"เบอร์คเลย์ : มุ่งสู่ตะวันออก"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ชาง หลิน เทียน เป็นคนเอเซียคนแรกที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์ ชางกำลังกระชับสายสัมพันธ์ที่ทอดข้ามฝั่งแปซิฟิคมายังเอเซียให้กระชับและแน่นแฟ้นขึ้น เขาหวังว่านักศึกษาจากเอเซียจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่หลากหลาย และสายสัมพันธ์ที่เชื่อมกับเอเซียจะเป็นแหล่งเงินทุนของมหาวิทยาลัยได้

นับตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์เมื่อเดือนกรกฏาคม 1990 ชาง หลิน เทียนก็ได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นอธิการบดีที่ไม่ธรรมดา เทียนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และทำหน้าที่ทางการบริหารมหาวิทยาลัยในระหว่างปี 1959-1988 สัญญาว่าจะไม่ทำตัวเหินห่างนักศึกษา

ในวันลงทะเบียน เทียนใส่เสื้อยืดมาคอยต้อนรับนักศึกษาด้วยตนเอง เขาสั่งให้ติดตั้งวิดิโอเพื่อฉายหนังตลกและการ์ตูนให้นักศึกษาดู เป็นการลดความตึงเครียดและความน่าเบื่อระหว่างที่รอคอยการลงทะเบียน

"เราควรจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้นักศึกษาใหม่รู้สึกสบายใจ" เทียนอธิบาย "สำหรับหลาย ๆ คน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องจากบ้านมาไกล ๆ ผมคิดว่าถ้าเราออกไปช่วยพวกเขา ก็จะช่วยลดความกระวนกระวายใจและความสับสนลงได้มาก"

ในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาและอาจารย์ 32,600 คน การทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เทียน ซึ่งมีเชื้อจีนและเป็นคนเอเซียคนแรกที่ได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นยอดในสหรัฐฯ ก็พยายามทำอย่างต่อเนื่อง เขาจะเดินไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัยอย่างน้อยที่สุดวันละครั้ง เพื่อพูดคุยกับนักศึกษา "เขาเป็นคนสามัญธรรมดาอย่างแท้จริง ไม่ใช่พวกผู้ดี หัวสูง" หยวน ลี ศาสตราจารย์ด้านเคมีเจ้าของรางวัลโนเบล ซึ่งรู้จักเทียนมา 15 ปีกล่าว "เขาทำให้คนอื่นรู้สึกอบอุ่นใจได้ง่าย ๆ ซึ่งทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพไปด้วย"

อ้อมแขนที่เปิดกว้างเพื่อต้อนรับของเทียน ยังยืดยาวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปถึงอีกฟากหนึ่งด้วยนับตั้งแต่ที่เขาขึ้นมาเป็นอธิการบดีเมื่อ 3 ปีก่อนเทียนได้ขยายความสัมพันธ์ด้วนงานวิจัย และโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเบอร์คเลย์กับรัฐบาลรวมทั้งบริษัทธุรกิจในเอเซียอย่างแข็งขัน สายสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ทั้งต่อเบอร์คเลย์ที่กำลังโดนตัดงบประมาณจากรัฐบาล และต่อประเทศเอเซีย ซึ่งสามารถส่งนักศึกษาที่หัวดี ๆ มารับการเจียระไนที่นี่ได้

"โครงการของเทียนสะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชมที่เบอร์คเลย์มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" เป็นความเห็นของอัลเบอร์ต ฟิชโลว์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เป็นคณบดีคณะนานาชาติและภูมิภาคศึกษา

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่มีวิทยาเขตหลาย ๆ แห่ง ซึ่งเรียกกันว่า UC (THE UNIVERSITY OF CALIFORNIA) SYSTEM นั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างชาตินิยมเข้ามาเรียนมากและในบรรดาวิทยาเขตที่มีอยู่ ยูซี เบอร์คเลย์มีชื่อเสียงที่สุด มาตรฐานการศึกษาที่สูง และกลุ่มนักศึกษาจากเอเซียที่มีขนาดใหญ่ ทำให้นักศึกษาเอเซียประมาณ 2,000 คนเลือกเรียนที่เบอร์คเลย์

