Project โดยผู้ส่งใจสามารถส่งภาพเข้าประกวดและสมัครสมาชิกได้ที่ชอปหรือผ่าน www.smartimagehappyshop.com สำหรับกิจกรรมดังกล่าวนี้จะจัดเป็นช่วงระยะเวลา เพื่อสนับสนุนรายได้จากค่าสมัครสมาชิกคนละ 99 บาทเป็นรายได้ให้กับสาขาแฟรนไชส์

กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันความสนใจต่อผู้เข้ามาลงทุนสูงเพราะเป็นธุรกิจที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ไม่สิ้นสุดสามารถหมุนเวียนหรือเข้ามาใช้บริการโดยนำภาพในแต่ละเทศกาลหรือเหตุการณ์สำคัญๆ มาทำเป็นชิ้นงานได้ ด้วย 2 ปัจจัย ความสำเร็จของธุรกิจคือการเติบโตตามอุตสาหกรรมภาพถ่ายดิจิตอลและคอนเซ็ปต์ธุรกิจคือ "เปลี่ยนลอดลาย ขายได้อีก" ส่งผลให้ธุรกิจไม่ใช่ธุรกิจกระแสหรือเป็นธุรกิจที่มีช่วงอายุไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรธุรกิจสามารถเติบโตได้และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องด้วยบริการที่หลากหลายตอบสนองในไลฟ์สไตล์ของคน

ล่าสุด Smart Image Happy Shop มีจำนวน 6 สาขา ได้แก่ บางแสน พัทยา สุรินทร์ พิษณุโลกและรังสิตย่านมหาวิทยารังสิตและมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯและอยู่ระหว่างการดำเนินเปิดให้บริการอีก 10 สาขา โดยตั้งเป้าการเติบโตในปี 2550 ที่จำนวน 100 สาขา มุ่งขยายไปยังหัวเมืองต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย นครราชสีมา ขอนแก่น กาญจนบุรี และตั้งเป้าภายใน 2 ปีที่ 300 สาขา

ส่วนการขยายสาขาชอปไปยังต่างประเทศคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ มัลดัฟส์ ลาวและเวียดนาม ซึ่งการเติบโตของบริษัทนั้นทั้งการขายไลเซ่นส์ระบบและการขยายชอป สำหรับไลเซ่นส์ในต่างประเทศนั้นพื้นที่เป้าหมายคือสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เท็กซัส และเลบานอน

ขณะเดียวกันจะเติบโตด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบด้วยนวัตกรรมจากทีมวิศวกรจากการทำการสำรวจความต้องการตลาด เพื่อสร้างระบบใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของตลาด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.