|
True Radio จิ๊กซอว์ Convergence ของศุภชัย เจียรวนนท์
โดย
ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
และแล้วทรูก็ก้าวไปอีกหนึ่งก้าวกับความพยายามทำคอนเวอร์เจ้นซ์ภายในกลุ่ม
จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ - เคเบิ้ลทีวี - เวปไซต์ - ร้านกาแฟ
ล่าสุดทรูมีรายการวิทยุ "ทั้งคลื่น" เป็นของตัวเองแล้วครับพี่
ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือ บริษัท เวฟ เวิร์คเกอร์ จำกัด เปิดตัวคลื่นวิทยุ ทรูมิวสิค เรดิโอ 93.5 เอฟเอ็ม ชูจุดขาย "อินเตอร์แอคทีฟไลฟ์สไตล์เรดิโอ" สถานีวิทยุแรกในเมืองไทยที่จะเติมเต็มความสนุกในทุกรูปแบบชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ให้คนฟังเต็มอิ่มกับกิจกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ผสมผสานภายในกลุ่มเต็มรูปแบบไม่เหมือนใคร พร้อมเปิดตัวทัพดีเจ มากถึง 60 คน โดยภายในงานมีคนในวงการ ศิลปิน ดารา สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานจำนวนมาก ณ ทรู เออร์เบิน พาร์ค ชั้น3 สยามพารากอน
ในงานมีศิลปินค่ายเลิฟอิส ของพี่บอย โกสิยะพงษ์ (ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของทรู) มาเยอะเป็นพิเศษ
ทรูมิวสิค เรดิโอ 93.5 เอฟ เอ็ม เป็นนิวมีเดียอีกรูปแบบหนึ่งของกลุ่มทรู เพิ่มเติมจากรูปแบบที่มีอยู่
... ทั้งทรูมิวสิค พอร์ทัล
... และ ทรูมิวสิค ทีวี
รวมทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญ ที่จะเปิดให้คอเพลงสามารถเข้าร่วมและเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นแหล่งรวมคอมมิวนิตี้ของคนที่มีไลฟ์สไตล์คอเดียวกัน สามารถพูดคุย ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนสาระบันเทิงข้อมูลข่าวสารที่ต่างให้ความสนใจเหมือนกัน
True Music Radio 93.5 FM บอกว่าตัวเองเป็นสถานีวิทยุคลื่นแรกที่เป็น "อินเตอร์แอคทีฟไลฟ์สไตล์เรดิโอ" ให้ผู้ฟังสนุกกับการฟัง ดู โหวต โหลด แชต ได้ตลอด 24ชั่วโมง ทุกที่ ทุกเวลา
ทางด้าน วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทรูมิวสิค เรดิโอ 93.5 เอฟเอ็ม มืออาชีพที่เป็นที่รู้จักในวงการวิทยุ จะเป็นผู้ดูแลบริหารคลื่น เพื่อสร้างสรรค์รายการและกิจกรรม กล่าวว่า "True Music Radio 93.5 FM รายการวิทยุ 24 ชั่วโมง มีคอนเซ็ปต์ว่าเป็น "The Ultimate Lifestyle & Music" คือเป็นคลื่นฟังเพลงของคนที่มีไลฟ์สไตล์ล้ำสมัย ทั้งโปรแกรม และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยนำเทคโนโลยี และรูปแบบสื่อผสมผสานหลากหลาย มาเชื่อมโยงให้การฟังเพลงจากนี้ไปแตกต่างจากการฟังเพลงตามคลื่นปกติ
ส่วนไฮไลต์ของคลื่นนี้ จะเป็นคลื่นที่มีกิจกรรมสนุกๆ เยอะมาก เช่น ฝากเสียงเพื่อสร้างกำลังใจให้กับกลุ่มเพื่อน ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ สามารถฟังเพลงที่ขอแล้วได้ฟังทันที
นอกจากนี้ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ได้เปิดช่วง "a day alive" ซึ่งจะเป็นช่วงที่ "โหน่ง อะเดย์" จะมาจัดรายการแบบแปลภาษาหนังสือให้กลายเป็นภาษาเพลง และยังมีช่วง "2Talk" ที่คว้า 2 ศิลปินหนุ่ม Rhythm & Boyd คัตโตะ และ แสตมป์ มาเล่าเรื่องราวอัพเดทในแต่ละสัปดาห์ และแต่งเพลงใหม่ให้คนฟังสัปดาห์ละเพลง
นอกจากรายการวิทยุแล้ว ยังได้ผนวกรวมกิจกรรมเข้ามาด้วย โดยงานใหญ่ประจำปีคือการเตรียมจัด The Ultimate Fiesta เทศกาลไลฟ์สไตล์ของชีวิตแนวใหม่ ที่ภายในงานจะเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิงแบบสุดขีด ร่วมสร้างสีสันให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ดนตรี กีฬา แฟชั่น และภาพยนตร์ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.trueworld.net
สนใจอยากพบเพื่อนใหม่ ที่คนฟังเพลงสามารถจะอิ่มสุขอย่างสมบูรณ์แบบกับ True Music Radio 93.5 FM คลื่น "อินเตอร์แอคทีฟไลฟ์สไตล์เรดิโอ" ติดตามได้ตั้งแต่วันนี้ ตลอด 24 ชั่วโมง
จริง ๆ ก่อนที่ทรูจะมีคลื่น FM 93.5 เป็นของตัวเองนั้น ทางแฮปปี้จากดีแทค ก็ได้ร่วมมือกับคลื่น FM ONE 103.5 ทำแฮปปี้สเตชั่นไปแล้ว
"ของเราเหมือนไปห่อคลื่นเขาไว้ แต่ของทรูนี่เท่าที่ดูจะผลิตรายการเองทั้งหมดเลยนะ" ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ดูแลแบรนด์แฮปปี้กล่าวเปรียบเทียบ
ทรูทำวิทยุทำไม?