ในทางวิชาการ เบอร์คเลย์อยู่ในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ดและเยล คณาจารย์ที่มีอยู่ 1,600 คน ส่วนใหญ่จบปริญญาเอก และหลักสูตรการศึกษาก็กว้างไกลกว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยส่วนมาก ผู้ปกครองชาวแคลิฟอร์เนียชอบเบอร์คเลย์ เพราะค่าเล่าเรียนไม่สูงเกินที่จะแบกรับได้ แต่สำหรับนักศึกษาต่างชาติ หรือในระดับปริญญาตรี ค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมรวม 11,668 เหรียญต่อปี เป็นอัตราที่แพงเกินไป

ระบบยูซีเป็นที่นิยมของนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมาก หลักสูตรปริญญาโททางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยาเป็นหลักสูตรที่จัดอยู่ในขั้นดีที่สุดของมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นก็ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคเอกชนอย่างเพียงพอ มีงบประมาณสำหรับการวิจัยปีละ 53 ล้านเหรียญ

"มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ดี แต่สำหรับการวิจัยขั้นสูงในสาขาเฉพาะด้านแล้ว สู้เบอร์คเลย์ไม่ได้" เซียน ลี นักชีววิทยาในแขนงเซลล์โมเลกุลชาวสิงคโปร์กล่าว สิ้นปีนี้เธอจะได้รับปริญญาเอกจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า LAMBDA PHAGE "คุณจะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ที่จะสามารถเข้าร่วมการประชุมสร้างสายสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวกะทิชั้นยอดในสาขานี้ เหมือนที่นี่"

ชาง หลิน เทียน คือความได้เปรียบของเบอร์คเลย์ในการดึงนักศึกษาเอเซียที่หัวดี ๆ มาอยู่ด้วย เขาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบในการรักษาฐานะการเงินของมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่ง พร้อม ๆ กับผดุงความเป็นเลิศในทางวิชาการด้วย

ชางทำหน้าที่เป็นรองอธิการบดี ซึ่งทำหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัยเออร์วิน อันเป็นสาขาหนึ่งของระบบยูซีมาก่อน เขาเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 เรื่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกัมตภาพรังสี ความร้อน และแขนงวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งผ่านความร้อน และเขายังมีประสบการณ์จากของจริงด้วย เมื่อกระสวยอวกาศขององค์การนาซา มีปัญหาเกี่ยวกับผนังป้องกันความร้อน ในปี 1978 นาซาต้องมาขอความช่วยเหลือจากเทียน ปีถัดมาคณะกรรมการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ขอให้เขาช่วยหาทางป้องกันความเสียหายที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทรีไมลส์ ไอส์แลนด์

เทียนเกิดในตระกูลนักการธนาคารที่มั่งคั่งในหวูฮั่น เขาเติบโตที่เซี่ยงไฮ้ในระหว่างสงครามพ่อของเขาเป็นผู้บริหารด้านการคลังของเซี่ยงไฮ้ มีบ้านหลังใหญ่และคนรับใช้ แต่แล้วอภิสิทธิ์ของชีวิตก็สิ้นสุดลงในตอนบ่ายของวันอาทิตย์วันหนึ่งในปี 1949 เมื่อกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ 30 กิโลเมตรเริ่มเคลื่อนพลเข้ายึดตัวเมืองอย่างรวดเร็ว "ผมยังจำความตื่นตระหนกในตอนที่นั่งรถไปสนามบินได้" เทียนเล่าความเสียใจอย่างสุดซึ้งของเขาในเวลานั้นก็คือ เขาไม่ได้เอาแสตมป์ที่สะสมไว้ไปด้วย "ผมรู้สึกไม่ดีเอามาก ๆ ผมต้องสูญเสียแสตมป์ดี ๆ ไปหมด"

ตอนที่หนีมาอยู่ที่ไต้หวัน เทียนอายุ 14 ปี และต้องอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ยากไร้ แต่โชคชะตาของสกุลชางก็พลิกผันในปี 1950 เมื่อพ่อของเทียนได้เป็นเลขาธิการของรัฐบาลพรรคชาตินิยม สองปีให้หลัง โรคหัวใจได้พรากชีวิตพ่อของเขาไป ทำให้ชีวิตของเทียนต้องลำบากอีกครั้ง

เทียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในปี 1956 เขาเดินทางไปสหรัฐฯ โดยมีเงินในกระเป๋า 4,000 เหรียญ เขาสมัครเรียนปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ เคนตัคกี้ วันแรกในมหาวิทยาลัย เขาอยู่ในภาวะ "ช็อค" เทียนเล่าว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เคานเตอร์สำหรับซื้ออาหารกลางวันไปจนถึงห้องน้ำ ติดป้าย 'สำหรับคนผิวสี' หรือ 'เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น' ผมเป็นคนผิวเหลือง จึงไม่รู้ว่าจะสังกัดสีไหน"

กฎซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่พวกแบ่งแยกผิว คนเอเซียถูกจัดเป็นพวกผิวขาว แต่ก็อย่าหวังที่จะได้รับการปฏิบัติต่อเยี่ยงคนผิวขาวจริง ๆ ศาสตราจารย์คนหนึ่งที่เทียนเรียน และทำงานด้วยมักจะเรียกเขาว่า "เจ๊ก" เมื่อเทียนรู้ว่าเป็นคำที่ดูถูกเหยียดหยาม เทียนลุกขึ้นเผชิญหน้ากับศาสตราจารย์คนนั้นทันที

"ผมพูดว่า 'เรียกชื่อผมได้ไหม ผมชื่อ ชาง หลิน เทียน' ศาสตราจารย์คนนั้น เดินรี่เข้ามาหาผมแล้วพูดว่า 'ใครจะไปจำชื่อแปลก ๆ พรรค์นั้นได้ ชิง, ชอง, ทองหรือคองนะ' ผมก็เลยตอบว่า 'ถ้าเรียกชื่อไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาเรียกผมอีก' หลังจากนั้นอีก 9 เดือนเขาก็ยังไม่เรียกผม แต่ก็ไม่เคยเรียกผมว่าเจ๊กอีกเลย"

อคติทางเชื้อชาติเป็นปัญหาหนักของเทียน ที่หนักพอ ๆ กันก็คือ การใช้จ่ายที่ไม่พอ เขามักจะเดินผ่านโรงอาหารของมหาวิทยาลัย ออกไปกินอาหารถูก ๆ ในย่านคนจนของเมืองหลุยส์วิลล์ เมื่อย้ายไปเรียนปริญญาเอกที่พริ้นซ์ตัน เขาเดินหอบเสื้อผ้าไปสองกิโลเมตรไปซักกับเครื่องที่ถูกกว่าในเมือง 40 เซนต์

ความทรงจำเกี่ยวกับความยากจนอาจจะเลือน ๆ ไป แต่เทียนไม่เคยลืมเรื่องการเหยียดผิว เขาตั้งใจแน่วแน่ว่า จะไม่มีนักศึกษาคนไหนต้องเจอปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา และจะขจัดปัญหาการแบ่งแยกผิวด้วยการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาปี 1 จำนวน 45% จากความหลากหลายของเชื้อชาติมากกว่าผลการสอบ

แต่ก็มีข้อโต้แย้งนโยบายแบบนี้ว่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความจริงแล้วก็คือ การกำหนดโควต้าทางเผ่าพันธ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโควต้าอะไรก็ตามมักจะเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายในโลกวิชาการ นักวิจารณ์กล่าวว่า การให้โควตาคนผิวดำและฮิสปานิคมาก ๆ จะขัดขวางพวกเอเซียและแองโกล แซกซอนที่มีคุณภาพ ซึ่งในที่สุดจะทำให้มาตรฐานทางวิชาการตกต่ำ

ความคิดในเรื่องความหลากหลายของเทียนไม่ได้เฉพาะเจาะจงในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการยอมรับพวกเฟมินิสต์ เกย์ และคนที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในความรู้สึกของศิษย์เก่าเบอร์คเลย์บางคน เทียนใช้เวลานับเดือนก่อนที่จะสั่งห้ามนักศึกษาชีเปลือยชายคนหนึ่งเข้าห้องเรียน เขาเรียกฮิปปี้ที่มีปัญหาทางจิตซึ่งถือมีดอีโต้บุกเข้าไปในบ้านของเขาแล้วถูกตำรวจยิงตายว่า "นักปฏิวัติโรแมนติค" และอดกลั้น ยอมให้มีการประท้วงเกิดขึ้น จนทุกวันนี้ ชาวแคลิฟอร์เนียหัวอนุรักษ์นิยมเรียกเบอร์คเลย์ว่า "BERSERKLEY" (BERSERK แปลว่า วิกลจริต บ้าเลือด)

