มาดูห์ เมห์ตา ในชุดส่าหรีสีสดใส ขยับนิ้วเรียวยาวจับต่างหูเพชรเม็ดใหญ่ให้เข้าที่เข้าทาง
ขณะที่กำลังทบทวนคืนวันเก่า ๆ ของธุรกิจเครื่องตกแต่งบ้านที่ทำด้วยผ้าไหมของเธอ
ตอนที่เมห์ตาเริ่มต้นธุรกิจนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สังคมเยอรมนียังมีค่านิยมว่า
ธุรกิจเป็นเรื่องของผู้ชาย ส่วนงานของผู้หญิงนั้นอยู่ในครัว จึงออกจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งในชุดส่าหรีออกเร่ขายของด้วยตัวเอง
"ลูกค้าชาวเยอรมันของฉันจำนวนมากมีอาการตะขิดตะขวงใจที่เห็นผู้หญิงผิวสีแต่งกายในชุดประหลาดมาเสนอขายผ้าไหม
ซึ่งปกติพวกเขามักจะซื้อจากชาวเยอรมันที่เดินทางมาเที่ยวแถบเอเชีย"
เมห์ตากล่าวกลั้วเสียงหัวเราะ
มาดูห์ เมห์ตา วัย 53 ปี เป็นเจ้าของบริษัทอินเดีย ซิลค์ ซึ่งผลิตและขายหมอน
เบาะ ผ้าม่าน สำหรับตกแต่งบ้านที่ทำจากผ้าไหมซึ่งนำเข้ามาจากอินเดีย แล้วออกแบบให้เข้ากับรสนิยมของชาวยุโรป
ปีที่แล้วอินเดีย ซิลค์ ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป อเมริกัน และออสเตรเลีย
ทำยอดขายได้สูงถึง 4 ล้านเหรียญ
"คุณจะต้องฝ่าฟันอย่างเต็มที่ ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจเดียวกับดิฉัน เพราะการแข่งขันที่รุนแรงและความไม่แน่นอนของตลาด"
แม้ว่าทางซัพพลายเออร์จากอินเดีย พยายามจะติดต่อกับลูกค้าของเธอเองด้วยการตัดราคาลงมาต่ำกว่า
แต่ก็นับเป็นโชคดีของเมห์ตาเองที่ลูกค้ายังมีความเชื่อใจในบริการและคุณภาพของสินค้าจาก
"อินเดีย ซิลค์" มากกว่าจะฟังคารมของพวกซัพพลายเออร์ "ขณะเดียวกัน
ดิฉันก็ได้เปลี่ยนไปติดต่อซัพพลายเออร์รายใหม่ที่น่าไว้ใจได้แทน
เมห์ตามีความรู้สึกว่า ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงอินเดียของเธอ
"ฉันเคยไล่พนักงานบางคนออกไป พวกเขาเห็นว่าฉันไม่มีความหมายอะไรเลย
เพียงเพราะเชื้อชาติของฉัน" เธอกล่าว นอกจากนั้นยังมีลูกค้าเรื่องมากบางคน
ที่คิดว่าจะทำอย่างไรกับคนเอเซียก็ได้ อย่างเช่น การต่อรองราคาสินค้าทั้ง
ๆ ที่ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว "ซึ่งในบางครั้งฉันก็รู้สึกรำคาญ และระอาใจเกี่ยวกับแรงกดดันพวกนี้
แต่ตอนแรกเมื่อมายืนอยู่ในจุดนี้ ฉันไม่มีทางเลือก ก็ต้องยอม แต่มาระยะหลังนี้ฉันตัดสินใจว่าจะต้องพูดคำว่าไม่บ้าง
ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลก ที่ฉันได้รับคำตอบจากลูกค้าคนนั้น ในอีก 2 อาทิตย์ต่อมาว่าเขาจะซื้อผ้าไหมในราคาที่ตั้งไว้"
ก่อนที่จะมาทำธุรกิจของตัวเองในเยอรมนี เมห์ตาทำงานเป็นดีไซเนอร์ของบริษัทผลิตสินค้าหัตถกรรมแห่งหนึ่งในนิวเดลฮี
ชื่อ คอตเทจ อินดัสตรี้ เอมโพเรี่ยม ปี 1962 เธอได้พบกับมาเรีย เมย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบและให้สีจากสถาบันโพลิเทคนิคแฟชั่นแห่งหนึ่งในฮัมบูร์ก