จะประสบความสำเร็จหรือไม่? อย่างไร?
และจะสร้างปาฏิหาริย์จากการทำคอนเวอร์เจ็นซ์ได้จริงหรือเปล่า?
บทวิเคราะห์
ศุภชัย เจียรวนนท์ ลูกชายธนินท์ เจียรวนนท์ ที่นั่งเป็นซีอีโอ ทรู เป็นคนเชื่อในเรื่อง Convergence เป็นอย่างมาก
อาจจะเป็นเพราะอ่านหนังสือ The World is Flat มากไปหรืออย่างไร ไม่ทราบได้
ทั้งๆ ที่ Media Convergence นั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผลในแง่การโมเดลธุรกิจที่ทำเงิน แต่ในความเท่เชิงวิสัยทัศน์นั้นได้แน่นอน ทว่าการวัดความสามารถของผู้บริหารนั้นวัดที่ผลงาน มิได้วัดที่วิสัยทัศน์ผู้ใดเท่ยิ่งกว่ากัน
ศุภชัย เป็นลูกเถ้าแก่ที่มีหัวก้าวหน้า พ่อรักมาก ถือเป็นลูกชายหัวแหวนของธนินท์ อยากจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องปากกัดตีนถีบเหมือนผู้บริหารหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ทรูทำวิทยุทำไม
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ศุภชัยกำลังทำ Media Convergence ซึ่งจำเป็นต้องมีเดียให้มากที่สุดเพื่อจะได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และหลอมรวมเข้าด้วยกันเพื่อก่อให้เกิดพลังผนึก (Synergy)
วิทยุเป็นสื่อที่ไม่มี Impact เท่าทีวีก็จริง ทว่าพลังของวิทยุไม่อาจดูแคลนได้ เพราะวิทยุเป็นสื่อที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ฟังได้ดีกว่าโทรทัศน์ ซึ่งหากจะทำให้ทีวีเป็น Interactive เหมือนวิทยุก็มีต้นทุนมากกว่าหลายเท่า ดังนั้นวิทยุจึงได้ผลดีกว่าในแง่การประหยัดต้นทุนและตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตามเนื้อหาของทรู เรดิโอ นั้นไม่มีปัจจัยรัดรึงที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายคิดว่า "จำเป็น" ต้องเข้าแต่อย่างไร
การออกแบบ Market Offering นั้น ผู้บริหารต้องคิดว่าหากจะประสบความสำเร็จแล้วไซร้ อะไรคือ Stickiness Factor
ถ้าไม่มีปัจจัยดึงดูดที่ "แรง" มากพอ ก็ยากที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาในสื่อนั้นได้
กลุ่มผู้ฟังวิทยุที่เป็นวัยรุ่นนั้นจะเป็นคนที่จะตกอยู่ในวังวน Convergence ของทรู
คำถามก็คือคนกลุ่มนี้จะให้ผู้ฟังสนุกกับการฟัง ดู โหวต โหลด แชต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ ทุกเวลา หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทรูเรดิโอจะประสบความสำเร็จได้จากให้ผู้ฟังสนุกกับการฟัง ดู โหวต โหลด แชต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ ทุกเวลา จะต้องมี "ของแจก" ที่ดึงดูดเท่านั้น
หากไม่มี ก็ยากที่กวาดต้อนผู้คนให้เข้ามาในทรู เรดิโอได้ เพราะคลื่นวิทยุที่จับตลาดวัยรุ่นนั้นแข่งขันกันอย่างรุนแรง หากทรู เรดิโอ ประสบความสำเร็จจากการให้ผู้ฟังสนุกกับการฟัง ดู โหวต โหลด แชต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ ทุกเวลา
คลื่นอื่นก็จะทำบ้าง
Blue Ocean Radio ก็จะกลายเป็น Red Ocean ไปโดยปริยาย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|