เทียน ซึ่งได้สัญชาติอเมริกันตั้งแต่ปี 1969 ไม่ค่อยอดทนต่อเสียงตำหนิติเตียนเหล่านี้ เขาชี้ว่า ถ้าหากใช้เกณฑ์การรับนักศึกษาโดยมุ่งไปที่วิชาการเพียงด้านเดียว เบอร์คเลย์ก็จะมีนักศึกษาเอเซียและแองโกล แซกซอนถึง 94% เขายืนยันว่า เบอร์คเลย์จะแสวงหาความเป็นเลิศทางการศึกษาได้จากความหลากหลายของนักศึกษาเท่านั้น

เรื่องที่ประชาคมเบอร์คเลย์เห็นพ้องต้องกันมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ บทบาททางการศึกษาของเบอร์คเลย์ในระดับนานาชาติ "เราต้องการเป็นประตูสู่อเมริกาสำหรับประเทศเอเซีย ความหวังของเราคือ การสร้างชุมชนการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี และนักวิชาการจากย่านแปซิฟิคริม" ซี. ดี. โมท จูเนียร์ รองอธิการบดีของเบอร์คเลย์กล่าว

สายใยที่เชื่อมกับเอเซียของเบอร์คเลย์เกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่นแล้ว ห้องสมุดเอเซียตะวันออกของมหาวิทยาลัย มีหนังสือและต้นฉบับมากกว่า 500,000 ชิ้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมงานเขียนในภาษาเอเซียที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกตะวันตก เบอร์คเลย์มีคอร์สภาษาเอเซียหลัก ๆ ทุกภาษา รวมทั้งภาษาท้องถิ่นอย่างเช่น ปัญจาบ แมนจู ธิเบตและทมิฬ

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียได้อาศัยศิษย์เก่าเบอร์คเลย์เป็นกำลังสำคัญ หลังจากโค่นล้มซูการ์โนลงในปี 1967 ดอกเตอร์สองคนจากเบอร์คเลย์ ALI WARDHANA และ WIDJOJO NITISASTRO ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กับประธานของ BAPPENAS ซึ่งเป็นองค์กรวางแผนเศรษฐกิจและงบประมาณที่ทรงอิทธิพล รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งและคมนาคมคือ EMIL SALIM ก็เป็นศิษย์เก่าเบอร์คเลย์ อีกคนหนึ่งคือ J. B. SUMARLIN เป็นผู้ปฏิรูประบบภาษีของอินโดนีเซีย ก่อนที่จะย้ายไปปราบการคอร์รัปชั่นในกระทรวงการคลัง

แม้ว่าแก๊งเบอร์คเลย์ในอินโดนีเซียใกล้ถึงวาระปลดเกษียณแล้ว แต่ก็ยังมีศิษย์เก่าเบอร์คเลย์ที่มีบทบาทสำคัญอีกหลาย ๆ คน เช่น ซาดาโอะ โอกาตะข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ผู้ว่าแบงก์ชาติเกาหลีใต้ CHO SOON รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาไต้หวัน MAO KUO-WEN รองประธานเกาหลีแอร์ไลน์ C. K. CHO และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง LYDIA DUNN

เทียนกำลังพึ่งพาศิษย์เก่าเหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน ซึ่งสืบเนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย 40% ของงบประมาณ 860 ล้านเหรียญต่อปีของเบอร์คเลย์ มาจากเงินภาษีที่รัฐบาลท้องถิ่นเก็บจากประชาชน สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลตัดเงินช่วยเหลือลง 32 ล้านเหรียญ เทียนต้องลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารและขึ้นค่าหน่วยกิต แต่ถ้ารัฐบาลตัดเงินช่วยเหลือต่อไปอีก 15 ล้านเหรียญ เทียนก็อาจจะต้องเลิกหลักสูตรบางอย่างไปอย่างไม่มีทางเลือกซึ่งเขาเตือนว่า ถ้าเลิกไปแล้ว หวังจะฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

เบอร์คเลย์รอดพ้นจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจมาได้จนถึงขณะนี้ก็เพราะบุคลิกภาพ และสายสัมพันธ์ส่วนตัวของเทียน ปี 1990 มูลนิธิตระกูลตั้งแห่งซานฟรานซิสโกบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย 1 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการต้อนรับการเป็นอธิการบดีของเทียน