ซึ่งเดินทางมาอินเดียในตอนนั้น เมห์ตาได้นำผลงานการออกแบบของเธอไปให้มาเรีย
เมย์ดู และปรากฏว่าเป็นที่ประทับใจจนเมย์เป็นธุระจัดหาทุนให้เธอได้ไปเรียนที่สถาบันแห่งนั้น
ระหว่างที่เรียนอยู่ เมห์ตาพบรักกับสถาปนิกเยอรมนีคนหนึ่ง หลังจากเธอเรียนจบ
และกลับอินเดียเมื่อปี 1964 สถาปนิกคนนี้ก็บินตามมา และชักชวนเธอให้กลับไปใช้ชีวิตร่วมกันที่เยอรมนีเป็นผลสำเร็จ
ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เธอกลับมาอินเดียนั้น เมห์ตาได้เรียนรู้แง่มุมทางธุรกิจของงานออกแบบผ้าไหม
ซึ่งเมื่อเธอไปถึงเยอรมนี ก็ได้ใช้วิชาความรู้นี้ก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา
"ฉันรู้ว่าสามารถผสมผสานผ้าไหมอินเดียให้เข้ากับเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ของตะวันตกได้
ในเยอรมนีความต้องการผ้าไหมมีสูงมากหลังจากที่ได้เริ่มติดต่อกับลูกค้าเพียง
2-3 ราย ดิฉันก็ไม่มีเวลาหันไปคิดเรื่องที่ผ่านมาอีกเลย" เมห์ตากล่าว
เพื่อนสนิทและลูกค้าพูดถึงความสำเร็จของเมห์ตาว่า เกิดจากความสามารถในการผสานศิลปะในการทอผ้าแบบอินเดียให้เข้าการออกแบบที่ดีได้
เธอสามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มของผ้าไหมในแต่ละช่วงได้อย่างถูกต้อง เฮลมุตต์
ชมิตช์ เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ในออกซเบอร์ก ซึ่งเป็นลูกค้าของเมห์ตามาเป็นเวลานานถึง
20 ปี ก็ให้ความเห็นว่า "เราเชื่อมั่นว่า เธอมีความเข้าใจแบบแผนและโครงสร้างของสี
และสามารถประยุกต์เข้ากับรสนิยมท้องถิ่นได้อย่างน่าชื่นชม"
เมห์ตาได้คิดค้น และพัฒนาผ้าไหมชนิดที่สีไม่ซีดเมื่อโดนแดด ซึ่งแต่ก่อนนี้จะหาผ้าแบบนี้ได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
นอกจากนั้นเธอยังประสบความสำเร็จในการขยายความกว้างของผืนผ้าไหมที่ทอด้วยมือจากหน้ากว้าง
1.22 เมตรเป็น 1.37 เมตร ซึ่งนวัตกรรมทั้งสองอย่างนี้ เป็นที่นิยมของคนเยอรมนีมาก
เมห์ตาไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินทองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เธอยังอุทิศตัวให้กับการสร้างภาพพจน์ของอินเดียในหมู่ชาวเยอรมนีด้วย
"ฉันพยายามเผยแพร่สิ่งที่ดีงามของคนอินเดียให้คนทั่วไปได้ทราบว่า อินเดียงยังมีของดีอีกมาไม่ใช่มีแต่เพียงความยากจนและสลัม
ประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมานั้น มีมากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของยุโรปแต่อย่างใด"
เมห์ตาซึ่งขณะนี้ได้หย่าขาดจากสามี และใช้ชีวิตอยู่กับลูก 2 คนที่โตแล้ว
กำลังคิดถึงการปลดเกษียณตัวเอง "ฉันจะกลับไปหาความสงบ และปลดเปลื้องความทุกข์ที่อินเดีย
ที่ซึ่งยังคงเสน่ห์ในตัวเองอยู่"