"การแต่งตั้งเทียนเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าที่คนจีนได้สร้างให้กับประเทศนี้ เราต้องการแสดงการให้ความสนับสนุนของเราด้วย" เลสลี่ ทาง ชิลลิ่ง บุตรีของตั้ง ชิ เฉียน ราชาสิ่งทอของฮ่องกงอธิบาย ปีกลายมูลนิธินี้บริจาคเงินก้อนที่ 2 มูลค่า 4 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัย

ตั้งแต่เป็นอธิการบดี เทียนเดินทางมาเอเซียบ่อยครั้งเพื่อจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า และสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลและบริษัทในเอเซียระหว่างการรับประทานอาหารค่ำกับลี เทง ฮุย เมื่อปี 1990 เทียนได้ชักชวนให้ประธานาธิบดีไต้หวันเพิ่มเงินสนับสนุนของรัฐบาลแก่โครงการเอเซียตะวันออกศึกษาของเบอร์คเลย์ ปีถัดมาลี เซง วี กรรมการโอเวอร์ซี ไชนีส แบงก์กิ้ง ก็แนะให้มูลนิธิลีในสิงคโปร์บริจาคเงินให้อีก 2 ล้านเหรียญ หกเดือนจากนั้น เพื่อน ๆ ของตัน คา คี นักการกุศลชาวสิงคโปร์ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ให้คำมั่นว่าจะรวบรวมเงินจำนวน 8.5 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอาคารวิศวกรรมเคมีหลังใหม่

เงินบริจาคบางส่วนยังได้มาจากศิษย์เก่า MAO-KUO-WIN รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาไต้หวันซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของเทียน ผลักดันให้รัฐบาลไต้หวันมอบเงิน 400,000 เหรียญ สำหรับโครงการสถาบันยุโรปตะวันออกศึกษา ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของเบอร์คเลย์ CHO แห่งโคเรียนแอร์ ยังได้บริจาคเงิน 800,000 เหรียญ ตั้งเป็นทุนการศึกษาในสาขาเกาหลีศึกษา

ภายใต้การนำของเทียน เบอร์คเลย์กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สากล ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทญี่ปุ่น 16 แห่ง โดยมีเงื่อนไขขอมีส่วนร่วมใช้ผลงานการค้นคว้าด้วย ศาสตราจารย์จากเบอร์คเลย์บินไปสอนเศรษฐศาสตร์แก่นักการฑูตหนุ่ม ๆ ของเวียดนามที่ฮานอย โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ 9 ประเทศเอเซียกำลังดำเนินไป เช่นเดียวกับโครงการ PACIFIC ECONOMIC CONFERENCE ซึ่งเป็นการนำนักวิชาการ และผู้นำในวงการธุรกิจจากเอเซียมาร่วมสัมนาที่เบอร์คเลย์ในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่ประเด็นทางการค้า ไปจนถึงโทรคมนาคม

ถึงแม้จะเป็นคนที่ยึดมั่นต่อภาระกิจ แต่ตำแหน่งบนยอดปิรามิดของระบบการศึกษาสหรัฐฯ ที่เทียนยืนอยู่ ก็เป็นที่ที่เปลี่ยวเหงา ครั้งที่เทียน เดินทางกลับไปที่จีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาตื่นแต่เช้าและเดินไปที่โรงเรียน ไว ยู ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมในเขตที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศลเก่า

"ตอนนั้นยังไม่ถึง 7 โมงเช้าดี มีภารโรงแก่ ๆ อยู่ที่นั่นคนเดียว เขาหัวเราะเมื่อผมบอกว่าเคยเรียนหนังสือที่นี่ เราคุยกันจนกระทั่งนักเรียนเริ่มทยอยกันมา" เทียนเล่า

ขณะที่นักเรียนเดินผ่านประตูโรงเรียนเข้ามาความกระตือรือร้นของพวกเขาที่เทียนมองเห็นได้ลบล้างความรู้สึกเจ็บปวด และความตื่นตระหนกเมื่อ 40 ปีที่แล้วทิ้งไป "เด็กพวกนี้คือชนรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นมาในโลกของอิเล็คโทรนิคส์เมลล์และเครื่องโทรสาร โลกของพวกเขาจะเป็นโลกที่ความรู้เป็นสิ่งเปิดกว้าง" เทียนอดไม่ได้ที่จะยิ้ม ระหว่างที่เขาเดินกลับไปที่โรงแรม เพราะเขารู้ในทันทีว่า วิสัยทัศน์ของเขาในเรื่องมหาวิทยาลัยนานาชาติที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่ความฝันอีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.